The Basics

Search for yield เมื่อนักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด

by
PeerPower Team
March 5, 2020

Search for yield คือการที่นักลงทุนในตลาดเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเฉลี่ย จึงเรียกว่าเป็น “ภาวะการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า” ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากถูกปรับให้ต่ำต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

  • ในภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ นักลงทุนจะเลือกลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าในระยะยาวแล้วย่อมให้ผลตอบแทนสูงกว่า
  • เพื่อหลีกหนีอัตราดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนจะมองหาการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งในปัจจุบันน้ำหนักอยู่ที่สินทรัพย์ทางเลือกที่มีสภาพคล่องสูง มากกว่าสินทรัพย์ดั้งเดิม
  • Search for yield เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกัน เพราะบริษัทประกันหลายแห่งนำเบี้ยประกันที่ได้รับจากลูกค้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ จึงมีโอกาสที่ในอนาคต บริษัทประกันจะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนให้กับลูกค้าได้
  • ภาวะ Search for yield เกี่ยวพันกับอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างมาก การจะแก้ไขสถานการณ์ในตลาดต้องใช้นโยบายการคลัง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกขณะนี้ไม่เอื้อให้ทำแบบนั้นได้ เพราะแทบทุกประเทศมีภาระหนี้สินสูง

Search for yield เมื่อนักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด

เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต้องถูกปรับลดให้ต่ำลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ เพื่อการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการความปลอดภัยใกล้เคียงกับการเงินฝากประจำ เราเรียกสถานการณ์ในลักษณะนี้ว่า ภาวะแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งเกิดขึ้นกับตลาดการเงิน การลงทุนทั่วโลก ในขณะนี้

“ภาวะ Search for Yield” หรือ “ภาวะแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า” คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

สำหรับนักลงทุนแล้ว ผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่าง ๆ คือ แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดในการลงทุน หลักการลงทุนแบบดั้งเดิม คือ ลงทุนให้น้อยที่สุด เพื่อผลตอบแทนที่มากที่สุด และต้องกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท เพื่อให้พอร์ตโฟลิโอมีความปลอดภัยในทุกสภาวะเศรษฐกิจ

โดยสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน คือ อัตราผลตอบแทน หรือดอกเบี้ย ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับนโยบายเศรษฐกิจ การเงินการคลัง เมื่อเศรษฐกิจดี มีเงินในระบบมาก ต้องจูงใจให้คนเกิดการเก็บออม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะถูกปรับให้สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ เศรษฐกิจไม่ดี เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจน้อย การเก็บเงินไว้ในธนาคารจะไม่ส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจึงต้องถูกปรับลดลง เพื่อให้มีเงินเข้ามาในระบบ แต่ทั้งนี้ไม่สามารถคงอัตราดอกเบี้ยให้สูง หรือต่ำเป็นเวลานานได้ เพราะจะทำให้ขาดสมดุล และจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อไป

เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด และให้ผลตอบแทนน้อยที่สุดในตลาดอยู่แล้ว ถูกปรับให้ลดต่ำลงมาก นักลงทุนย่อมมองหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นั่นคือภาวะการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

“ภาวะ Search For Yield” หรือ “ภาวการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะผันผวน มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราที่สูง และในหลายประเทศ หลายทวีป ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย ล้วนแต่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้นักลงทุนต่างมองหาการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า

Search for yield เมื่อนักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด

ภาวะ Search for Yield ส่งผลให้การลงทุนในตราสารหนี้น่าสนใจขึ้น

เมื่ออัตราดอกเบี้ยพื้นฐานถูกปรับลดลงต่ำ นักลงทุนจะมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่แบกรับความเสี่ยงมากขึ้น จนทำให้พอร์ตการลงทุนเสียสมดุล ซึ่งตลาดการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น คือ การลงทุนใน “ตลาดตราสารหนี้” ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้เอกชน เพราะ สินทรัพย์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ทั้งด้านผลตอบแทน และความเสี่ยงที่ไม่ผันผวนตามตลาดอื่น เนื่องจากการลงทุนในลักษณะการเป็นเจ้าหนี้ ที่ต้องได้เงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทน

ตามสถิติแล้วจะพบว่าอัตราผลตอบแทนในหุ้นกู้นั้น แม้จะอยู่ระหว่าง 3% – 8% ต่อปี แต่ก็จะไม่ปรับตัวลดลงจนน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแน่นอน

การเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุนใน ภาวะ Search for Yield

การเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุน คือ หัวใจสำคัญ สำหรับภาวะที่นักลงทุน ต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า  เพราะมีความสัมพันธ์โดยตรง กับอัตราผลตอบแทน ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนในปัจจุบันมีแนวโน้มจะมองหาการลงทุนในลักษณะการเป็นเจ้าหนี้มากขึ้น แม้ว่าช่วงผลตอบแทนของตราสารหนี้อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีเสมอไป แต่เมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผูกกับผลประกอบการของบริษัทโดยตรง ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ย่อมมีความน่าสนใจกว่า เช่นเดียวกับสินทรัพย์ดั้งเดิมอื่น ๆ ก็พบว่าอยู่ในเงื่อนไขเดียวกันทั้งการฝากประจำ หรือกองทุนรวม  

ซึ่งสำหรับสินทรัพย์ทางเลือกแล้ว “อสังหาริมทรัพย์” เป็น หนึ่งในสินทรัพย์ ที่คนมักจะนึกถึงในปัจจุบัน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แบบซื้อขาด ถูกลดความนิยมลงไปมาก ด้วยปริมาณที่ล้นตลาด มูลค่าที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น และสภาพคล่องต่ำ การลงทุนในอสังหาฯ ทั้งในลักษณะ การ Free Hold ( ผู้ซื้อ เป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์นั้น) และการ Lease Hold ( ผู้ซื้อ มีการทำสัญญาการครอบครองสิทธิ์ ในระยะยาว แต่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ ) การลงทุนในอสังหาฯ ทั้ง 2 แบบ  ต่างก็มีแนวโน้มจะลดความต้องการลง

นักลงทุนในปัจจุบันมองหาสินทรัพย์ทางเลือกที่เข้ากับยุคสมัย จึงมองหาผลตอบแทนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่านั้น ในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะเติบโตในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมโครงสร้าง นวัตกรรม พลังงานทางเลือก ธุรกิจที่เป็นโครงสร้างของสังคม ขนส่งมวลชน เป็นต้น

Search for yield เมื่อนักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด

ภาวะ Search for Yield จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง นอกจากจะทำให้ทิศทางการลงทุนมุ่งไปที่ สินทรัพย์ทางเลือก ที่ให้ Fixed Income มากขึ้น โดยจะส่งผลต่อ “นักลงทุนสถาบัน” มากกว่า “นักลงทุนรายบุคคล”

ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจประกันชีวิตอาจหาผลตอบแทนมาจ่ายคืน “ไม่ได้”

ธุรกิจที่นักวิเคราะห์การลงทุนทั้งในไทย และต่างชาติเห็นพ้องกันว่าน่าจะประสบปัญหาในระยะยาว หากยังเกิดภาวที่นักลงทุน ยังต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า คือ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันภัย เพราะบริษัทประกันรายใหญ่หลายแห่ง หาผลตอบแทนให้กับลูกค้าด้วยการนำเบี้ยประกันไปลงทุนในตลาดพันบัตร เมื่ออยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน ๆ นักลงทุนมีโอกาสขายพันธบัตรเหล่านั้นเพื่อ Re-Investment ใหม่ ในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนได้มากกว่า นั่นหมายความว่า บริษัทประกันอาจไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับลูกค้าได้ตามสัญญา ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงเงินบำนาญ และแผนเกษียณของลูกค้าได้

ธนาคาร และสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ระยะยาว

การกู้เงินระยะสั้นมาปล่อยกู้ระยะยาว จะไม่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับธนาคาร และสถาบันการเงินอีกต่อไป เพราะต้องใช้เวลาลงทุนในตลาดพันธบัตรถึง 7 ปี จึงจะได้ผลตอบแทนเท่ากับการปล่อยกู้ในตลาดกู้ยืมระยะสั้นโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (REPO) ในอัตรา 1.5% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อ

เสี่ยงต่อภาวะการกระจุกตัวของการลงทุน

เพราะเมื่อเกิดภาวะดังกล่าว นักลงทุนจะเกิดความกลัวผลตอบแทนต่ำ ทำให้พยายามมองหาการลงทุนที่ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้กองทุน FIF (Foreign Investment Fund) ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยกว่า 60% ของการลงทุนในปัจจุบัน เป็นการลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากเศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำ การลงทุนในส่วนนี้ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เมื่อต้นเหตุเกิดจาก “ภาวะดอกเบี้ยต่ำ” การแก้ไขนั้นจะทำได้อย่างไร

ภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน แก้ไขได้ด้วยวิธีเดียวคือ นโยบายการเงิน การคลัง ซึ่งในขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลก ไม่เอื้อให้ทำได้ เพราะแต่ละประเทศแบกหนี้ครัวเรือนไว้สูงมาก การเพิ่ม หรือ ลดอัตราดอกเบี้ย ทำได้ในวงแคบ ๆ เท่านั้น แม้กระทั่ง การพิมพ์เงินเพิ่มก็ทำได้ไม่มากนัก เพราะจะเป็นการบิดเบือนตลาดการเงิน ซึ่งมีผลกระทบต่อ Yield curve ของตราสารหนี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงอ้อมกับการตั้งราคาสินค้าอุปโภค บริโภคภายในประเทศต่อไป

สำหรับนักลงทุนแล้ว ผลตอบแทนที่สูงกว่าย่อมจูงใจมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันการได้มาซึ่งผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทมีปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทั้งด้านความเสี่ยง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่มีผลต่อค่าครองชีพ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม การที่นักลงทุนเลือกขายสินทรัพย์เดิมทิ้ง เพื่อลงทุนใหม่ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ หรือ การเกิด ภาวะแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า จึงสามารถเห็นได้ในสถานการณ์นี้ โดยการลงทุนมีโอกาสได้รับทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยง ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์เชื่อว่า นักลงทุนจะสามารถตั้งรับกับมันได้ดี

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร