Success Strategy

New Year’s Resolutions – 5 เทคนิคตั้งเป้าหมายทางการเงินในปี 2022

by
PeerPower Team
December 23, 2021

ในช่วงเวลาใกล้ขึ้นปีใหม่แบบนี้ “การตั้งปณิธานปีใหม่” เป็นสิ่งที่ผู้คนนิยมทำกันมากยิ่งขึ้นทุกปี จากสถิติของเว็บไซต์ discoverhappyhabits.com พบว่าการตั้ง New Year’s Resolutions ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการทำตามเป้าหมายหลังจากเวลาผ่านไปครึ่งปี จาก 4% ขึ้นเป็น 46% เลยทีเดียว

แน่นอนว่า การตั้งเป้าหมายสามารถทำได้หลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์ หรืองานอดิเรก แต่เรื่องที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยคือ ปณิธานทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การตั้งจุดมุ่งหมายการเงินที่ไม่ชัดเจน เยอะเกินไป ยากเกินไป หรือแม้กระทั่งการตั้งปณิธานแบบเดิมซ้ำๆ ปัญหาเหล่านี้จะทำให้สมองต่อต้านการทำตาม เป็นสาเหตุให้หลายคนล้มเลิกไปกลางคันนั่นเอง

ดังนั้นวันนี้ เพียร์ พาวเวอร์จึงได้ทำการรวบรวม 5 เทคนิคสำคัญ ที่จะช่วยทุกท่านวางแผนทางการเงินในปีใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับตัวของคุณเอง และสามารถทำตามได้จริงตลอดทั้งปี เรามาเริ่มไปด้วยกันเลยนะครับ

1. กำหนด “เป้าหมาย”

หลายท่านอาจจะกำลังคิดว่า การกำหนดเป้าหมายก็ต้องทำอยู่แล้ว จะมาเป็นเทคนิคได้อย่างไร แต่เชื่อไหมว่า การไม่กำหนดความต้องการและบันทึกเอาไว้ให้ชัดเจนเป็นสาเหตุอันดับต้นๆที่ทำให้คนทำตาม New Year’s Resolution ไม่สำเร็จเลยทีเดียว ดังนั้น เราแนะนำให้คุณสละเวลาช่วงสุดสัปดาห์นี้สักหน่อย เพื่อนึกถึงทุกสิ่งที่คุณต้องการจริงๆในปีที่จะถึงนี้ และอย่าลืมทำการเขียนเก็บเอาไว้ด้วยนะครับ

เผื่อเป็นไอเดียให้ทุกท่านว่า”เป้าหมาย”สำหรับปีนี้จะเป็นประมาณไหนได้บ้าง คุณสามารถตั้งอะไรก็ได้ และในตอนนี้จะมีกี่ข้อก็ได้เลยครับ

2. ลงรายละเอียดให้ชัดเจน

เมื่อมีจุดมุ่งหมายแล้ว เราจะต้องลงรายละเอียดทำให้ชัดเจนและสามารถวัดผลได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณบอกแค่ว่า “อยากมีเงินสำรองฉุกเฉินเพิ่มเติม” โดยที่ไม่รู้ว่า แล้วต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ?  นี่จะทำให้เรารู้สึกเหมือนการวิ่งที่ไม่มีเส้นชัย ทำเอาล้มเลิกกันได้ง่ายๆเลยล่ะครับ

ตั้งระยะเวลาและงบประมาณให้ชัดเจน

  • ตัวอย่างเช่น ต้องการมีงบรีโนเวทบ้าน 500,000 บาทใน 1 ปี, มีเงินเก็บตอนเกษียณในอีก 20 ปีที่ 2 ล้านบาท
  • การกำหนดงบประมาณนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือการศึกษาเกี่ยวกับมัน และทำการคาดการณ์งบประมาณให้ใกล้เคียงมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ดูค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนที่ต้องการส่งลูกไปเรียน หรือประมาณการณ์จากยอดค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาของตัวคุณเองเพื่อเตรียมเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน
  • สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการไม่ตั้งเป้าให้สูงจนเกินไป เพราะนั่นจะทำให้เรารู้สึกว่า ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ เราทำไม่ได้แน่ๆ กลายเป็นจะยิ่งบั่นทอนกำลังใจของเราลงไปอีก แนะนำว่าควรกำหนดให้เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด แต่ก็ต้องไม่ถึงกับง่ายเกินไปจนทำสัปดาห์เดียวสำเร็จนะครับผม

3. เรียงลำดับความสำคัญ

จุดมุ่งหมายหมายบางข้อของคุณอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น (เช่น เงินสำรองฉุกเฉิน) บางข้ออาจเป็นสิ่งที่คุณต้องการ (เช่น ซื้อบ้านหลังที่สอง) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรโฟกัสที่ข้อใดก่อน วันนี้เรามีเทคนิคนึงที่น่าสนใจมาฝากกันครับ


The Eisenhower Matrix

The Eisenhower Matrix เป็นเทคนิคที่คิดค้นโดย Dwight D. Eisenhower ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยจัดเรียงลำดับความสำคัญของการทำงานผ่านตาราง 4 ช่อง โดยมีหัวใจคือจากแยกให้ชัดเจนระหว่าง เร่งด่วน กับ สำคัญ นั่นเองครับ

1. ทำเป็นลำดับแรก – เร่งด่วน และ สำคัญ

กลุ่มนี้จะเป็นสิ่งที่คุณจะต้องทำมันให้สำเร็จ ไม่อย่างนั้นอาจทำให้การเงินของคุณในอนาคตมีปัญหาได้ จึงเป็นสิ่งที่คุณควรทำก่อนเป็นอันดับแรก

ตัวอย่างเช่น: เงินสำรองฉุกเฉินให้เพียงพอ, ซื้อประกันอุบัติเหตุ, จ่ายค่าบัตรเครดิตให้ครบ

2. ทำเป็นลำดับที่สอง – ไม่เร่งด่วน แต่ สำคัญ

ความต้องการบางข้อของคุณอาจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้เร่งด่วนในเวลาอันใกล้นี้ ควรเป็นสิ่งที่คุณทำเป็นอันดับต่อมา

ตัวอย่างเช่น: การซื้อบ้านเพื่ออยู่กับครอบครัวในอนาคต, เก็บเงินเพื่อสำรองสำหรับการเกษียณอายุในอีก 20 ปี

3. ทำเป็นลำดับที่สาม – เร่งด่วน แต่ ไม่สำคัญ

หากจุดมุ่งหมายของคุณเป็นสิ่งที่สามารถตัดออกก่อนได้หากไม่มีเงินพอ มีก็ดีแต่ยังไม่ต้องมีตอนนี้ก็ได้ สิ่งนี้คุณควรทำเป็นสำดับที่สามหลังจากเหลืองบประมาณจากสิ่งที่สำคัญมากกว่า

ตัวอย่างเช่น: ซื้อเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่เป็นของขวัญให้ตัวเอง, การไปเที่ยวพักผ่อนช่วงวันหยุดที่คุณอยากไปมานาน

4. ทำเป็นลำดับสุดท้าย – ไม่เร่งด่วน และ ไม่สำคัญ

เมื่อผ่านการจัดลำดับความสำคัญมาจนถึงตอนนี้ คุณอาจสังเกตุได้ว่ามีความต้องการบางข้อที่ไม่ได้เร่งด่วนและสำคัญสำหรับคุณมากขนาดนั้น คุณอาจเลือกที่จะตัดสิ่งเหล่านี้ออก หรือจัดลำดับความสำคัญไว้อันดับสุดท้าย

ตัวอย่างเช่น: เปลี่ยนรถคันใหม่ ซื้อบ้านอีกหลัง เป็นต้น

4. จัดสรรสัดส่วน & วิธีการเก็บเงิน

สมมติคุณทำการเลือก และเรียงลำดับปณิธานออกมาได้ ดังนี้

  1. จ่ายหนี้บัตรเครดิต 35,000 บาท ภายใน 3 เดือน
  2. เพิ่มเงินสำรองฉุกเฉิน 50,000 บาท ใน 6 เดือน
  3. เก็บเป็นค่าเช่าคอนโดล่วงหน้า 360,000 บาท สำหรับ 3 ปี
  4. เก็บเป็นเงินสำหรับเกษียณ 3 ล้านบาท ในอีก 20 ปี
  5. เก็บเงินสำหรับจัดงานแต่งงาน 100,000 บาท ใน 2 ปี

สิ่งที่ควรจะต้องทำต่อไปคือการวางแผนว่าเมื่อคุณมีเงินเก็บ คุณจะแบ่งสัดส่วนในแต่ละลำดับเท่าไหร่ และอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ใช้เงินเก็บทั้งหมดปิดหนี้บัตรเครดิตก่อน หลังจากนั้นจะเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินให้ครบ เมื่อทำปณิธาน 2 ข้อแรกสำเร็จแล้วจึงจะใช้เงินเก็บ 65% ไปกับการเก็บเป็นค่าเช่าคอนโด, 30% เป็นเงินสำหรับเกษียณ และ 5% เก็บสำหรับงานแต่ง เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดสรรสัดส่วนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและดุลยพินิจของแต่ละท่าน แต่ก็อย่าลืมเรียงตามลำดับความสำคัญที่เราคิดกันในเทคนิคที่แล้วด้วยนะครับ

การออมเงินที่มีความเร่งด่วน หรืออาจต้องใช้ในอนาคตอันใกล้ แน่นอนว่าเราจะต้องเลือกออมในรูปแบบที่มีความคล่องตัว หรือสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างคล่องตัว ตัวอย่างเช่น เงินสด หรือบัญชีเงินฝาก ในขณะที่การจะนำเงินออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาวเช่น เงินสำรองหลังเกษียณ ไปเก็บในบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 1% คงจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากเราสามารถนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆเพื่อให้ออกดอกออกผลเพิ่มเติมได้ เช่น กองทุน ทองคำ หุ้นตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง หุ้นคราวด์ฟันดิง และ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ที่เพียร์ พาวเวอร์เป็นผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้จะยิ่งช่วยให้ทุกท่านสำเร็จจุดมุ่งหมายการลงทุนได้เร็วขึ้นนั่นเองครับ


5. หมั่นทบทวน & ปรับเปลี่ยนเมื่อจำเป็น

จุดมุ่งหมายที่ทำการตั้งเอาไว้ในวันนี้ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และระยะเวลา อย่างเช่น คุณพึ่งได้รู้ว่าตอนสิ้นปีมีแพลนไปทำงานต่างประเทศ หรือการที่พอร์ตลงทุนของคุณเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นต้น ดังนั้นเราแนะนำให้คุณหมั่นทบทวนแผนการทางการเงินอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจุดมุ่งหมายที่คุณกำลังวิ่งตามยังเป็นสิ่งที่คุณยังต้องการจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงความต้องการในอดีตของคุณนั่นเองครับ

 

สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการตั้งเป้าหมายทางการเงินคือ “การมีวินัยและลงมือทำ” หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านมี New Year’s Resolutions ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับตัวของท่านเอง และช่วยให้สามารถลงมือทำตามแพลนกันได้ไม่ยากนะครับ สุดท้ายนี้ ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เพียร์ พาวเวอร์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน รวมถึงขออวยพรให้ปี 2022 เป็นปีที่ดีสำหรับผู้อ่านทุกคนด้วยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร