The Basics

DCA คืออะไร? ได้ผลจริงไหม? ลงทุนยังไงให้เวิร์ก?

by
PeerPower Team
April 26, 2024

DCA คืออะไร? ได้ผลจริงไหม? ลงทุนยังไงให้เวิร์ก?

ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนรุนแรง เราจะเห็นคอนเท้นต์เกี่ยวกับ “กลยุทธ์ DCA” กันบ่อยขึ้นในทำนองว่า ทำแบบนี้ดีกับการลงทุนระยะยาวเพราะเป็นการสร้างวินัย ฯลฯ แต่พอจะทำจริง ๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพว่ามันทำงานยังไง  จะเอามาประยุกต์ลงทุนแบบไหนเวิร์ก 

บล็อกนี้ PeerPower เราจะขออธิบายสรุปง่าย ๆ ว่า DCA คืออะไร ลงทุนยังไงที่ไหนให้ได้ผล นอกจากข้อดีแล้วเราจะพูดถึงข้อควรระวังให้ชั่งน้ำหนัก เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนไปปรับใช้วางแผนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ 

TLDR: ทางลัดนักอ่าน

การลงทุนแบบ DCA คืออะไร?

ทดลองลงทุนแบบ DCA กับหุ้นบริษัทผลไม้ชื่อดัง 

การลงทุนแบบ DCA ได้ผลจริงไหม?

การลงทุนแบบ DCA มีข้อเสียอะไรบ้าง ควรระวังอะไรเป็นพิเศษ?

เปรียบเทียบการลงทุน DCA กับการลงทุนแบบ Lump Sum 

การลงทุนแบบ DCA คืออะไร?

DCA (Dollar-Cost Average) คือ วิธีการลงทุนแบบ “ถัวเฉลี่ย” โดยใส่เงินลงทุนจำนวนเท่าเดิมในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่สนว่าราคาจะขึ้น-ลงเท่าไหร่ ในบางช่วงที่สินทรัพย์แพงกว่าปกติเราก็อาจจะซื้อได้น้อยลง หรือถ้าช่วงไหนที่สินทรัพย์ถูกเราก็อาจซื้อได้มากขึ้น

เมื่อลงทุนต่อเนื่องนาน ๆ แล้วเอาราคาที่ลงทุนทั้งหมดกับสินทรัพย์ที่มีมาถัวเฉลี่ยจะเห็นว่าต้นทุนที่ใช้ไปมีแนวโน้มที่จะถูกกว่าราคาประเมินของตลาด ณ ตอนนั้น 

หมายเหตุ funfact สนุก ๆ:  ที่เรียก Dollar เพราะทฤษฎีนี้คิดในอเมริกาโดยนาย Benjamin Graham ไม่เกี่ยวว่าต้องใช้เงินดอลลาร์ลงทุน ถ้าทฤษฎีนี้คิดในไทยคงเป็น Baht-Cost Average

ทดลองลงทุนแบบ DCA กับหุ้นบริษัทผลไม้ชื่อดัง

สมมติตัวอย่างให้ หุ้นบริษัทผลไม้ชื่อดังราคา 100  บาท/หน่วย แล้วนายโทนี่ลงทุน 200 บาทในหุ้นนี้ทุกเดือน แสดงว่าใน 1 เดือน นายโทนี่จะซื้อหุ้นบริษัทนี้ได้ประมาณ 2 หน่วย 

ที่นี้ในความเป็นจริงตลาดผันผวนมาก ๆ  บางเดือนมีข่าว บางเดือนออกโปรดักซ์ใหม่ หุ้นเลยขึ้นเป็น 120-150 บาท เพราะฉะนั้นบางเดือนนายโทนี่อาจจะมีหุ้นบริษัทนี้ประมาณ 1-1.5 หน่วยมากน้อยตามราคา แต่ใน 12 เดือนถ้าเอาราคาที่จ่ายมาถัวเฉลี่ยกับจำนวนหุ้นที่มี นายโทนี่มีแนวโน้มที่จะลงทุนในราคาถูกกว่าตลาด 

ลองดูตารางคำนวณคร่าว ๆ จากสถิติราคาหุ้นบริษัทผลไม้ปี 2023 (สมมติหน่วยเป็นเงินบาท) 

เดือน ราคาหุ้น ยอดลงทุน จำนวนหุ้นที่ซื้อ จำนวนหุ้นสะสม จำนวนเงินลงทุนสะสม
มกราคม 144.29 200 1.386 1.386 200
กุมภาพันธ์ 147.41 200 1.357 2.743 400
มีนาคม 164.90 200 1.214 3.957 600
เมษายน 169.68 200 1.179 5.136 800
พฤษภาคม 177.25 200 1.128 6.264 1000
มิถุนายน 193.97 200 1.031 7.295 1200
กรกฎาคม 196.45 200 1.018 8.313 1400
สิงหาคม 187.87 200 1.063 9.376 1600
กันยายน 171.21 200 1.168 10.544 1800
ตุลาคม 170.77 200 1.171 11.715 2000
พฤศจิกายน 189.95 200 1.053 12.768 2200
ธันวาคม 192.53 200 1.038 13.806 2400

จะเห็นว่าใน 1 ปี นายโทนี่มีหุ้นบริษัทนี้ทั้งหมด 13.806 หน่วยในราคาทั้งสิ้น 2,400 บาท 

เทียบกัน หากนายโทนี่ต้องการจะมีหุ้นทั้งหมด 13.806 หน่วยทีเดียว นายโทนี่ต้องใช้เงินประมาณ 2,661.15 บาท (เอาจำนวนหุ้นที่ต้องการ x ราคา ณ ตอนนั้น) แพงกว่าเกือบสองร้อย

กรณีนี้การลงทุนแบบ DCA ทำให้ต้นทุนถูกกว่าการลงทุนแบบซื้อเหมาทีเดียว aka. Lump Sum ฟังแล้วดูได้ประโยชน์ แต่การลงทุนแบบ DCA  ก็มีจุดอ่อนที่ไม่เวิร์กเหมือนกัน 

DCA มีข้อดีอะไร ได้ผลจริงไหม?

ได้ผลเมื่อลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่ผันผวนขึ้น-ลงและมีแนวโน้มที่จะเติบโต แต่ไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุด

การลงทุนแบบ DCA เหมือนสร้างวินัยบังคับตัวเองให้ทยอยลงทุน ข้อดีคือเราจะอยู่ในวัฎจักรการลงทุนตลอดโดยไม่ต้องมาดูโพยว่าเดือนไหนอะไรจะขึ้น-ลงยังไง เรื่องที่ต้องคิดต่อจะมีแค่ลงทุนอะไรด้วยเงินเท่าไหร่  วิธีนี้สามารถลดความเสี่ยงได้ในแง่ที่เราเลือกกระจาย ทยอยใส่ทยอยซื้อ ไม่ใช่ใส่ทีเดียวล้มทีเดียว 

แต่ไม่ใช่ว่าทำวิธีนี้แล้วจะไม่มีวันขาดทุนเลย ตลาดหุ้นย่อมมีขึ้นลงตามวัฎจักรแต่ตราบเท่าที่เราทยอยลงทุน ในสินทรัพย์ที่มาตรฐานดี มีแนวโน้มเติบโต เช่น กองทุนดัชนี หุ้น Blue chip ฯลฯ การลงทุนแบบ DCA จะทำให้เรามีโอกาสกลับมาทำกำไร 

ซื้อถูกตอนขาลง แล้วขายแพงตอนขาขึ้นเป็นวิธีที่เวิร์กเสมอ 

เพื่อให้กลไก DCA ทำงานอย่างเต็มที่ ควรลงทุนระยะยาวหลักปี ลงทุนสม่ำเสมอ และกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายประเภทควบคู่กัน เผื่อในช่วงไหนสินทรัพย์ที่ลงทุนแบบ DCA ให้ผลตอบแทนต่ำ จะได้มีสินทรัพย์อื่น ๆ มาช่วยประคอง 

การลงทุนแบบ DCA มีข้อเสียอะไรบ้าง ควรระวังอะไรเป็นพิเศษ?

ศักยภาพของสินทรัพย์มีผลต่อการลงทุนแบบ DCA 

เราจะขาดทุนถ้าดันทุรัง DCA ในสินทรัพย์ที่มีช่วงขึ้นสั้น ๆ และลงต่อเนื่อง เช่น พวกหุ้น speculative หรือ NFT (ที่ตอนนี้ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้าง) พวกนี้ถือก็ไม่คุ้มแถมขายก็ยาก 

หรือถ้าสินทรัพย์นั้นราคาขึ้นตลอดแถมผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นเป็น bull market แล้วเรายังลงทุนแบบ DCA เท่าเดิม อันนี้จะทำให้เราพลาดโอกาสทำผลตอบแทนทบต้น เพราะเหมือนไปจำกัดเงินตั้งแต่แรก (อ่านหลักการผลตอบแทนทบต้นที่นี่ คลิก

DCA เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลานานและต้องลงทุนสม่ำเสมอกว่าจะเห็นผล อาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้เวลาลงทุนน้อยควบคู่กันเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด เช่น หุ้นกู้ระยะสั้น คราวด์ฟันดิง ฯลฯ

นอกจากนั้นแล้วการลงทุนแบบ DCA ควรมีกำหนดเวลาชัดเจนเพื่อตรวจสอบผลตอบแทนและประเมินความเติบโตของสินทรัพย์นั้น ๆ  และที่สำคัญคืออย่างลืมกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อลงทุน

DCA คืออะไร? ได้ผลจริงไหม? ลงทุนยังไงให้เวิร์ก? | PeerPower
Infographic: การลงทุน DCA คืออะไร?

เปรียบเทียบการลงทุนแบบ DCA กับการลงทุนแบบ Lump Sum เททีเดียว แบบไหนเวิร์กกว่า ?

เแถมตารางเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนเทรวดเดียวแบบ Lump Sum กับ DCA เปรียบเทียบให้ดูว่าแบบไหนจะได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร

ปี อัตราผลตอบแทนประจำปี (%) การลงทุน DCA (บาท) มูลค่าการลงทุนรวมของ DCA (บาท) การลงทุน Lump Sum (บาท) มูลค่าการลงทุนรวมของ Lump Sum (บาท)
2012 10% 200 210.00 2400 2640.00
2013 10% 200 420.00 - 2904.00
2014 10% 200 630.00 - 3194.40
2015 10% 200 840.00 - 3513.84
2016 10% 200 1050.00 - 3865.22
2017 10% 200 1260.00 - 4249.74
2018 10% 200 1470.00 - 4669.72
2019 10% 200 1680.00 - 5127.69
2020 10% 200 1890.00 - 5626.46
2021 10% 200 2100.00 - 6168.11
2022 10% 200 2310.00 - 6755.92
2023 10% 200 2520.00 - 7393.51
2024 10% 200 2730.00 - 8084.86

จากตารางจะเห็นว่าในกรณีที่สินทรัพย์โตคงที่สม่ำเสมอ การลงทุนแบบ Lump Sum จะทำให้ผลตอบแทนโตทบต้นได้ดีกว่า DCA  ดังนั้นก่อนลงทุนควรพิจารณาผลข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลัง เผื่อจะได้ไม่พลาดผลตอบแทนทบต้น 

อย่าลืมว่าในความเป็นจริงเราไม่สามารถคาดเดาตลาดหรือผลตอบแทนได้ เช่นตลาดหุ้นหรือกองทุนที่แม้จะมี bottomline แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะเป็นอย่างนั้นได้จริง ๆ DCA จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ความผันผวน และอย่าลืมพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลาลงทุนสั้นเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้เพียงพอและกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนได้ลงทะเบียนและผ่านการทำแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร