The State of Vehicle Retail Market – อุตสาหกรรมค้าปลีกรถยนต์ไทยในยุคดิจิตอล

by
PeerPower Team
July 2, 2021

The State of Vehicle Retail Market

อุตสาหกรรมค้าปลีกยานยนต์ในยุคดิจิตอล

อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยถือได้ว่าเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยการผลิต และส่งออกรถยนต์ของไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และมีมูลค่าถึง 1.09 ล้านล้านบาท นับได้ว่าเป็น 6.4% ของ GDP ซึ่งมีแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 5.5 แสนคน และเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมในประเทศอีกหลายอย่าง กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์มีความสำคัญต่อประเทศอย่างมากจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาตลอด จุดที่ผู้อ่านทุกท่านน่าจะสงสัย คือ อุตสาหกรรมนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด แล้วทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ค้าปลีกที่มีการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางโรคระบาดในยุคดิจิตอลจะเป็นอย่างไร วันนี้ทางเพียร์ พาวเวอร์จะมานำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยพ้นจุดต่ำสุดและคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องได้ 3-4% ต่อปีตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์โควิดในปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยหดตัวลงอย่างมากในช่วงเริ่มต้นของการระบาด แต่เมื่อพิจารณาจากปริมาณการผลิตที่มีการปรับตัวขึ้น จนเริ่มเข้าสู่ระดับปกติในปลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มมีการฟื้นฟู มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องอีก 3-4% ต่อปี ในปีนี้จนถึงอีกสองปีข้างหน้า

ซึ่งทิศทางการเติบโตเป็นบวก มาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่

  • การส่งเสริมจากภาครัฐ และเอกชน เช่น การสนับสนุนในอุตสาหกรรมรถยนต์จากรัฐบาล อย่าง นโยบายภาษีนำเข้าชิ้นส่วน หรือ การลงทุนของบริษัทรถยนต์ข้ามชาติในไทย
  • โมเดลรถรุ่นใหม่ ๆ ที่ชะงักการเปิดตัวมาจากล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดมากขึ้น ซึ่ง’ส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมและรถยนต์ไฟฟ้า
  • เมกะเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตกว่า 25.6% ในช่วงโควิด และเพิ่มสัดส่วนในตลาดรถยนต์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ของอุตสาหกรรมโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้รถ EV สามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมในไทยได้ในระยะยาว

ตลาดรถยนต์มือสองได้รับผลกระทบน้อย และฟื้นตัวเร็วกว่า เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์มือหนึ่ง คาดการณ์ยอดขายในปีนี้โตเฉลี่ย 10% ท่ามกลางโรคระบาด

สถานการณ์โควิดทำให้อุตสาหกรรมกรรมรถยนต์ค้าปลีกหดตัวลง โดยยอดขายรถมือหนึ่งที่ได้รับผลกระทบลดลงถึง 110% แต่ถ้าดูในตลาดรถมือสอง โดยพิจารณายอดขายจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถ กลับพบว่าหดตัวลงเพียง 45% ในปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดมือสองได้รับผลกระทบน้อยกว่า มีดังนี้

  • โรคระบาดทำให้คนใช้รถสาธารณะลดลงกว่าครึ่ง และต้องการใช้รถส่วนตัวมากขึ้นถึง 42%
  • ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ลูกค้ากว่า 52% ซื้อรถในราคาที่ต่ำกว่าแผนเดิม
  • การส่งมอบช้าของรถมือหนึ่ง เพราะปัญหาโรงงานผลิต และการขนส่งล่าช้าจากโรคระบาด ทำให้ลูกค้าที่ต้องการใช้รถส่วนตัวไม่อยากรออีกต่อไป
  • ราคารถมือสองต่ำลงเนื่องจากมีคนขายรถเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น

จากปัจจัยข้างต้น ทำให้เต็นท์รถมือสอง และแพลตฟอร์มขายรถมือสองหลายที่ เผยว่า ยอดขายในครึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มโตเฉลี่ย 5-10% ไปจนถึงปลายปี แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเป็นเวลานาน ตลาดรถมือสองอาจจะต้องเผชิญความท้าทายจากอุปทานที่ล้นตลาด

ตลาดบริการหลังการขายเติบโตขึ้น แต่ปัญหาความล้าสมัยของอู่ซ่อมรถอาจทำให้เข้าไม่ถึงความต้องการของลูกค้าทั้งหมด

จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะบำรุง และรักษารถเดิมแทนที่จะเปลี่ยนคัน มูลค่าตลาดการบำรุงรักษารถของอู่ซ่อมรถยนต์ถูกประมาณไว้ที่มากกว่า 1.2 แสนล้านในปีนี้ อู่ซ่อมรถแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นสัดส่วนหลักในตลาดกลับเข้าไม่ถึงความต้องการของลูกค้าทั้งหมด เพราะแต่ปัญหาความล้าสมัยและขาดประสิทธิภาพ Chain Stores ที่มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนา Customer Experience จึงเริ่มเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า เห็นได้ชัดจากการที่ Chain Stores เหล่านั้นเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในสามปี

ตลาดที่อู่ซ่อมรถอิสระยังไม่เข้าไม่ถึงเหล่านี้เริ่มมีการปิดช่องว่าง ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าไปช่วยอู่ซ่อมรถอิสระในพื้นที่ต่าง ๆ Digital Transformation ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในต่างประเทศและเริ่มมีธุรกิจแบบนี้ในไทย เช่น สตาร์ทอัพเจ้าดัง อย่าง AutoPair ที่เริ่มให้บริการ 29 จังหวัดไทยและเติบโตขึ้นกว่า 385% ต่อปี ความสำเร็จนี้ทำให้เห็นว่าการ Digital Transformation มีผลอย่างยิ่งต่อตลาดบริการหลังการขาย

ความกังวลต่อโรคระบาดเร่งให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเร็วขึ้น Virtual Experience เป็นส่วนสำคัญต่อการขายและบริการหลังการขาย

ในหลายปีที่ผ่านมาคนหันมาใช้ช่องทางซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ไม่เว้นกระทั่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยมีการเติบโตบน E-commerce สูงถึง 103% ในปี 2018 ข้อมูลจากกูเกิลเทรนด์เปิดเผยว่า ลูกค้าส่วนมากมักค้นหารายละเอียดของรถยนต์จากอินเทอร์เน็ตก่อนจะไปดูรถจริง สถานการณ์โควิด ทำให้ลูกค้าเริ่มดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้นโดยไม่ใช่แค่ค้นหารายละเอียดของรถคร่าว ๆ แต่ยังพูดคุยและดำเนินขั้นตอนอื่น ๆ จนจบ แล้วค่อยไปสัมผัสและลองขับรถในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งก็มีถึง 44% ที่ลองขับครั้งเดียวแล้วตัดสินใจซื้อเลย กล่าวได้ว่ากระบวนการตั้งแต่ต้นจนเกือบจบของลูกค้าจะอยู่บนออนไลน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีถึง 29% เลยทีเดียวและมีศักยภาพจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จากการสอบถามเรื่องเหตุผลหลักในเลือกซื้อขายแบบออนไลน์พบว่า 52% ของลูกค้ามองว่าการดำเนินการแบบ Virtual จะช่วยลดการสัมผัสเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาด ส่วนคนที่เหลือคิดว่าทำให้ Transaction เร็วกว่า ใช้ง่ายกว่าและไม่ต้องเดินทางไปหาดีลเลอร์ซึ่งสะดวกกับลูกค้าในพื้นที่ห่างไกลมากกว่า เห็นได้จากสัดส่วนการซื้อผ่านออนไลน์ของลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นกว่าในกรุงเทพถึงเท่าตัวไม่ใช่แค่การซื้อขายออนไลน์ บริการหลังการขายแบบ Virtual Servicing ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยรีเทนลูกค้า พิสูจน์ได้จากลูกค้าเกือบ 90% ที่มองว่า Virtual Serving เป็นสิ่งสำคัญที่น่าสนใจ 48% ในนั้นยังยอมจ่ายเพิ่มในราคาที่สมเหตุสมผลเพื่อ Virtual Servicing แสดงให้เห็นว่า Virtual Experience เป็นส่วนสำคัญต่อการขายและบริการหลังการขาย

อย่าง Carmana แพลตฟอร์ม One Stop Service ของรถมือสอง ก็ได้มีการพัฒนา Virtual Car Inspection เพื่อใช้ช่วยในการตรวจสภาพรถ สอดคล้องกับการที่ลูกค้าต้องการ Social Distancing ในยุคที่โรคระบาดยังไม่สิ้นสุดอยางทุกวันนี้ มูลค่าอุตสาหกรรมค้าปลีกรถยนต์ที่ให้บริการแบบดิจิตอลจึงเติบโตไปพร้อมกับตลาด E-Commerce และมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสัดส่วนหลักในตลาดรถยนต์ค้าปลีกในอนาคต

แม้ตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ในภาพรวมของไทยจะหดตัว แต่ก็ยังมีตลาดรถยนต์ค้าปลีกบางส่วนที่มีแนวโน้มจะเติบโต เช่น ตลาดรถมือสองและตลาดบริการหลังการขายที่โตขึ้น แสดงให้เห็นว่า ความต้องการของลูกค้าไม่ได้หายไป แค่ย้ายที่จากกำลังซื้อของที่ต่ำลงเท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้สถานการณ์โควิดยังเร่งให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนเร็วขึ้นVirtual Experience เป็นส่วนสำคัญต่อการขายและบริการหลังการขาย เทรนด์และการเติบโตของตลาดบางส่วน ทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ค้าปลีกในยุคดิจิตอลน่าจับตามองอย่างยิ่ง ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ หรือธุรกิจใด เราจึงควรให้ความสำคัญ กับภาพรวม และทิศทางในการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งสำหรับธุรกิจที่ระดมทุนอยู่บนแพลตฟอร์มเพียร์ พาวเวอร์นั้น เราได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ในหนังสือชี้ชวน (Prospectus) เพื่อให้ง่ายแก่นักลงทุนบนแพลตฟอร์มในการศึกษา และตัดสินใจลงทุนนั่นเอง

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร