4 เทรนด์ผู้บริโภคมาแรงที่เราต้องจับตามองในปี 2021
ปี 2021 จะเป็นปีที่เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากราวกับถูกคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงโหมซัดเป็นระลอก คลื่นแต่ละลูกเหล่านี้คือ รายได้ของโลกที่ถูกแบ่งขั้วอย่างชัดเจนขึ้น แรงซื้อของชนชั้นกลางที่อ่อนแรงลง ระบบการเมืองการปกครองและสถาบันการเงินที่ไม่แน่นอน และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่เปลี่ยนโลกไปอย่างไม่อาจหวนคืนศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) ศึกษาและสรุปเทรนด์โลกปี 2021 ที่คนไทยควรรู้ออกมา ในภาพรวม ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่อ ‘คุณค่า’ เหนือ ‘มูลค่า’ โดยแบ่งกลุ่มผู้บริโภคของปี 2021 ได้เป็น 4 เทรนด์ที่ควรจับตามอง ดังนี้
The Compressionalist หมดแรงทั้งกายและใจ แต่ยังต้องการสิ่งที่ดีที่สุด
กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน ทั้งคนรุ่นใหม่และเก่า ต่างก็ใช้ชีวิตประจำวันบนความตึงเครียดและความวุ่นวาย ไม่มีเวลาพักผ่อนจากธุระการงาน คนวัยทำงานก็ต้องเครียดกับการทำงานเพื่อทำ KPI คนวัยรุ่นก็ต้องปวดหัวกับกลวิธีการโพสต์เพื่อเรียกยอดไลค์ จนเกิดเป็นภาวะอาการหมดไฟหรือเบิร์นเอาต์ (Burnout) พวกเขาจึงต้องการอะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เพราะพวกเขาเหนื่อยจากชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยการตัดสินใจ
- Microsoft เผยสถิติว่าในยุคปัจจุบันเราต้องตัดสินใจมากถึง 35,000 ครั้งต่อวัน
- องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้คนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกที่เผชิญปัญหาสภาพจิตใจย่ำแย่อันเกิดมาจากความเครียดและระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องความสนใจของผู้บริโภค
เปลี่ยนเทรนด์ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจธุรกิจต่างๆ ควรรับมือผู้บริโภคกลุ่มนี้ด้วยวิธีการคิดแบบ Less Is More เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความเรียบง่ายเป็นหลัก เราต้องทำให้ทุกอย่าง Make It Easy! หรือทำให้สินค้าและบริการเรียบง่ายเข้าไว้ ยกตัวอย่างเช่นการจัดวางสินค้าภายในร้านหรือเว็บไซต์ให้เรียบง่าย สะดวกตา ไม่ซับซ้อน ต้องจำไว้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ได้ใส่ใจเฉพาะเรื่องสินค้าราคาถูก แต่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การซื้อผลิตภัณฑ์ที่เน้นความเรียบง่ายและตอบโจทย์เป็นหลักครับ
The Market Maker เราไม่ต้องตามตลาด แต่ตลาดต้องตามเรา
กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ง้อบริษัทใหญ่ว่าจะอยู่ในสายตาของธุรกิจไหนหรือไม่ เพราะพวกเขาสามารถสร้างตลาดความต้องการขึ้นมาได้เอง ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะขับเคลื่อนด้วยการสนับสนุนกันเองเนื่องจากไม่มีสินค้าตามความต้องการของพวกเขา จนในที่สุดแบรนด์ที่มองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจจะเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ ตัวอย่างของกลุ่มนี้ก็อย่างเช่นกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการใช้สินค้าแตกต่างจากคนทั่วไป
- องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้บกพร่องทางร่างกายมากถึง 1.3 พันล้านคน เทียบได้เท่ากับขนาดตลาดผู้ซื้อจีน
- แถมยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้ช่วยหรือผู้ดูเเลอยู่ที่ 2.4 พันล้านคน ซึ่งเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัวที่ต้องการสินค้าประเภทนี้เพื่อดูแลคนใกล้ชิด
- ประเทศไทยจะมีกลุ่ม Market Maker อยู่มากเนื่องจากผู้บริโภคเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่ผลิตในประเทศตะวันตกด้วยข้อจำกัดด้านราคา
เปลี่ยนเทรนด์ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจธุรกิจที่ต้องการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ควรเข้าหาด้วยการตอบสนองความต้องการตลาด อย่างเช่นสตาร์บัคส์ที่เปิดสาขาในเมืองคุนิตะชิซึ่งเป็นชุมชนของคนบกพร่องทางการได้ยิน สตาร์บัคส์เลยออกแบบให้สาขานี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินโดยเฉพาะ พร้อมกับจ้างพนักงานที่เป็นผู้พิการทางการได้ยินเพื่อสื่อสารกับลูกค้าที่สาขานี้โดยเฉพาะ
Kindness Keeper ความโปร่งใสและความเสมอภาคสำคัญที่สุด
กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม พวกเขากระจายอยู่ทั้งในกลุ่มคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ คนรวยและคนจน กลุ่มคนเมืองและคนชนบท ปี 2020 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ทำให้คนให้ความสนใจกับประเด็นความโหดร้ายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ Black Lives Matter หรือ #MeToo หรืออย่าง Greta Thunberg ที่กลายเป็นกระแสสังคมไปทั่วโลก
- Lending Tree เผยผลสำรวจว่า 1 ใน 4 ของชาวมิลเลนเนียลและเจนเอ็กซ์คว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม
- อาชญากรรมที่เกิดจากอคติและความเกลียดชังในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพิ่มขึ้นมากกว่า17% ตั้งแต่ปี 2016-2017
เปลี่ยนเทรนด์ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจรูปแบบธุรกิจที่จะคว้าใจคนกลุ่มนี้ได้ต้องหลอมประเด็นทางจริยธรรมเข้ากับการลงทุน และที่สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำจริงไม่ใช่แค่โปรโมตปากเปล่า ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนเชิงบวก (Impact Investing) ที่เป็นแนวการลงทุนเชิงพาณิชย์ที่สามารถคืนผลประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ธุรกิจที่เริ่มหันมาสนใจเทรนด์นี้ก็คือ L’Oréal แบรนด์เครื่องสำอางที่ประกาศยุติการใช้คำประเภท "ขาวกระจ่างใส" (Whitening, Fairness, Lightening) เพื่อรณรงค์ให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติผ่านสีผิว หรืออย่างเช่น Local Alike แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวในไทยที่ต้องการสร้างการท่องเที่ยวที่ส่งรายได้ถึงมือชุมชนไทย
Cyber Cynics ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการปกป้อง
โลกไซเบอร์ก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทั้งโลก จนกระทั่งมีการตั้งคำถามว่าข้อมูลส่วนตัวของเราที่อยู่ในโซเชียลมีเดียปลอดภัยแค่ไหน บริษัทหลายแห่งแอบเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้เพื่อทำการตลาด เราไม่รู้เลยว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เราใช้งานนั้นคอยสอดแนมพฤติกรรมการใช้งานของเราตลอดเวลา ผู้บริโภคกลุ่ม Cyber Cynics คือกลุ่มที่ตระหนักถึงการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว พวกเขาต้องการสินค้าที่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวได้
- IBM ระบุว่า ผู้บริโภคทั่วโลกราว 85% เชื่อว่าบริษัทต่างๆ ทั่วโลกสามารถเลือกที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ได้มากกว่านี้แต่ไม่ทำ และ 75% ไม่เชื่อว่าบริษัทเหล่านั้นจะรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาได้ พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านั้น
- สารคดีเรื่อง The Social Dilemma (2020) เปิดเผยว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไม่มีค่าใช้บริการหลายแห่งคอยสอดแนมเราผ่าน การคลิ้ก การดู แม้กระทั่งแอบฟังเสียงของเราผ่านไมค์โทรศัพท์ เพื่อแปลงพฤติกรรมของเราเป็นข้อมูลในการเลือกยิงโฆษณา
เปลี่ยนเทรนด์ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจธุรกิจที่ต้องการเจาะเทรนด์ผู้บริโภคนี้ ควรให้ความสำคัญด้านจริยธรรมด้านข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใส และต้องมีการเปิดเผยขั้นตอนของธุรกิจอย่างเป็นเหตุเป็นผล ยกตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชันส่งข้อความ Telegram ที่โด่งดังจากการใส่รหัสข้อความที่ผู้ใช้ส่งหากัน การเปิดข้อความโดยมือที่ 3 จึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และแม้กระทั่งผู้ผลิตแอพเองก็ยังไม่สามารถเปิดข้อความของเราอ่านได้เทรนด์เหล่านี้ถือเป็นเทรนด์ผู้บริโภคที่น่าจับตามองในปีนี้ สังเกตได้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แต่ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแค่ไหน เราก็ต้องมองไปข้างหน้าเพื่อหาโอกาสในการเติบโตและประสบความสำเร็จ ในแพลตฟอร์มของ เพียร์ พาวเวอร์ เรามีธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ โดยเราคัดสรรเฉพาะธุรกิจ ที่มีแผนธุรกิจที่เหมาะสม พร้อมปรับตัวเข้ากับยุคปัจจุบัน และมีศักยภาพในการเติบโต โดยสามารถสมัครเป็นนักลงทุนกับเรา หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ที่มา TCDC