The Basics

การระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) คืออะไร? สรุปทุกประเด็นสำหรับผู้ประกอบการ

by
PeerPower Team
December 7, 2022

การระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) คืออะไร? สรุปทุกประเด็นสำหรับผู้ประกอบการ

ถ้าการขอยืมเงินก้อนใหญ่จากคนหนึ่งคนเป็นเรื่องยาก ลองเปลี่ยนมายืมจากหลาย ๆ คน คนละนิดคนละหน่อยอาจจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า นี่คือ วิธีคิดของการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) 

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) หมายถึง การระดมทุนจากคนหมู่มาก มาจากการผสมคำภาษาอังกฤษ 2 คำ ซึ่งคือ Crowd (ฝูงชน) + Funding (ระดมทุน) = คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding)

การระดมทุนคราวด์ฟันดิงนั้น อาจทำผ่านตัวกลาง หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ (crowdfunding platform) ที่ช่วยให้ผู้ระดมทุนกับนักลงทุนได้มาเจอกัน ซึ่งทำให้การหาทุนก้อนใหญ่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

บทความนี้เราจะพูดถึง 

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) คือ อะไร?

Crowdfunding คือ การระดมทุนจากคนจำนวนมากเพื่อโครงการหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยเจ้าของโครงการนั้นต้องนำเอาความคิดหรือธุรกิจของตนเองออกมาขอระดมทุนจากนักลงทุนให้ได้จำนวนเงินตามที่ต้องการ ผู้ระดมทุนได้เงิน นักลงทุนได้ผลตอบแทน ทั้งนี้ผลตอบแทนจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ตกลงกัน 

crowdfunding คืออะไร

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) แบ่งได้เป็นกี่ประเภท

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) แบ่งออกเป็น 4 แบบ ดังนี้

  1. Donation Based Crowdfunding ระดมทุนเพื่อการบริจาค
  2. Reward Based Crowdfunding ระดมทุนแลกกับสิ่งของ
  3. Peer to Peer Lending ระดมทุนคราวด์ฟันดิงแบบกู้ยืม 
  4. Investment Crowdfunding  ระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย คือ 

           4.1 Debt Based Crowdfunding หรือ Crowdfunding Bond ระดมทุนคราวด์ฟันดิงประเภทหุ้นกู้ 

            4.2 Equity Based Crowdfunding หรือ Crowdfunding Equity ระดมทุนคราวด์ฟันดิงประเภทหุ้น 

รายละเอียดของการระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) แต่ละประเภท

  • Donation Based Crowdfunding คือ การระดมทุนเพื่อการบริจาค มักเป็นองค์กรการกุศล มูลนิธิต่าง ๆ ที่มีโครงการที่ต้องการทำให้สำเร็จในช่วงเวลาหนึ่ง นำโครงการนั้นมาวางในแพลตฟอร์มเพื่อระดมทุนจากผู้สนใจ คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ลักษณะนี้เป็นการระดมทุนแบบให้เปล่า ไม่มีสิ่งตอบแทนให้กับนักลงทุน
  • Reward Based Crowdfunding คือ การระดมทุนที่ได้สิ่งของเป็นรางวัล เช่น บางองค์กรมีการออกแบบเสื้อยืด ผ้าพันคอ ของที่ระลึกอื่น ๆ ออกมาเป็นรางวัลเพื่อการระดมทุน หรือ ให้พอยท์เพื่อแลกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน การระดมทุนในลักษณะนี้ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่จะได้เป็นสิ่งของ หรือ สิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามที่ผู้ระดมทุนทำออกมาแทน การทำคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ลักษณะนี้ผู้ระดมทุนต้องคำนวณต้นทุนให้ดีเพื่อให้ค่าใช้จ่ายสำหรับรางวัลไม่เกินไปกว่าจำนวนเงินที่ระดมทุน ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมเช่น Kickstarter 
  • Peer to Peer Lending คือ ระดมทุนคราวด์ฟันดิงแบบกู้ยืม คล้ายสินเชื่อส่วนบุคคล โดยที่ผู้ระดมทุนมาขอเงินทุนจากผู้ให้กู้เพื่อนำไปใช้จ่ายส่วนตัวหรือดำเนินธุรกิจ ผู้ให้กู้จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย ปัจจุบันการกู้ยืมแบบ Peer to Peer นั้นอยู่ใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ P2P Lending ได้ที่นี่)
  • Investment Crowdfunding คือ ระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ ผู้ระดมทุนเป็นธุรกิจที่ต้องการเงินทุนมาหมุนเวียนธุรกิจ ขยายกิจการ ฯลฯ จึงมาขอเงินทุนจากนักลงทุนหลาย ๆ คน ผ่านแพลตฟอร์ม (Crowdfunding Platform) เป็นตัวกลางในการกำหนดระยะเวลาชำระคืนและดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ การระดมทุนแบบนี้มักเป็นการระดมทุนออนไลน์โดยมีแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่คล้ายกับตลาดให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) เป็นหน่วยงานดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
ประเภทของการทำคราวด์ฟันดิง

การระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท คือ 

  • Debt Based Crowdfunding (Crowdfunding Bond) คือ การระดมทุนในลักษณะของการหุ้นกู้ โดยธุรกิจที่ต้องการหาเงินทุนจะเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุน  ผู้ระดมทุนจะมีสถานะเป็น "ลูกหนี้" และนักลงทุนจะมีสถานะเป็น "เจ้าหนี้" แลกกับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย โดยผู้ระดมทุนจะชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา 
  • Equity Based Crowdfunding (Crowdfunding Equity) คือ การระดมทุนคราวด์ฟันดิงประเภทหุ้น นึกภาพง่าย ๆ ว่าเจ้าของธุรกิจเอาหุ้นของตัวเองออกมาขายนอกตลาดหุ้น ผู้ที่ให้ทุนจะได้รับหุ้นหรือสิทธิในการเป็นเจ้าของบริษัทนั้น มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลตอบแทนตามจำนวนหุ้น x ผลประกอบการของบริษัท แต่ไม่ได้เงินต้นคืน นอกจากจะเป็น Crowdfunding ที่มีข้อตกลงในการซื้อขายสินทรัพย์ได้ ตัวอย่างบริษัทที่เคยออก Equity Based Crowdfunding กับ PeerPower คือ บริษัท Muvmi ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะด้วยรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า 

เนื่องจากการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิงที่ให้หุ้นหรือหุ้นกู้เป็นสิ่งตอบแทนเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง จึงอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำกับดูแลโดย ก.ล.ต. โดยแพลตฟอร์มที่จะให้บริการคราวด์ฟันดิงได้ต้องได้รับการรับรองเป็น “ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง” (funding portal) ซึ่ง PeerPower เองก็เป็น funding portal ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง และเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรองด้วย

​นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง สามารถอ่านบทความสรุปข้อดีและข้อเปรียบเทียบระหว่างหุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสำหรับนักลงทุนได้ที่นี่ 

ใครได้ประโยชน์จากคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ?

เมื่อเป็นการขอระดมทุน และการลงทุน คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) จึงเกี่ยวข้องกับคน 2 กลุ่ม ซึ่งคือ 

1. ผู้ระดมทุน

จะเห็นได้ว่าการระดมทุนในลักษณะนี้มีกลุ่มผู้ขอระดมทุนที่หลากหลาย การทำคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) จึงอาจแยกย่อยได้ตามวัตถุประสงค์ของการระดมทุน เช่น

ประโยชน์ของการทำคราวด์ฟันดิง
  • ต้องการระดมทุนในลักษณะเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคม

ส่วนมากมักระดมทุนในลักษณะ Donation Based Crowdfunding หรือ Reward Based Crowdfunding ผู้ขอระดมทุนคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ส่วนใหญ่จะเป็นมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการนำเงินไปใช้ในโครงการอะไร เช่น การกุศล ช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยเหลือสุนัขหรือแมว เป็นต้น ทั้งนี้ Reward Based Crowdfunding เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทุนจัดทำของที่ระลึก แต่ต้องคำนวณต้นทุนการผลิตให้ดี มิฉะนั้นอาจเสียต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์ได้ 

  • ต้องการระดมทุนเพื่อธุรกิจ 

การระดมทุนคราวด์ฟันดิงแบบเป็นหลักทรัพย์ ทั้งแบบ Crowdfunding Bond และ Crowdfunding Equity เป็นทางเลือกในการหาเงินทุนสำหรับธุรกิจ ซึ่งตามกฎของ ก.ล.ต. ระบุว่าผู้ที่สามารถระดมทุนแบบนี้ได้จะต้องเป็นบริษัท แต่ไม่ใช่บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจึงเหมาะกับการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง  

ข้อแตกต่างระหว่างการระดมทุนแบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Bond หรือ Debt Based Crowdfunding) กับหุ้นคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Equity) คือ สำหรับ Crowdfunding Bond นั้นเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ผู้ขอระดมทุนกับผู้ให้ทุนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันในแง่กฎหมาย แต่สำหรับแบบ Equity ผู้ขอระดมทุนกับผู้ให้ทุนจะกลายเป็นหุ้นส่วนกันต่อไป จนกว่าจะมีการขายหุ้นนั้นไปให้กับบุคคลอื่น หรือเจ้าของธุรกิจที่นำหุ้นมาระดมทุนตกลงซื้อคืนมาได้ 

2. นักลงทุน

นักลงทุน หรือ ผู้ให้ทุน Crowdfunding ก็มีหลากหลายเช่นกัน แต่อาจสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

ประโยชน์ของการทำคราวด์ฟันดิง
  • ผู้ให้ทุนแบบไม่ต้องการผลตอบแทน

เป็นลักษณะของการบริจาคต่าง ๆ ซึ่งผู้ให้ทุนอาจต้องการร่วมผลักดันวัตถุประสงค์ของโครงการที่เปิดระดมทุนนั้นให้ประสบความสำเร็จ หรือต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม ผู้ให้ทุนในรูปแบบนี้มักต้องการผลตอบแทนทางจิตใจหรือรับของตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ (เสื้อ แก้วกาแฟ ฯลฯ) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น Crowdfunding ที่เล่นกับความรู้สึก จึงพบว่าบ่อยครั้งการให้ทุนในลักษณะนี้กลายเป็นการหลอกลวง ผู้ให้ทุนจึงต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจบริจาค หรือเลือกแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวง 

  • ผู้ให้ทุนแบบต้องการผลตอบแทน

มักเป็นนักลงทุนที่แสวงหาการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ และยอมรับความเสี่ยงได้ เพราะการลงทุนแบบ Crowdfunding  คือการลงทุนในธุรกิจผ่านตัวกลาง (แพลตฟอร์ม) โดยผู้ให้ทุนที่ต้องการลงทุนแบบได้รับผลตอบแทนควรเลือกลงทุนแบบ Crowdfunding Bond ที่มีผลตอบแทนเป็นการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย หรือแบบ Crowdfunding Equity ที่มีผลตอบแทนเป็นหุ้นในธุรกิจที่ลงทุน ซึ่งนักลงทุนที่สนใจลงทุนในรูปแบบนี้ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน นักลงทุนสามารถอ่านผลตอบแทนของการลงทุนแบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ได้จากที่นี่

ข้อดีของคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ?

รู้หรือไม่ว่าผู้ประกอบการกว่า 70% ในไทยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ การระดมทุนแบบ Crowdfunding จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในรูปแบบที่ต่างจากธนาคารและสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการจึงไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์แบบเดิม ๆ และสามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนCrowdfunding ไปต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ 

Crowdfunding นั้นถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างความเท่าเทียมทางการเงิน (Financial Inclusion) และเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) อีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ระดมทุนและนักลงทุนต่างได้พบกัน เปิดโอกาสให้ได้รับเงินทุนก้อนเล็กหลาย ๆ ก้อนจากผู้ให้ทุนหลายคน มารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ในที่สุด

ฝ่ายนักลงทุนเอง หากมองในลักษณะการลงทุน Crowdfunding ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี เพราะแทนที่จะลงเงินก้อนใหญ่ไปที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ก็ได้กระจายการลงทุนในหลาย ๆ ธุรกิจ นอกจากนั้นยังเป็นการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ (private market) ราคาจึงไม่ผันผวนและได้รับผลตอบแทนเป็นเงินสดตามงวดในสัญญาสม่ำเสมอ เป็นการรักษากระแสเงินสดที่ดีแก่นักลงทุนเอง 

อยากระดมทุนผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ต้องทำยังไง?

โดยทั่วไปแล้วธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน และต้องการระดมทุน Crowdfunding เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน เจ้าของธุรกิจจะนำโครงการที่ต้องการระดมทุนมาประเมินคุณสมบัติกับแพลตฟอร์มตัวกลาง (funding portal) เพื่อประเมินความสามารถของธุรกิจในการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง 

ในกรณีของ PeerPower เราจะประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจแล้วเสนอเงื่อนไขการออกหุ้นกู้ เช่น วงเงิน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการไถ่ถอน ที่เจ้าของธุรกิจต้องพิจารณาเพื่อตอบรับข้อเสนอ ก่อนที่ PeerPower จะนำหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงโครงการนั้นมาระดมทุนจากนักลงทุนผ่านระบบของเรา ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจมีโอกาสได้รับเงินทุนง่ายขึ้น ผู้ประกอบการสามารถอ่านกฎเกณฑ์การระดมทุนคราวด์ฟันดิงอย่างละเอียดได้ที่นี่

วิธีระดมทุนคราวด์ฟันดิง crowdfunding

เมื่ออ่านถึงตรงนี้หลายคนคงทราบแล้วว่า การระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding ไม่ว่าจะเป็นกาบริจาค การมอบของขวัญให้ รวมทั้งการกู้ยืมหรือการเป็นเจ้าของร่วมล้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศ Crowdfunding มีความหลากหลายในแง่ผู้ขอระดมทุนและผู้ระดมทุนอยู่มากมาย แต่ในประเทศไทยอาจเพิ่งมาตื่นตัวเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งในการระดมทุนแบบที่ว่ามาย่อมมีเงื่อนไขมากมายที่ต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจที่สนใจระดมทุนแบบ Crowdfunding หรือเป็นนักลงทุนที่สนใจลงทุนกับธุรกิจที่มีศักยภาพในแพลตฟอร์มของ PeerPower ก็สามารถสมัครได้ฟรี

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร