The Basics

หนังสือชี้ชวน (Prospectus) คืออะไร? ทำไมต้องอ่านทุกครั้งก่อนลงทุน

by
PeerPower Team
September 22, 2023

นังสือชี้ชวน (Prospectus) คืออะไร? ทำไมต้องอ่านทุกครั้งก่อนลงทุน 

ก่อนลงทุนทุกครั้งเรามักจะได้ยินประโยคคลาสสิก “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน” มากำกับท้ายเสมอ

เพื่อป้องกันความเสี่ยงเราจึงควรกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ (อย่าเทไข่ในตระกร้าในเดียวยังเป็นความจริงเสมอ) และศึกษาข้อมูลสินทรัพย์นั้นให้ดีก่อนที่จะกดจอง ซึ่งข้อมูลพวกนี้มักระบุอยู่แล้วในหนังสือชี้ชวน  

บล็อกนี้ของ PeerPower จะชวนคุณเปิดเอกสารทีละหน้า อธิบายว่า “หนังสือชี้ชวน” คืออะไร บอกอะไรได้บ้าง และทำไมคุณถึงควรอ่านหนังสือชี้ชวนอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนจะลงทุน 

TLDR ทางลัดเลือกอ่านแต่ละบท

หนังสือชี้ชวน คืออะไร?

หนังสือชี้ชวนของ PeerPower มีข้อมูลอะไรบ้าง?

10 หัวข้อในหนังสือชี้ชวนของ PeerPower

อ่านทุกครั้งก่อนลงทุน! หนังสือชี้ชวนบอกอะไรมากกว่าที่คิด

หนังสือชี้ชวน คืออะไร

สำนักงาน ก.ล.ต เคยทำเอกสารอธิบายว่า

“หนังสือชี้ชวน คือ เอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการลงทุนจัดทำขึ้น เพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลงทุนที่ได้จัดตั้งขึ้นให้แก่ผู้ลงทุนทราบ หรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน” 

สรุปง่ายที่สุด ก็คือ เป็นเอกสารที่ บลจ. ทำเพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ต้องการจะเสนอขายหุ้น-หุ้นกู้ให้นักลงทุนรู้ เหมือนเอกสารประกาศก่อนว่าบริษัทนี้มีอะไรดี ทำไมน่าลงทุน ก็คือชี้ชวนตามชื่อ แต่ละ บลจ.จะทำหนังสือนี้หน้าตาต่างกัน ดังนั้นหากอาศัยความเคยชินดูผ่าน ๆ เพราะคิดว่าของที่ไหนก็เหมือนกันหมด อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่รัดกุมได้

หนังสือชี้ชวนของ PeerPower มีข้อมูลอะไรบ้าง?

ถึงแม้จะหน้าตาต่างกันแค่ไหน แต่โดยทั่วไปหนังสือชี้ชวนต้องมีข้อมูลหลัก ๆ 2 ส่วน ซึ่งคือ ข้อมูลสำคัญต่อนักลงทุนและข้อมูลด้านการเงิน

กรณีของ PeerPower ซึ่งผู้ให้บริการคราวด์ฟันดิงในรูปแบบหุ้นและหุ้นกู้ที่ได้รับความเห็นชอบสำนักงาน ก.ล.ต. หนังสือชี้ชวนจะครอบคลุมข้อมูลสำคัญแบ่ง 10 ประเด็นสำคัญ

ซึ่งบล็อกนี้เราจะเปิดไปพร้อมกันทีละหน้า พาดูว่าข้อมูลอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง

10 หัวข้อในหนังสือชี้ชวนของ PeerPower

สำหรับนักลงทุนของ PeerPower ก่อนที่หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจะเปิดให้จอง เราจะมีหนังสือชี้ชวนให้นักลงทุนอ่านล่วงหน้า โหลดอ่านง่าย ๆ ในแอปพลิเคชั่น ซึ่งพอเปิดมาหน้าแรก สิ่งที่จะเจอคือ

1. ข้อมูลพื้นฐานของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่เสนอขาย

อยู่ในกรอบสีน้ำเงินบนสุด ระบุชื่อบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ ประเภทอุตสาหกรรม ครั้งที่เสนอขาย และเลขที่หุ้นกู้

2. วันที่สำคัญของตราสาร 

ระบุวันที่เริ่มต้นการเสนอขาย-วันที่สิ้นสุด หรือกรอบระยะเวลาที่หุ้นกู้เปิดจองต่อนักลงทุน 

3. ข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้

สรุปเงื่อนไขและข้อตกลงของหุ้นกู้คราวด์ฟันด์ดิงที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน มีข้อมูลของบริษัท วิธีการชำระ และมาตรการควบคุมของ PeerPower แบ่งเป็น

4. สรุปข้อมูลธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง

ในข้อมูลส่วนนี้เปรียบเสมือน Intro แนะนำบริษัทให้นักลงทุนรู้จักว่า บริษัททำอะไร และแจกแจงรายละเอียดของ Business Model เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพรวมของบริษัท ข้อมูลพวกนี้จะละเอียดกว่าในหน้าแรก แบ่งได้เป็น 5 ข้อย่อย คือ 

ภาพรวมธุรกิจ

อธิบายถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัท เช่น ประวัติความเป็นมา ประสบการณ์จากธุรกิจก่อนหน้า เจาะรายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์-บริการทั้งหมด รวมไปถึงจุดเด่น และชื่อเสียงของบริษัท

วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้

อธิบายเหตุผลในการขอระดมทุน อาจเป็นได้ทั้งการเพิ่มทุนขยายสาขา เพิ่มกระแสเงินสด ลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ 

รายได้และค่าใช้จ่าย

แจกแจงลักษณะรายได้ของบริษัทว่ามีส่วนประกอบมาจากผลิตภัณฑ์-บริการอะไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ ส่วนนี่จะแนบตารางข้อมูล แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ. 30) เพื่อเป็นเอกสารยืนยันข้อมูลข้างต้นด้วยเช่นกัน

การหมุนเวียนเงินสด

ระบุข้อมูลการหมุนเวียนกระแสเงินสดเพื่อให้นักลงทุนคาดการณ์ credit term ที่บริษัทให้กับลูกหนี้การค้าและเจ้าหนี้การค้า

การบริหารงานและทรัพยากรบุคคล

ระบุข้อมูลเช่น จำนวนพนักงาน และชื่อผู้ถือหุ้นหลัก รวมไปถึงประสบการณ์ที่มีจากการบริหารธุรกิจต่าง ๆ

5. ข้อมูลภาระหนี้สินตามรายงานเครดิตบูโร และหุ้นกู้ PeerPower

แสดงประวัติสินเชื่อ หนี้คงค้าง และการชำระหนี้ที่บริษัทเปิดอยู่ตามรายงานเครดิตบูโร (บริษัท ข้อมูลเครดิต จำกัด) รวมถึงประวัติการชำระหนี้กับ PeerPower หากบริษัทเคยออกหุ้นกู้มาแล้วก่อนหน้า 

6. ข้อมูลตัวชี้วัดอื่น ๆ

คือตารางข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท เช่น สัดส่วนเครดิตจากงบการเงิน หนี้สินต่อสินทรัพย์รวม อัตราเติบโตของรายได้ในช่วง 6 เดือนล่าสุด ไปจนถึงข้อมูลการตรวจสอบบัญชีครั้งล่าสุด

กรณีที่เคยออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงก่อนหน้า ก็จะมีข้อมูลมูลค่าคงเหลือของหุ้นกู้นั้นแสดงด้วยเช่นกัน

7. งบการเงินฉบับสอบทาน

แสดงงบการเงินของบริษัทเพื่อให้นักลงทุนพิจารณา แบ่งเป็น 

  1. งบดุล (Balance Sheet) ได้แก่ มูลค่าของสินทรัพย์ที่บริษัทถือครองอยู่ มูลค่าของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ทุนจดทะเบียน (หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ) เป็นเงินทุนที่เจ้าของกิจการลงเงินตั้งต้นเพื่อดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงกำไร-ขาดทุนสะสม ที่เป็นผลลัพธ์จากดำเนินงานในอดีต
  2. งบกำไรขาดทุน (Income Statement) แสดงถึงผลการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ออกงบนั้น ซึ่งจะบอกมูลค่าของรายได้  ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน กำไร-ขาดทุนสุทธิ จากการดำเนินงานของบริษัท เป็นต้น
  3. งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) แสดงกระแสเงินสดที่เกิดจากการดำเนินงาน การลงทุน และกิจกรรมการจัดหาเงิน ทั้งจากต้นปีและปลายปี

8-9. ความเสี่ยงของบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ และปัจจัยความเสี่ยงทั่วไปของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง

อธิบายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการลงทุน อาจแบ่งหลัก ๆ ได้ 2 ประเด็น คือ

ในแง่ของภาคธุรกิจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อาจเกี่ยวข้องกับสภาะวะทางเศรษฐกิจ หรือคู่แข่งการค้า 

ในแง่ของการลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อาจเป็นเรื่องของสภาพคล่องหรือความเสี่ยงด้านการเบี้ยวหนี้ ตรงนี้ขออนุญาตแปะบล็อกเกี่ยวกับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงให้อ่านกันอย่างละเอียดที่นี่

10. ตารางการผ่อนชำระ 

จะนำเสนอข้อมูลการผ่อนชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์คืนแก่นักลงทุน ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องชำระคืนตามงวดเวลาและมูลค่าที่กำหนดตามตาราง ข้อนี้จัดเป็นเงื่อนไขผูกมัดไม่สามารถแก้ไขได้หากคู่สัญญา (ผู้ถือหุ้นกู้) ไม่ยินยอม

สำหรับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง PeerPower มีการกำหนดงวดการชำระหนี้เป็น รายวัน และรายเดือน นักลงทุนสามารถพิจารณาข้อมูลนี้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเองได้เช่นกัน

นอกนั้นจะเป็นข้อมูลอื่น ๆ ของบริษัท  เช่นรูปภาพผู้บริหาร หรือสถานประกอบการเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมใช้ประกอบการตัดสินใจ

หนังสือชี้ชวนมีข้อมูลอะไรบ้าง หนังสือชี้ชวน PeerPower

หนังสือชี้ชวนบอกอะไรมากกว่าที่คิด

Warren Buffet เคยพูดในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire Hathaway ว่า

“งบดุลบอกอะไรมากกว่าที่คิด อ่านทุกครั้งก่อนจะลงทุน เพราะอย่างน้อยที่สุดมูลค่าของบริษัทนั้น ๆ ก็ควรที่จะสัมพันธ์กับงบดุลที่บริษัทมี รายได้อย่างเดียวบอกไม่ได้ทุกอย่าง"

บางครั้งอ่านหนังสือชี้ชวนแล้วเห็นว่ามีกำไร เลยสรุปเอาว่าบริษัททำได้ดีน่าลงทุน สิ่งนี้อาจไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะกำไรที่เกิดขึ้นอาจมาจากการที่บริษัทลดต้นทุนบางส่วนออก เช่น lay over พนักงาน หรือมาตรการรัดเข็มขัดอื่น ๆ ดังนั้นจะพิจารณาแค่อย่างเดียวไม่ได้ ควรดูข้อมูลอื่นประกอบด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

เมื่อความเสี่ยงกับการลงทุนเป็นของคู่กัน การศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเงินลงทุนเป็นของท่านเอง ไม่ควรฟังคนอื่น ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจบนข้อมูลที่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนเอง การตัดสินใจโดยยึดข้อมูลเป็นพื้นฐานจะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนของผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี

หากนักลงทุนท่านใดสนใจที่จะลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสมัครเป็นนักลงทุนของ PeerPower ได้ที่นี่

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร