Peer Story

Adapt for Advantage: 4 ธุรกิจรายย่อยที่ปรับตัวรับวิกฤตจนสร้างความได้เปรียบ

by
July 27, 2022

Adapt for Advantage ปรับรับความเปลี่ยนแปลง4 บริษัทไทยที่ปรับตัวรับวิกฤตจนได้เปรียบทางธุรกิจ

แม้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และสารพัดปัญหาเศรษฐกิจหนัก ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ การปิดท่าเรือ สินค้าขาดตลาดและขึ้นราคา หรือค่าเงินผันผวน จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจทั่วโลกเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายธุรกิจที่ปรับตัวจนไม่เพียงสามารถประคับประคองตัวให้อยู่รอดได้ แต่ยังได้ค้นพบโอกาสในใหม่ ๆ และสั่งสมความพร้อมที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อโลกค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะ ‘ปกติ’ อีกครั้งเพียร์ พาวเวอร์ได้จัดเสวนา Adapt for Advantage: Responding to the Changing Business Environment เชิญตัวแทนผู้ประกอบการ 4 เจ้าที่ประสบความสำเร็จในการในการปรับตัวช่วงเศรษฐกิจผกผันมาร่วมแชร์วิธีคิดและปรับทิศทางที่ทำให้ไม่เพียงแต่อยู่รอด แต่ยังพร้อมก้าวต่ออย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม

เปิดตลาดส่งออกท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก – บริษัท เนเชอรัล กรีน ลาเท็กซ์

คุณกัณฑ์กณัฐ แสนสุกวิหิรัญ CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท เนเชอรัล กรีน ลาเท็กซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่เริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2015 และเติบโตปีละ 40-80% มาอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2019 บริษัทมียอดขายหลักพันล้านบาท จึงตัดสินใจสร้างโรงงานใหม่ขนาดยักษ์ขึ้น แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดในปี 2020 ยอดขายของบริษัทหดหายไปกว่าครึ่ง เนื่องจากเดิมฐานลูกค้าของบริษัทเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 80% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เหตุการณ์นี้จึงนับเป็นความผกผันครั้งใหญ่ของบริษัทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

Natural Green Latex ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

ใบรับรองมาตรฐานสากลช่วยเปิดตลาดส่งออก

แต่ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่งหลังประสบปัญหา บริษัท เนเชอรัล กรีน ลาเท็กซ์ ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำกำลังการผลิตของโรงงานไปตอบโจทย์ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ชูจุดเด่นของสินค้ายางพาราออร์แกนิก ย่อยสลายได้ และเป็นวัสดุที่ดีที่สุดสำหรับการทำที่นอน ทั้งยังผ่านการรับรองคุณภาพและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากสถาบันต่าง ๆ ในระดับสากล ไม่ว่าจะของเยอรมันหรือสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทสามารถเปิดตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วกว่าคู่แข่ง และเป็นผู้นำในตลาดสินค้าจากยางพาราในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา คุณกัณฑ์กณัฐเล่าว่าสินค้ายางพาราทั้งหมดในแพลตฟอร์มขายสินค้า JD ของประเทศจีนเป็นของทางบริษัททั้งหมด และมีการเปิดตลาดในอินเดียที่พบว่ามีความต้องการสินค้าเยอะมาก

ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ตีตลาดในประเทศ

พร้อมกันนี้ บริษัทยังเพิ่มฐานลูกค้าด้วยการพัฒนาสินค้าสำหรับตลาดภายในประเทศ เริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Sleeplatex วางขายในห้างร้านสมัยใหม่ (modern trade) และตลาดออนไลน์มากขึ้น มีการออกแบบสินค้าให้สวยงาม และทำการตลาดเพิ่มยอดขายผ่านการไลฟ์ และเนื่องจากบริษัทมีโรงงานเป็นของตัวเองจึงยังรับจ้างผลิตแบบ OEM จนเรียกได้ว่าร้านหมอนและที่นอนยางพาราห้าอันดับแรกบน Shopee และ Lazada ล้วนแล้วแต่ขายสินค้าที่ผลิตมาจากโรงงานของเนเชอรัล กรีน ลาเท็กซ์ทั้งสิ้น

ก้าวต่อไปคือโบนัส

ภายหลังสถานการณ์โควิดยอดขายของบริษัทฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปี 2022 เพิ่มขึ้นมาจากช่วงโควิดหนึ่งเท่าตัว โดยเป็นการเติบโตจากฐานลูกค้าใหม่ทั้งหมด จึงกลับกลายเป็นว่าหากไม่โดนผลกระทบจากโควิด บริษัทก็คงไม่มีแรงจูงใจหรือกำลังการผลิตมากเพียงพอที่จะเปิดตลาดใหม่ ๆ นี้ได้ ส่วนโรงงานใหม่ขนาดใหญ่ที่อาจดูเป็นการตัดสินใจผิดพลาดในตอนนั้น ก็กลับช่วยให้บริษัทมั่นใจว่ามีกำลังผลิตเพียงพอที่จะรองรับทั้งตลาดส่งออก ตลาดภายในประเทศและฐานลูกค้าเดิมที่กำลังจะกลับมาในอีกหนึ่งปีข้างหน้าแม้ทางบริษัทจะประสบปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างจากราคาน้ำยางที่ดีดตัวสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็เกิดโอกาสใหม่ด้วยเช่นกันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งทำให้บริษัทได้กำไรเพิ่มขึ้นจากการส่งออกถึง 10% เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศทั้งหมด ปัจจุบันราคาน้ำยางเริ่มปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 20% ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งและนักท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมา บริษัทจึงมั่นใจว่าได้ปรับตัวจนพร้อมที่จะสร้างความเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ในอนาคตอันใกล้

Natural Green Latex ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

จากพ่อค้าออนไลน์สู่ eCommerce enabler – บริษัท เอ็น สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด

คุณนัฐพล บุญภินนท์ Managing Partner และผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็น สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด เล่าถึงธุรกิจ eCommerce enabler ของบริษัทที่รับวางแผนการตลาด ออกแบบหน้าร้าน จัดการระบบหลังบ้าน ไปจนถึงการทำ fulfillment ที่ช่วยตั้งแต่จัดการสต๊อกไปจนถึงจัดส่งสินค้า ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพธุรกิจบนตลาดออนไลน์ แต่บริษัทมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรจากจุดเริ่มต้นที่เป็นร้านค้าออนไลน์ธรรมดา มียอดขายเดือนแรกเพียง 7 พันบาท ถึงแม้ในปลายปี 2016 บริษัทจะพัฒนาจนเป็นผู้ขายที่ทำยอดจำนวนชิ้นสูงสุดใน Lazada แต่ก็ยังเป็นเพียงธุรกิจค้าขายออนไลน์ทั่วไป

N-Square eCommerce ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

วิกฤตคู่แข่งจีนกลายเป็นแรงผลักดันสู่การเป็น eCommerce enabler

สายลมเริ่มเปลี่ยนทิศเมื่อบริษัท Alibaba เข้าซื้อกิจการ Lazada ทำให้เกิดมีคู่แข่งชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากบนแพลตฟอร์ม คุณนัฐพลจึงเริ่มมองหาช่องทางปรับตัวและกระจายความเสี่ยงโดยหันมาเริ่มขายบริการจัดการออนไลน์แทนที่จะขายสินค้าเท่านั้น ทางบริษัทได้เป็น Lazada partner หนึ่งในสามรายแรกของไทยที่ทำรูปแบบธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ หรือ online distributor เนื่องจากคุณนัฐพลมีพื้นฐานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ จึงเน้นสร้างระบบซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่งซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าขายออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ผนวกกับความเข้าใจตลาดออนไลน์อย่างลึกซึ้งตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การตลาด ระบบหลังบ้าน ระบบ Chat bot ที่ช่วยตอบคำถามลูกค้า ไปจนถึง fulfillment ซึ่งสามารถนำมาช่วยจัดการการขายสินค้าทั้งที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง และของแบรนด์ของบริษัทอื่น ๆ ได้ไปพร้อมกัน และไม่ว่าแบรนด์จะมุ่งขายในแพลตฟอร์มการขายออนไลน์อย่าง Shopee และ Lazada หรือจะขายผ่านสื่อโซเชียล (social commerce) อย่าง Facebook, TikTok, Instagram ทางบริษัทก็มีระบบที่สามารถรองรับได้ทั้งหมด

ลดสต๊อก กระจายความเสี่ยง

โมเดลธุรกิจแบบใหม่นี้หมายความว่าบริษัท เอ็น สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จะเติบโตไปพร้อมตลาด eCommerce เสมอ โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการสต๊อกสินค้าเอง และบริษัทยังมีนโยบายขยายตลาดอย่างระมัดระวังตามคู่ค้าของตนเป็นหลัก ที่ผ่านมาได้มีคู่ค้าต้องการให้ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียหรือเวียดนาม ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างยอดขายรวมได้สูงถึง 3,500 ล้านบาท โดย 1ใน 3 เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศเคล็ดลับอีกประการคือการเตรียมแผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยการหันไปจับสินค้าประเภทจำเป็นมากขึ้น เช่น อาหารและของกินของใช้ประจำวัน ปัจจุบันฐานลูกค้าที่ใช้บริการ eCommerce enabler ของบริษัทนั้นกว้างขวางมาก ครอบคลุมทั้งสินค้า IT ของใช้ภายในบ้านที่เป็นต้นกำเนิดของเอ็น สแควร์ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าแฟชั่น ฯลฯ นอกจากนี้บริษัทยังเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ริเริ่มใช้เส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนมายังไทยด้วยรถไฟความเร็วสูงเพื่อเป็นช่องทางเสริมในกรณีที่เส้นทางขนส่งทางเรือเกิดวิกฤตขึ้นอีก

ตัดลดก่อนเติบโต

การเติบโตจากร้านขนาดเล็กที่มียอดขาย 7 พันบาท สู่การเป็นผู้ให้บริการด้าน eCommerce ครบวงจรนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการปรับตัวอย่างชาญฉลาดและการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัท คุณนัฐพลเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “scale efficiently” กล่าวคือ บริษัทจะต้องปรับลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและไม่จำเป็นออกจากระบบให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะขยายสเกลของธุรกิจออกไปจนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจากการจัดอันดับประเทศที่มีการเติบโตด้าน eCommerce สูงที่สุดในโลกสิบอันดับ ห้าอันดับเป็นประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง เอ็น สแควร์ อีคอมเมิร์ซ ประกอบการอยู่ทั้งสิ้น ดังนั้นโอกาสในอนาคตจึงมีอยู่อย่างมากมาย และในประเทศไทยเองก็คาดว่าตลาดนี้ยังโตได้อีกถึงสามเท่า

ปรับตัวรับทั้งโอกาสและอุปสรรค – บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด (MuvMi)

สำหรับ ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ CEO และ Co-Founder แห่งบริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสาร MuvMi ไม่ว่าธุรกิจจะได้เจอกับปัจจัยเชิงบวกหรือลบก็ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายให้ต้องปรับตัวเสมอ

Urban mobility tech muvmi ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

ครบวงจรทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

MuvMi เป็นแพลตฟอร์มเรียกรถ หรือ ridesharing ให้บริการด้วยรถพลังงานไฟฟ้าหรือ EV ที่เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางของคนในเมือง บริษัทมีผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ คือมีทั้งโปรแกรมที่สามารถจับคู่คนที่จะเดินทางไปในทางเดียวกันให้สามารถแชร์รถโดยสารกันได้ ทำให้ค่าเดินทางถูกลง ส่วนฝ่ายผู้ประกอบการก็มีผู้โดยสารมากขึ้นและได้กำไรสูงขึ้นต่อเที่ยว รวมถึงมีการออกแบบส่วนฮาร์ดแวร์ ซึ่งก็คือรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่นั่งได้ถึงหกคน มีพื้นต่ำขึ้นลงสะดวกและทุกคนสามารถขึ้นลงรถได้โดยไม่ต้องลุกหลบให้กัน ปัจจุบัน MuvMi เปิดให้บริการในกรุงเทพมาแล้วสองปีกว่า มีรถ EV วิ่งอยู่ถึง 200 คัน และให้บริการผู้โดยสารไปแล้วถึง 2 ล้านคน

น้ำขึ้นให้รีบทุ่มแรงตัก

น่าสนใจว่าทางบริษัทมองว่าการคลายล็อคหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายนั้นเป็นความท้าทายไม่แพ้ช่วงปิดเมือง เพราะเมื่อมีผู้โดยสารมากขึ้น ก็เกิดโจทย์ขึ้นว่าบริษัทจะสามารถจับความต้องการนี้ได้ทันหรือไม่ หรือเมื่อค่าน้ำมันพุ่งสูงและกระแส EV มาแรงเข้าทางของบริษัท บริษัทก็ต้องขยับตัวฉวยโอกาสเริ่มทดลองให้บริการรถพลังงานไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากรถตุ๊กตุ๊ก เช่น มีแท็กซี่ EV มาทดลองตลาดเพื่อเปรียบเทียบ รวมถึงมีการสร้างนวัตกรรมสถานีชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปกติต้องมีการเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงมาเป็นกระแสสลับสำหรับการจัดเก็บ แล้วเปลี่ยนเป็นกระแสตรงอีกครั้งในการชาร์จรถ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง โดยบริษัทได้พัฒนาสถานีชาร์จที่สามารถชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์ตรงเข้ารถ โดยมีสมองกลในรถคอยควบคุมกระแสไฟ เทคโนโลยีที่ว่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการจดทะเบียนลิขสิทธิ์

โอกาสพัฒนา “คน”

แน่นอนว่าอุปสรรคเช่น เงินเฟ้อ ต้นทุนสูง ชิปเซ็ตเดิมขาดตลาด ประเทศจีนปิดท่าเรือ ฯลฯ ได้ส่งผลกระทบทำให้สายพานการผลิตรถยนต์ของบริษัทสะดุดลง แต่เมื่อมองเป็นโอกาสก็ทำให้ทีมวิศวกรได้ “สนุก” ด้วยการทำสิ่งที่ไม่เคยทำอย่างการออกแบบชิปเซ็ตด้วยตัวเอง นอกจากนี้บริษัทได้หาทางเปิดพื้นที่ให้บริการใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการวิ่งรถในพื้นที่เดิมให้ถึงจุดคุ้มทุนให้ได้เร็วที่สุด จึงกลายเป็นว่าโควิดได้ทำให้ทีมแข็งแกร่งมากขึ้น และบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนและให้ความสำคัญกับทีมงานเพิ่มขึ้น มีการฝึกอบรมพนักงาน จัดงานสานสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน รวมไปถึงการทำเทรนนิ่งอคาเดมี่ให้กับคนที่มาขับสามล้อ ภาพรวมหลังโควิคจึงกลายเป็นภาพของการขยับขยายอันเป็นผลจากการปรับตัวทั้งสิ้น

Urban Mobiltiy Tech Muvmi ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

ถ้านักท่องเที่ยวไม่มา ก็ส่งสินค้าออกไปหาเขาแทน - บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด

ธุรกิจสุดท้ายที่ได้มาแบ่งปันประสบการณ์กับชาวเพียร์ พาวเวอร์ คือบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวเกือบทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดชนิดรายได้กลายเป็นศูนย์ พวกเขาประคองตัวรอดมาได้อย่างไร คุณสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งโลเคิล อไลค์จะมาเล่าให้เราฟัง

Local Alike ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

โลเคิล อไลค์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) โดยบริษัทจะทำงานกับชุมชนเพื่อช่วยดึงโอกาสการท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนต่าง ๆ ในลักษณะที่สร้างคุณภาพชีวิตในชุมชนให้ดีขึ้น บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 และสิบปีที่ผ่านมานี้ก็ได้ทำงานร่วมกับสองร้อยชุมชนทั่วประเทศในหกสิบจังหวัด มีรายได้จากการจัดทำแพ็กเกจทัวร์โดยเจาะตลาดองค์กรต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ทริปสานสัมพันธ์ภายในบริษัท และมีแพ็กเกจทัวร์ให้เลือกกว่า 600 แบบด้วยกัน

ประสบการณ์ท้องถิ่นส่งตรงถึงบ้าน

แน่นอนว่าธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ในช่วงโควิด เรียกได้ว่ารายได้กลายเป็นศูนย์ พวกเขาปรับตัวโดยระดมสมองร่วมกับคนในชุมชนว่า เมื่อนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา เราจะมีทรัพยากรอะไรในชุมชนนำออกไปขายแทนได้บ้าง กระบวนการคิดร่วมกันนี้ได้พัฒนาไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์อาหารจากชุมชนภายใต้ชื่อ “Local Aroi” (โลเคิล อร่อย) ที่ดึงจุดเด่นของอาหารแต่ละชุมชนออกมา เพราะทุกชุมชนล้วนมีอาหารท้องถิ่นที่พวกเขาภาคภูมิใจ เช่น ชาดอกกุหลาบ ปลาลูกเบร่ (คล้ายปลาซิว เป็นของดังจังหวัดพัทลุง) ฯลฯ เรียกได้ว่าสินค้าเหล่านี้ได้ช่วยหล่อเลี้ยงบริษัทและพนักงานให้อยู่ได้ในขณะที่บริษัทท่องเที่ยวอื่น ๆ ต้องล้มหายตายจากไป อีกทั้งยังมีสินค้ากลุ่ม “Local Alot” ซึ่งพัฒนาสินค้างานฝีมือของแต่ละชุมชนให้ทันสมัยขึ้น เช่น ผ้าไหม ผ้าชาวเขา กระเป๋ากะจูด จนมีสินค้าวางขายถึง 500-600 ชนิด และยังมีการขยับขยายธุรกิจไปให้บริการเป็นที่ปรึกษาของโครงการภาครัฐอีกด้วยการปรับตัวในที่นี้มาจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในบริษัทหรือคนในชุมชน ทุกคนต่างก็ต้องร่วมปรับตัว Reskill ตัวเองกับโมเดลธุรกิจใหม่ และในอนาคตเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา ซึ่งคุณสมศักดิ์มั่นใจว่าย่อมต้องกลับมาอย่างแน่นอน บริษัท โลเคิล อไลค์ ก็มีศักยภาพพร้อมที่จะเติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งร่วมไปกับชุมชนที่เป็นพาร์ตเนอร์ที่แท้จริงของพวกเขา เป็นการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

Local Alike ในงานเพียร์ พาวเวอร์ ปรับตัวอย่างไรให้ได้เปรียบทางธุรกิจ adapt for advantage

สรุป - ปรับธุรกิจอย่างไรให้พร้อมรับทุกความท้าทาย

ฟังเรื่องราวของทั้งสี่บริษัทที่ได้ร่วมงานกับเพียร์ พาวเวอร์กันไปแล้ว เราขอทบทวนเคล็ดลับการปรับตัวสำหรับธุรกิจเพื่อพร้อมรับทุกวิกฤต

  • การกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งกระจายตลาดให้หลากหลาย และกระจายประเภทผลิตภัณฑ์ เพราะเมื่อเจอทางตันจะได้ยังมีช่องทางให้ไปต่อได้
  • ลองสมมติภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) แล้วเตรียมตัวเพื่อรับมือโดยไม่ต้องรอให้มันเกิดขึ้นจริง หรือถ้าวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งต้องรีบคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้อีกบ้าง แล้วเตรียมหาทางหนีทีไล่ล่วงหน้า
  • ปัจจัยภายนอกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น เปลี่ยนแผนได้เร็วทั้งเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากปัจจัยบวก และลดผลกระทบจากปัจจัยลบ
  • เมื่อเจออุปสรรคให้มองย้อนกลับไปที่คุณค่าที่แท้จริง (core value) และจุดแข็งของแบรนด์ เพื่อแก้ปัญหาโดยไม่ทิ้งตัวตนของธุรกิจ
  • “คน” ทั้งทีมงานและผู้บริหารคือส่วนสำคัญที่สุดของธุรกิจในการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ อย่าลืมให้ทรัพยากรไปกับการพัฒนาคนของเราเพื่อความก้าวหน้าในระยะยาว

เพียร์ พาวเวอร์เป็นกำลังใจให้ทุกธุรกิจก้าวต่อไปข้างหน้าแม้ต้องเผชิญกับวิกฤต เราพร้อมให้บริการทางการเงินด้วยการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ในรูปแบบที่ตอบโจทย์ธุรกิจของคุณมากที่สุด ศึกษาลักษณะหุ้นกู้แบบต่าง ๆ ที่เพียร์ พาวเวอร์ให้บริการได้ที่นี่

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร