มุมมองและแนวทางการรับมือโรคระบาด COVID-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ที่พ่นพิษไปทั่วโลกขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ทำให้เกิดความตื่นตระหนก พร้อมส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกาย และจิตใจของทั้งผู้ประกอบการ ผู้นำองค์กร รวมไปถึงนักลงทุนด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทเพียร์ พาวเวอร์ จึงได้จัดสัมมนาออนไลน์ PeerPower Webinar: Investor Series EP.1 บอกเล่ามุมมองและแนวทางการรับมือโรคระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาขึ้น หวังว่านักลงทุนทุกท่านจะได้แนวทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการลงทุนต่าง ๆ ในช่วงนี้ครับทีมเพียร์ พาวเวอร์ ขอสรุปประเด็นสำคัญ จากสัมมนาออนไลน์ ดังนี้
COVID-19: การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระยะยาวหรือวิกฤตระยะสั้น?
- COVID-19 มีผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวต่าง ๆ ทำให้การใช้ชีวิต รวมถึงการไปมาหาสู่ของทั้งวัตถุและคนนั้นยากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งบางประเภทเช่น การส่งอาหารเดลิเวอรี่เป็นที่นิยมขึ้นมา
- ปัจจัยสำคัญ 4 อย่างที่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันแย่ลง ได้แก่ การใช้จ่ายในประเทศ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของประเทศเรา ส่งผลกระทบกับหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ
- จีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่ก็สามารถกู้สถานการณ์กลับมาได้เป็นประเทศแรก ๆ เหมือนกัน ทางจีนเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้แล้วส่วนหนึ่งมีการเปิดเมืองบางส่วน วัฏจักรการติดต่อของไวรัสโคโรน่าจะขึ้นสูงและลดลงในเวลาถัดมา ซึ่งการแพร่ระบาดในประเทศจีนเองขณะนี้กำลังอยู่ช่วงขาลง ธุรกิจในประเทศจีนเริ่มเปิดทำการปกติแล้วบางส่วน จากข้อมูล China Economic Recovery Index (CERI) ของ WeBank แสดงให้เห็นว่าช่วงที่มีการเปิดประเทศกราฟเริ่มจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าจะสามารถรักษาสถานการณ์ได้ดีขึ้นหรือไม่
- ในส่วนของมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ในบ้านเรา สามารถช่วยเหลือได้ทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจ อย่างไรก็ดี ต้องคอยสังเกตต่อไปว่ามาตรการรัฐที่ออกมานั้นไปถึงมือของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างถูกเวลา หรือถูกวิธีหรือไม่
แนวทางการตอบรับสถานการณ์ COVID-19 ของ PeerPower
“คุณวรพล พรวาณิชย์” ได้กล่าวถึงมาตรการการประเมินเครดิตที่เคร่งครัดขึ้น เข้นข้นขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุม default risk หรือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. การเพิ่มคุณภาพของธุรกิจในแพลตฟอร์ม
ในเชิงคุณภาพของธุรกิจ เรามองหาธุรกิจที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทเล็ก แต่รวมถึงบริษัทขนาดกลางด้วย โดยการคัดสรรธุรกิจต่าง ๆ จะมีการทำ Stress test ทดสอบความสามารถในการหมุนเวียนเงินสดของกิจการมากขึ้น พร้อมดูว่ามีขั้นตอนรองรับในสถานการณ์แบบนี้หรือไม่ รวมไปถึงพิจารณาเรื่องของความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคตด้วย
2. การเฝ้าระวังและตรวจสอบเชิงรุก
การปรับตัวในแง่ของการกำหนดค่าคะแนน Credit Scoring นอกจากจะพิจารณาการหมุนเวียนกระแสเงินสดของธุรกิจที่เข้ามาในแพลตฟอร์มของเรามากขึ้นแล้ว เรายังดูว่าผู้ประกอบการรู้จักธุรกิจของตนเองดีแค่ไหน มีการบริหารจัดการและการวางแผนเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไรบ้างโดยดูจากตัวเลขทางการเงินต่าง ๆ และตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เป็นต้น
3. การเพิ่มความน่าเชื่อถือทางเครดิต
ปรับปรุงเพิ่มความน่าเชื่อถือทางเครดิต โดยกำลังพิจารณาแผนการออกหุ้นกู้มีหลักประกันในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการร่วมมือกับบริษัทประกัน เพื่อมารับประกันความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นหลักของธุรกิจต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น
คำแนะนำแก่นักลงทุนในช่วงวิกฤต COVID-19
นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไรในช่วงนี้
“จากประสบการณ์การลงทุน ท่านที่เคยผ่านวิกฤตทางการเงินน่าจะเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน ซึ่งส่งกระทบต่อ หุ้น หุ้นกู้ และตราสารอื่น ๆ รวมถึงหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงของเพียร์ พาวเวอร์ จากการทำ Data Testing บนแพลตฟอร์มของเพียร์ พาวเวอร์ พบว่าการกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนมากกว่า 20 ตัวจะทำให้ความผันผวนน้อยลงและคงที่มากกว่า โดยนักลงทุนจะต้องเลือกหุ้น และบริหารหลักทรัพย์ให้ดี”
นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไรในช่วงนี้
“ปัจจัย 4 มีความสำคัญมากขึ้นรวมถึงการสื่อสาร การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องการลงทุนด้วยโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพราะจะสามารถรองรับเรื่องแรงงานและวัตถุดิบได้ ถ้ามีการบริหารดีๆ จะถือว่าเป็นโอกาส เนื่องจากรัฐบาลต้องสนับสนุน GDP อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่เป็นโอกาสหรือประโยชน์สำหรับธุรกิจบางประเภท ได้แก่ การผลิตอาหาร ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง และธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจที่นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการเกษตร”
คุณวรพลยังทิ้งท้ายว่า อย่าวิตกกังวล เพราะโลกของเราเป็นวัฎจักรวงจร พอเราเจอจุดเปลี่ยนที่ไม่คาดคิด ก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ถ้ามองในมุมมองวัฐจักร ก็จะมองเห็นโอกาสการลงทุนมากขึ้น รวมถึงของเพียร์ พาวเวอร์ด้วย การจะมองเห็นโอกาส สุขภาพย่อมมาก่อน เพียร์ พาวเวอร์ ขอให้นักลงทุนทุกท่านรักษาสุขภาพให้ดีและเราขอเป็นกำลังใจให้นักลงทุนทุกท่านสามารถฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
#StrongerTogether
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว