Pride Month เมื่อความเท่าเทียมทางเพศมีบทบาทในธุรกิจและการเงิน

by
June 26, 2022

Pride Month

เมื่อความเท่าเทียมทางเพศมีบทบาทในธุรกิจและการเงิน

เดือนมิถุนายนถือเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศที่ปัจจุบันกลายเป็นกระแสที่ฉลองกันมาถึงประเทศไทยด้วย ช่วงนี้จึงเห็นหลายแบรนด์เปลี่ยนภาพใน social media เป็นสีรุ้งเพื่อประกาศตัวขอมีส่วนร่วมกับการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่หลากหลาย ประจวบกับเมื่อต้นเดือนนี้รัฐสภาเพิ่งมีมติครั้งประวัติศาสตร์ให้ยอมรับหลักการในวาระที่หนึ่งของ “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” วันนี้เพียร์ พาวเวอร์จึงขอชวนคุยเรื่องความเท่าเทียมสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่านอกจากประเด็นทางสังคมแล้ว การรณรงค์เรื่องนี้ยังส่งผลเกี่ยวเนื่องในด้านธุรกิจและการเงิน การลงทุน อย่างไรบ้าง

จากการเคลื่อนไหวทางสังคมสู่เม็ดเงินธุรกิจ

แม้จะมีสัญลักษณ์เป็นสายรุ้งดูสดใส แต่ที่มาของ Pride Month นั้นมาจากการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ขมขื่นและรุนแรง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการประท้วงสโตนวอลล์ (Stonewall Uprising) ในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ในยุคที่การรักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผ่านมากว่า 50 ปี ทุกวันนี้เมื่อสังคมทั่วไปสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมสำหรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น สัญลักษณ์สายรุ้งเริ่มมีให้เห็นตามห้างร้านในเดือนมิถุนายนเพื่อประกาศตัวว่าร้านค้าหรือแบรนด์นั้น ๆ สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ หลายแบรนด์ใช้โอกาสนี้ทำโปรโมชั่นเหมือนเป็นเทศกาลอย่างหนึ่ง… ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่ม LGBTQ+ จำนวนมากเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นแคมเปญ Pride Month ที่โดนใจจึงหมายถึงโอกาสที่เม็ดเงินจากลูกค้ากลุ่มนี้จะไหลมายังธุรกิจด้วยเช่นกันเทรนด์นี้ตามไปถึงตลาดการลงทุนด้วย แม้แต่ในตลาดเงินระดับโลกอย่าง Wall Street เมื่อปีที่แล้วก็มีการเปิดตัวดัชนี LGBTQ100 ESG Index พร้อมกับกองทุนรวม LGBTQ100 ESG ETF เพื่อลงทุนในหุ้นบริษัทที่ที่มีนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลที่ดี แนวคิดก็คือ คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถต่างหันมาใส่ใจคุณค่าเหล่านี้มากขึ้น และจะเลือกทำงานในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าบริษัทกลุ่มดังกล่าวน่าจะดำเนินกิจการได้ดีตามไปด้วย

นโยบายความเท่าเทียมทางเพศกับแบรนด์องค์กร

นอกจากเม็ดเงินแล้ว อีกสิ่งที่ธุรกิจได้รับจากการแสดงตัวว่าสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศก็คือภาพลักษณ์องค์กรที่ดูหัวสมัยใหม่ เปิดกว้าง เดือนนี้เราเห็นแบรนด์ใหญ่ ๆ ออกมาโปรโมตนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลที่ใส่ใจความเท่าเทียม ซึ่งก็เรียกคะแนนจากคนวัยทำงานรุ่นใหม่ ๆ ไปได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นอิเกียที่พูดเรื่องการให้โอกาสพนักงานทุกคนตามความสามารถโดยไม่แบ่งแยกเพศสภาพ แสนสิริที่ประกาศให้พนักงานใน LGBTQ+ สามารถลางานเพื่อจัดงานแต่งงานได้ 7 วัน เท่ากับคู่ชาย-หญิง หรือศรีจันทร์ที่เพิ่มสวัสดิการลาผ่าตัดแปลงเพศ ลาคลอดแบบได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 180 วัน (จาก 45 วันตามกฎหมาย) และให้คุณพ่อลาเลี้ยงลูกได้ 30 วันนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศเหล่านี้มีมาแล้วในต่างประเทศ บริษัทระดับโลกอย่าง Johnson & Johnson เองก็มีนโยบายส่งเสริมพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ เช่น การให้สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ การรับอุปการะบุตรบุญธรรม รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศด้วย

สมรสเท่าเทียมกับสิทธิทางการเงิน

แม้ว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ข้อมูลจาก HRC ระบุว่าทั่วโลกมีทั้งหมดเพียง 31 ประเทศที่รับรองการสมรสอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกเพศ ทำไมกลุ่ม LGBTQ+ จึงต้องเรียกร้องสิทธิสมรสเท่าเทียม หนึ่งในเหตุผลก็คือสิทธิทางการเงินของคู่สมรส เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี การกู้ร่วม สินสมรส และการจัดการมรดก ไปจนถึงผลประโยชน์ที่คู่สมรสมีโอกาสได้รับเพิ่มเติม เช่น สิทธิประกันสุขภาพจากนายจ้าง ยกตัวอย่างการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย โดยปกติธนาคารมักให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีความใกล้ชิด เช่น ครอบครัว หรือ คู่สมรส ด้วยเหตุผลนี้หลายสถาบันการเงินจึงไม่มีนโยบายให้กู้ร่วมแก่คู่รัก LGBTQ+ หรือ หากมีก็จะจำกัดวงเงินให้น้อยกว่าคู่สมรสตามกฎหมาย ทั้งยังต้องขุดหลักฐานมาแสดงมากมายว่าเป็นคู่รักกันจริง ข้อจำกัดนี้ย่อมส่งผลอย่างมากต่อการวางแผนทางการเงินของคู่รักรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวการได้รับรองตามกฎหมายให้เป็นคู่สมรสจึงสำคัญไม่เพียงต่อสิทธิทางสังคม แต่ยังรวมไปถึงสิทธิทางการเงินของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

การตลาดสีรุ้งไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

เพราะความเท่าเทียมทางเพศเป็นมากกว่าแค่เรื่องส่วนบุคคลหรือสิทธิทางสังคม แต่ยังเข้ามาเกี่ยวพันกับธุรกิจ การงาน และการเงินด้วย สำหรับเจ้าของธุรกิจ โปรโมชั่น Pride Month กับโลโก้สีรุ้งอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ลูกค้า (และว่าที่พนักงานรุ่นใหม่) ของคุณยังมองหานโยบายและจุดยืนที่จริงใจกับการสนับสนุนความเท่าเทียมสำหรับทุกคนด้วยส่วนในมุมนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วไปก็คงต้องช่วยกันผลักดันต่อไปให้มีการรับรองกฎหมายเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกเพศสภาพ และให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ เปิดกว้างต่อพนักงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็อย่าลืมดูแลการเงินของเราเองให้พร้อมกับทุกความเปลี่ยนแปลง

อ่านเพิ่มเติม

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร