Perspectives

7 สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครดิตบูโร

by
December 14, 2017

รู้ไว้ใช่ว่า! 7 สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครดิตบูโร

หลายคนที่มีประสบการณ์ขอสินเชื่อ เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินเกี่ยวกับเครดิตบูโรจากการพูดคุยกับผู้ขอสินเชื่อหลายราย เราพบว่ายังมีคนเข้าใจผิดเกียวกับเครดิตบูโรอยู่ไม่น้อยวันนี้เราเลยถือโอกาสมาเล่าสู่กันฟังว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครดิตบูโรครับ

1. "เจ้าหนี้สามารถดูรายงานเครดิตบูโรของเราได้"

ในความเป็นจริงแล้ว คนที่สามารถเข้าถึงรายงานเครดิตบูโรได้ คือ 1.) เจ้าของรายงานเอง ซึ่งต้องแสดงสำเนาบัตรประชาชน หรือเซ็นมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน และ 2.) สมาชิกเครดิตบูโร ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ บริษัทประกันภัย ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้

2. "ธนาคารมีการแชร์ข้อมูลของลูกหนี้"

หลายครั้ง ผู้ขอสินเชื่อได้รับการติดต่อจากธนาคารเพื่อเสนอให้รีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต หรือสมัครบัตรเครดิตกับตน หลายๆ ท่านเกิดความสงสัยว่าธนาคารเหล่านี้ทราบได้อย่างไรว่าตนมีประวัติค้างชำระ ทำให้เกิดความเชื่อที่ผิดว่าธนาคารได้มีการแชร์ข้อมูลของลูกหนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพราะเป็นสมาชิกเครดิตบูโรนั่นเอง โดยในรายงานเครดิตบูโรจะแสดงประวัติการชำระเงินของคุณ ทำให้ธนาคารทราบว่าคุณมีหนี้ค้างอยู่เท่าไหร่ และมีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อรีไฟแนนซ์หรือไม่

3. "การจ่ายดอกเบี้ยเยอะ ทำให้ธนาคารมีรายได้ ฉะนั้นควรจัดว่าเป็นลูกค้าชั้นดี"

ยังมีบางคนเข้าใจว่าการจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้ธนาคาร คือการสร้างรายได้ให้กับธนาคาร ดังนั้น ตัวเองน่าจะนับเป็น "ลูกค้าชั้นดี" และมีโอกาสได้รับข้อเสนอพิเศษ รวมถึงได้อนุมัติวงเงินง่ายๆในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้ธนาคารเยอะๆ คือลูกค้าที่ชำระขั้นต่ำ หรือชำระล่าช้า จนเกิดเป็นดอกเบี้ยในทางปฏิบัติ ธนาคารจะพยายามเลี่ยงลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะนับเป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการผิดนัดชำระ เหมือนกับเวลามีเพื่อนมาขอยืมเงินคุณ แม้คุณอยากได้ดอกเบี้ย แต่คุณก็คาดหวังว่าเพื่อนของคุณจะชำระตรงเวลา ลูกหนี้เองจะเสีย "เครดิต" ตรงนี้ และมีโอกาสว่าเพื่อนไม่กล้าปล่อยกู้อีกในโอกาสหน้า

4. "ควรตรวจรายงานเครดิตบูโรเมื่อต้องขอสินเชื่อเท่านั้น"

หลายคนมักเข้าใจว่าควรตรวจเครดิตบูโรเมื่อจะขอสินเชื่อเท่านั้น ในความเป็นจริง คุณควรตรวจเครดิตบูโรตัวเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็คข้อมูลตัวเองในเรื่องประวัติการชำระสินเชื่อทั้งหมดที่เรามีว่าเป็นอย่างไรแล้ว หากมีจุดบกพร่องตรงไหน ยังพอมีเวลาแก้ได้ทันนอกจากนี้ยังช่วยตรวจสอบความถูกต้องของรายงาน และดูว่ามีใครนำข้อมูลของเราไปแอบอ้างหรือไม่ เช่น ปลอมแปลงสำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารการเงินต่าง ๆ ไปสมัครสินเชื่อโดยใช้ชื่อเรา และเมื่อไหร่ที่ถึงเวลาที่เราจะขอสินเชื่อ ข้อมูลตรงนี้ก็จะพร้อมใช้ได้ทันที

5. "ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อเพราะติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร"

บางท่านเคยมีประสบการณ์ขอสินเชื่อไม่ผ่าน และได้รับคำตอบจากพนักงานว่า “ติดเครดิตบูโร” หรือ “ติดแบล็คลิสต์” จึงเป็นที่มาของความเชื่อผิดๆ ที่ว่าเครดิตบูโรเป็นคนจัดทำ “บัญชีดำ หรือ แบล็คลิสต์” ที่เก็บข้อมูลคนที่ค้างชำระหนี้สิน และส่งให้กับธนาคารเพื่อขัดขวางการอนุมัติสินเชื่อในความเป็นจริงแล้วเครดิตบูโรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินเลยแม้แต่น้อย โดยเครดิตบูโรมีหน้าที่เก็บรวบรวม และประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้เท่านั้น มิได้มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำอย่างที่เข้าใจกันหากคุณถูกปฏิเสธจากสถาบันการเงิน คุณเองมีสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูลที่จะรับทราบข้อเท็จจริงเมื่อมีการปฏิเสธสินเชื่อหากสถาบันการเงินมีความเห็นว่าไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้เพราะตรวจพบข้อมูลการค้างชำระในปัจจุบันหรือในอดีต กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า สถาบันการเงินจะต้องออกเป็นหนังสือ แจ้งเหตุผลให้ชัดเจนถึงสาเหตุที่มีการปฏิเสธสินเชื่อ โดยต้องออกเป็นจดหมายปฏิเสธสินเชื่อเท่านั้น ไม่สามารถแจ้งทางวาจาว่า "ติดเครดิตบูโร" อย่างที่นิยมทำกันได้

6. "ข้อมูลในเครดิตบูโรจะอยู่ตลอดไป ไม่สามารถแก้ไขได้"

ในความเป็นจริงแล้วมีระยะเวลากำหนดว่าข้อมูลจะปรากฏในเครดิตบูโรเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นสำหรับข้อมูลของบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้เก็บไว้ในระบบประมวลผลได้ไม่เกิน 3 ปีสำหรับข้อมูลของนิติบุคคล ข้อมูลจะอยู่ในระบบนาน 5 ปีนับแต่วันที่สมาชิกรายงานข้อมูลมายังบริษัท โดยที่จะมีข้อมูลใหม่จะเข้าไปแทนที่ข้อมูลเก่า ส่วนการอัพเดดข้อมูลนั้น สถาบันการเงินจะรายงานประวัติการชำระของคุณเข้ามาที่บริษัทฯ ทุกๆ สิ้นเดือนหากเราพบว่าข้อมูลที่ปรากฏในรายงานนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่อัพเดท สามารถดำเนินการแก้ไขข้อมูลได้

7. "ค้างจ่ายบิลค่าโทรศัพท์ ข้อมูลจะปรากฏในเครดิตบูโร"

ผู้ที่มีสิทธิขอดูรายงานเครดิตบูโร ได้แก่ “สมาชิก” ของเครดิตบูโร ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ (เช่น ธนาคารออมสิน) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซอเอร์ บริษัทประกันวินาศภัย ประกันชีวิต ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็น Bank หรือ Non-bankอย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการสาธารณูปโภค ค่ายบริษัทมือถือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร การที่คุณค้างจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือจึงไม่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ แต่ทางที่ดี คุณควรสะสางหนี้สินให้หมด เพื่อความสบายใจของตัวคุณเอง

เพียร์ พาวเวอร์ คือผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งระบบคราวด์ฟันดิงคือตัวกลางในการระดมทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ด้วยวิธีการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ในขณะเดียวกันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในแพลตฟอร์มได้ สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่

______________________________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร