The Basics

หุ้นกู้ ตราสารหนี้ (Bond) คืออะไร? มีอะไรบ้าง อยากลงทุนต้องทำยังไง

by
PeerPower Team
February 3, 2023

หุ้นกู้ ตราสารหนี้ (Bond) คืออะไร? มีอะไรบ้าง อยากลงทุนต้องทำยังไง 

ในสภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนจะลงทุนอะไรทีก็ต้องมาคิดหนักกลัวเงินจมเงินหาย แต่อย่างหนึ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้คุณล้มละลายได้คือการจัดพอร์ตลงทุน กระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

บทความนี้ PeerPower จะพูดถึง ตราสารหนี้ (Bond) ที่มีจุดแข็งอยู่ที่ความมั่นคง ความเสี่ยงน้อย ไม่ผันผวนรุนแรงตามสภาวะตลาด ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป เป็นตัวเลือกกระจายความเสี่ยงที่ดีและมีลักษณะคล้ายกับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงของเรามาก จะมีอะไรบ้าง ตามไปอ่านกันได้เลย 

สารบัญ

ตราสารหนี้ คืออะไร ?

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ มีกี่ประเภท ?

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ ประเมินยังไง แบบไหนน่าลงทุน? 

ตราสารหนี้ หุ้นกู้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าไหร่?

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ ซื้อขายยังไง ?

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ? 

ตราสารหนี้ คืออะไร ?

ตราสารหนี้ คือ สัญญากู้ยืมที่ทำระหว่าง “ผู้ออกตราสาร” และ “ผู้ถือตราสาร” โดยที่

ผู้ออกตราสาร = ลูกหนี้ 

ผู้ถือตราสาร = เจ้าหนี้ 

หน่วยงานที่ออกตราสารจะมีสถานะเป็นลูกหนี้ มาขอกู้เงินจากนักลงทุนผู้ถือตราสารมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญากู้ยืมนี้จะมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน (Maturity) ชัดเจน และเมื่อครบกำหนดเจ้าหนี้จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญา 

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ มีกี่ประเภท ?

ตราสารหนี้สามารถแบ่งออกได้หลายประเภทมาก คือ 

หุ้นกู้ ตราสารหนี้ คืออะไร ประเภทขงตราสารหนี้

1. แบ่งตามประเภทผู้ออกตราสาร 

โดยทั่วไปตราสารหนี้จะออกโดย 2 หน่วยงานหลัก ซึ่งคือ “รัฐบาล” และ “เอกชน”

  1.  ตราสารหนี้รัฐ หรือ พันธบัตร (Goverment Bond) คือตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ  มีแยกย่อยหลายประเภท เช่น พันธบัตรรัฐ พันธบัตรออมทรัพย์ ตั๋วเงินคลัง ฯลฯ 
  2. ตราสารหนี้เอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัท ต้องการเงินไปหมุนเวียนบริหารจัดการต่าง ๆ 

โดยทั่วไปแล้วตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล (พันธบัตรรัฐบาล) จะมีความปลอดภัยในด้านการชำระหนี้สูงกว่าหุ้นกู้เอกชน แต่ก็ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเช่นเดียวกัน 

2. แบ่งตามการจ่ายดอกเบี้ย

ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ย ซึ่งองค์กรผู้ออกตราสารหนี้มักจ่ายให้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้น สามารถแบ่งได้เป็น 

  1. จ่ายดอกเบี้ยประจำ คือ จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดแล้วตามระยะเวลาที่ตกลง เช่น จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอาจเป็น 

               1.1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Bond) คือ ดอกเบี้ยเท่าเดิมตลอดอายุสัญญา ข้อดีคือเงินสม่ำเสมอ ข้อเสียคือดอกเบี้ยจะไม่เพิ่มขึ้น (Interest Rate Risk)

             1.2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Bond) คือ ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นลงในช่วงเวลานั้น ๆ จึงมีช่วงของดอกเบี้ยถูก และดอกเบี้ยแพง 

  1. จ่ายดอกเบี้ยทบต้น คือ จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบอายุสัญญา นักลงทุนจะได้ดอกเบี้ยรวดเดียวพร้อมเงินต้น
  1. ไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero-Coupon Bond) คือ ตราสารที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยแต่ขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างของราคาเต็มที่เพิ่มขึ้นจากวันซื้อ ตัวอย่างเช่น ตราสารหนี้ A ราคาปกติอยู่ที่ 1,000 บาท นักลงทุนซื้อตราสารนี้ แบบ zero - coupon ในราคา 900 บาท เมื่อครบกำหนดอายุ 1 ปี นักลงทุนได้เงิน 1,000 บาท ส่วนต่าง 100 บาทถือเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนได้

3. แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน  

  1. ตราสารหนี้มีหลักประกัน (Secured Bond) องค์กรที่ออกตราสารหนี้จะมีการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันก่อนออกตราสาร กรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันจะถูกนำออกขายใช้หนี้ให้กับผู้ถือตราสาร
  1. ตราสารหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond)  คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้เป็นประกัน กรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย สินทรัพย์ของผู้ออกตราสารจะถูกแบ่งเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิและสัดส่วน

4. แบ่งตามระดับการเรียกร้องสิทธิ

รูปแบบนี้เกิดในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ลูกหนี้จะจ่ายค่าชดใช้ให้ตามลำดับ hierachy ของตราสารที่นักลงทุนถือ ตามหลักแล้วนักลงทุนที่ถือตราสารหนี้มีหลักประกันจะได้รับค่าชดใช้ก่อน แล้วถัดไปจึงเป็น 

  1. ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิจะเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่จะได้รับการชำระหนี้หลังจากบริษัทล้มละลายลง โดยมีสถานะเทียบเท่าเจ้าหนี้สามัญของบริษัทที่ออกตราสารหนี้
  2. ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Junior Bond หรือ Subordinated Bond) ตราสารหนี้ด้อยสิทธิจะเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ที่จะได้รับการชำระหนี้หลังจากบริษัทล้มละลายลง

ตามด้วยนักลงทุนที่ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ อ่านเพิ่มเติมจากสมาคมตราสารหนี้ไทย

5. แบ่งตามสิทธิที่แฝงมากับตราสาร 

ข้อนี้เป็นเงื่อนไขพิเศษที่กำหนดมาพร้อมกับตราสาร แบ่งย่อยเป็น 

  1. สิทธิผู้ออกไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable) คือ ผู้ออกตราสารสามารถจ่ายเงินได้ครบก่อนกำหนดเวลา นักลงทุนอาจเสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่หายไป ผู้ออกตราสารได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยถูกลง
  2. สิทธิผู้ถือไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable) คือ ผู้ถือตราสารให้ผู้ออกตราสารไถ่ถอนก่อนเวลา กรณีมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ถือตราสารเห็นว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มขึ้นสูง
  3. สิทธิการแปลงสภาพ (Convertible) คือ การแปลงสภาพหุ้นกู้เอกชนไปเป็นหุ้นกู้สามัญ โดยจะมีเงื่อนไขด้านต้นทุน และระยะเวลาที่สามารถทำได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน นักลงทุนจะแปลงสภาพตราสารหนี้เป็นหุ้นสามัญเพื่อทำกำไรจากการซื้อขาย (Capital Gain) ซึ่งเมื่อแปลงสภาพแล้วความเสี่ยงของหุ้นย่อมสูงกว่าตราสารหนี้

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ ประเมินยังไง แบบไหนน่าลงทุน?

ถ้าจะอธิบายให้ง่าย ตราสารหนี้เหมือนกับการให้เพื่อนยืมเงิน ดังนั้นมันจึงเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืน ความถี่ในการจ่าย อายุของหนี้ ฯลฯ 

ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเพื่อนคนนี้น่าให้ยืมเงินควรพิจารณาจากอะไร? ระบบการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) จึงมีขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน “ความน่าเชื่อถือ” หน่วยงานที่ออกตราสารหนี้ ซึ่งการประเมินนี้จะส่งผลต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้ 

กรณีของหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนจะจัดอันดับเรียงเกรด A - D จากมีความน่าเชื่อถือมาก - ไปน้อย อาจะแบ่งย่อยเป็น AAA หรือ BBB ได้อีก ซึ่งหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือมากจะให้ผลตอบแทนน้อย ส่วนหุ้นกู้ที่ความน่าเชื่อถือน้อยจะให้ผลตอบแทนมาก ส่วนกรณีของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล (พันธบัตรต่าง ๆ) ตราสารหนี้เหล่านี้จะไม่ถูกประเมิน เพราะออกโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถืออยู่แล้วและมีอำนาจอยู่แล้ว

ปัจจุบันในไทยหน่วยงานที่ประเมินความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้มี 2 ที่ คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) และ บริษัท ฟิทช์เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating Thaland) 

หุ้นกู้ ตราสารหนี้ คืออะไร  การจัดอันดับหุ้นกู้ credit rating

ตราสารหนี้ หุ้นกู้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าไหร่?

โดยเฉลี่ยแล้ว ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่ออกโดยเอกชนจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2-5% ต่อปี ส่วนธนบัตรรัฐบาลจะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.1% ต่อปี อาจมากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจช่วงนั้น 

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ ซื้อขายยังไง ?

ตราสารหนี้ซื้อขายผ่าน 2 ตลาดเหมือนสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่น ๆ เหมือนหุ้นและกองทุนรวม แบ่งเป็น

ตลาดแรก

เป็นการซื้อขายตราสารหนี้ที่ออกครั้งแรก จากผู้ออกตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หรือหุ้นกู้ โดยมีการกำหนดราคาโดยผู้ออกหุ้นกู้ หน่วยลงทุนเริ่มต้นที่ 50,000 บาท สำหรับพันธบัตร และ 100,000 บาท หรือ 100 หน่วย สำหรับหุ้นกู้ โดยซื้อผ่าน บลจ. ที่ธนาคารพาณิชย์ 

หุ้นกู้ ตราสารหนี้ คืออะไร การซื้อขายหุ้นกู้ ตราสารหนี้

ตลาดรอง หรือ ตลาด BEX (Bond Electronics Exchange)

เป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้โดยตรงระหว่างนักลงทุน ที่จะกำหนดราคากันเอง เป็นการซื้อขายนอกตลาด (Over The Counter) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนการซื้อขายดังนี้

  1. เปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์
  2. ซื้อขายผ่านมาร์เกตติ้ง ที่จะแนะนำราคาที่ควรเป็น และดำเนินการซื้อขายให้ภายในระบบ
  3. เมื่อจะขายมาร์เกตติ้งจะให้คำแนะนำด้านราคาที่เหมาะสม และปล่อยราคาขายออกไปในระบบ โดยระบบจะจับคู่ผู้ซื้อให้โดยอัตโนมัติ
  4. เมื่อได้ผู้ซื้อกับผู้ขายแล้วมาร์เกตติ้งจะแจ้งผู้ลงทุนว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้นแล้ว
  5. ผู้ซื้อต้องโอนเงิน ผู้ขายต้องโอนกรรมสิทธิ์ตราสารหนี้ กระบวนการนี้จะใช้ระบบ T+2 คือจัดการภายใน 2 วันทำการ
  6. ระหว่างนี้กรรมสิทธิ์ในตราสารหนี้จะฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) (TDS)
หุ้นกู้ ตราสารหนี้ คืออะไร การซื้อขายตราสารหนี้และหุ้นกู้

ตราสารหนี้และหุ้นกู้ มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ?

แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ แต่ตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อาจแบ่งได้ตามนี้ 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคา (Price Risk) ผลตอบแทนจากการขายที่ต้องการซื้อ
  2. ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) การขายตราสารหนึ่งทิ้งไปเพื่อซื้อตราสารใหม่ ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีกว่าตามที่คิด
  3. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) บริษัทเกิดล้มละลาย หรือ หาเงินมาไถ่ถอนตราสารหนี้ไม่ได้ตามวันเวลาที่กำหนดไว้
  4. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ตราสารหนี้เปลี่ยนผู้ถือหุ้นได้ด้วยการขายในตลาด BEX แต่ไม่ได้ง่ายเท่ากับหุ้น หรือ กองทุนรวม
  5. ความเสี่ยงจากสิทธิแฝงในตราสารหนี้ (Optional Embedded Risk) ทั้งจากผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อน ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อน และจากการแปลงสภาพ
  6. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์โดยภาครัฐ (Legal Risk) เช่น นโยบายการเงินการคลังต่างๆ ที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย
  7. ความเสี่ยงจากการขาดความรู้ของนักลงทุน (Black Box Risk) ปัจจัยส่วนบุคคลที่แก้ไขได้ ด้วยการศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนตัดสินใจลงทุน

การลงทุนในตราสารหนี้ถึงแม้จะความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ อย่างไรก็ตามการลงทุนในตราสารหนี้มักจะเป็นการลงทุนในระยะยาว ผู้ลงทุนต้องไม่กังวลเรื่องสภาพคล่องเพราะจะได้เงินต้นคืนก็ต่อเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน (บางตัวอาจยาวเป็น 10 ปี) นอกจากนั้นอัตราการลงทุนเริ่มต้นต่อหน่วยค่อนข้างสูง 

ด้วยจุดด้อยที่กล่าวในข้างต้น สินทรัพย์อีกประเภทที่นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงได้ ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอเหมือนกันแต่ในระยะเวฃาที่น้อยกว่าคือ หุ้นกู้คราวด์ฟังดิงของ PeerPower โดยผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 11% ต่อปี เราเคยเขียนบล็อกเกี่ยวกับ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงสรุปข้อมูลทุกประเด็นสำหรับนักลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้

‍คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร