Peer Story

พูดคุยกับ นิ้วโป้ง Fundamental VI นักลงทุนรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร?

by
April 29, 2020

นักลงทุนรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร?

ภายใต้ผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 ที่สร้างความผันผวนทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และกำลังทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สภาวะตลาดการลงทุนในปัจจุบันเป็นอย่างไร ตัวเราในฐานะนักลงทุนมีปัจจัยใดบ้างที่ควรพิจารณาเพื่อปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การลงทุนทั้งในปัจจุบัน และ อนาคตเพียร์

พาวเวอร์ ขอเชิญนักลงทุนทุกท่านร่วมค้นหาคำตอบไปกับการสัมมนาออนไลน์ PeerPower Webinar : Investors Series Special ในหัวข้อ “นักลงทุนรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร?” โดย คุณวรพล พรวาณิชย์ CEO และผู้ก่อตั้งเพียร์ พาวเวอร์ และแขกรับเชิญพิเศษ คุณอธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนหุ้นคุณค่า เจ้าของเพจ “นิ้วโป้ง Fundamental VI” และ ผู้เขียนหนังสือ Best Seller “100 คำตอบต้องรู้ ดูหุ้นพื้นฐาน”

สภาวะตลาดทุนในปัจจุบัน และ การลงทุนท่ามกลางความผันผวน

COVID-19 สู่ความผันผวนของตลาดทุน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ได้สร้างความถดถอยแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบมายังตลาดทุน โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงต่ำสุดกว่า 35% - 39% ก่อนจะทยอยปรับตัวบวกขึ้นมาช้า หรือ เร็วตามความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่มีพื้นฐานแตกต่างกันโดยจากการเปรียบเทียบดัชนี MSCI พบว่า ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในปี 2019 ปรับตัวเพิ่มมามากกว่า 20% ขณะที่ตั้งแต่เปิดปี 2020 และโดนผลกระทบจาก COVID-19 ตลาดกลุ่มนี้ปรับลดไปไม่ถึง 15% ขณะที่ในฝั่งของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมทั้งประเทศไทยในปี 2019 ปรับขึ้นได้น้อยกว่า 5% แต่ในปี 2020 นี้ดัชนีปรับลดไปมากกว่า 20% จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศขนาดเล็กมีศักยภาพในการต่อสู้ และฟื้นตัวจาก COVID-19 น้อยกว่าประเทศขนาดใหญ่ ที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพียบพร้อมด้วยเม็ดเงินที่สามารถอัดฉีดเข้าระบบซึ่งจากสัญาณนี้ก็คาดการณ์ได้ว่า ในปี 2020 ก็ยังจะเป็นอีกปีที่ยากลำบาก สำหรับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยเมื่อขยายภาพมาดูตลาดทุนในประเทศไทย SET index ลดลงไปต่ำสุด 969.08 จุด เมื่อต้นเดือนมีนาคม (-39% จากปลายปี 2019) ก่อนจะทยอยปรับขึ้นมายืนที่ระดับ 1,200 จุด ซึ่งเป็นการปรับขึ้นกว่า 25% ภายในไม่ถึงเดือน สะท้อนภาพความผันผวนอย่างหนักของตลาดจากผลกระทบของ COVID-19 และนอกจากความเคลื่อนไหวของดัชนีแล้ว อีกหนึ่งสัญญาณที่จำเป็นต้องจับตามองคือการเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งนับแต่ต้นปี 2020 ตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติไปแล้วกว่า 1.4 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2019 ที่ขายสุทธิเพียง 0.4 แสนล้านบาท ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ในปีที่มีการขายสุทธิจากต่างชาติเกินกว่า 1 แสนล้านบาท ในปีนั้นตลาดหุ้นไทยมักปิดปีด้วย ดัชนีที่ติดลบเกินกว่า 10% ทั้งสิ้น

กลยุทธ์ระยะสั้น : ลงทุนท่ามกลางตลาดผันผวน

สำหรับการลงทุนในระยะสั้นนี้ “คุณนิ้วโป้ง ” (เจ้าของเพจ นิ้วโป้ง Fundamental VI) แนะนำการลงทุนในหุ้น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ “หุ้นสามัญประจำบ้าน” และ “หุ้นรับแรงซื้อมาตรการ Re-Lock down”

กลยุทธ์การลงทุน ท่ามกลางความผันผวน นิ้วโป้ง-fundamental

หุ้นสามัญประจำบ้าน : เป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดค่อนข้างน้อย ได้แก่ หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า น้ำประปา) หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคประจำวัน (โทรคมนาคม อาหาร)หุ้นรับแรงซื้อมาตรการ Re-Lock down : เป็นหุ้นในกลุ่มที่สูญเสียรายได้หนักจากมาตรการปิดเมือง ซึ่งหากมีการ Re-Lock down แล้วจะมีรายได้กลับเข้ามา หุ้นกลุ่มนี้ ได้แก่ หุ้นห้างสรรพสินค้า หุ้นค้าปลีก และหุ้นขนส่งมวลชน

ปัจจัยที่ต้องจับตา และ การรับมือควันหลงจาก COVID-19

สภาวะ “หยิน-หยาง” ปะทะกัน

ในระยะถัดไป แม้จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้แล้ว และมีการ Re-Lock down ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ กลับมาดำเนินการตามปกติได้ แต่ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสจะยังไม่หายไป เพียงแต่จะเปลี่ยนรูปจากการระบาดทางสาธารณสุข เป็นการแพร่พิษเข้าไปทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศแทนในช่วง 6 เดือนนับจากนี้นักลงทุนจะเห็นการปะทะกันระหว่าง “หยิน” ปัจจัยด้านลบ ความเสียหายของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงมาจาก COVID-19 และ “หยาง” ปัจจัยด้านบวก มาตรการที่ภาครัฐของแต่ละประเทศดำเนินการเพื่อรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และการปะทะกันของ “หยิน” และ “หยาง” นี้เองที่จะทำให้การลงทุนต่อจากนี้มีความผันผวนมากยิ่งขึ้นอีก ซึ่งในสถานการณ์นี้มีปัจจัยที่ควรจับตามอง ได้แก่

ปัจจัยกระทบการลงทุนในอนาคต

“หยิน” : ความเสียหายของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงมาจาก COVID-19 ได้แก่1) การเกิดวิกฤตหนี้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นสภาวะวิกฤตหนี้ซ้อนวิกฤตสาธารณสุข และ วิกฤตหนี้นี้เองที่เป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา2) อัตราการว่างงาน ในปัจจุบันซึ่งพุ่งสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์จากมาตรการ Lock down3) ผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทจดทะเบียน จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการเก็บตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลง4) การระบาดซ้ำของไวรัส การ Re-Lock down อาจนำมาสู่การแพร่ระบาดของเชื้อในระลอกที่สอง และการออกมาตรการเพื่อควบคุมเชื้อครั้งใหม่ที่อาจเข้มงวดกว่าเดิม“หยาง” : มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการเพื่อรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้แก่1) มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินการเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้2) ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์3) การอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ หรือมาตรการ Quantitative Easing ซึ่งธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ใช้มาตรการ QE (Quantitative Easing) เม็ดเงินมหาศาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทยที่กู้เงินมาดำเนินการด้วยวงเงินถึง 1.9 ล้านล้านบาทเช่นกัน4) มาตรการเพิ่มเสถียรภาพตราสารหนี้ ในครั้งนี้ภาครัฐของไทยได้ออกกฎเกณฑ์ให้สามารถนำเงินกู้ไปซื้อ Investment Grade Bond เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ได้อีกด้วยจากการปะทะกันของปัจจัยทั้ง “หยิน” และ “หยาง” จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นใน 6 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งอาจจะออกมาในรูปของ V shape, U shape หรือ L shape ก็ได้ เป็นการยากที่จะตอบได้ชัดเจน แต่ในระยะกลางนี้ ผลลัพธ์ของการปะทะกันจะสะท้อนออกมาให้นักลงทุนจับสัญญาณ ผ่านงบการเงินไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลสุดท้ายไปสู่มูลค่าของหุ้นจดทะเบียนนั่นเอง

กลยุทธ์ระยะกลาง : รับมือควันหลง COVID-19

สำหรับการลงทุนในระยะ 6 เดือนข้างหน้านี้ “คุณนิ้วโป้ง” แนะนำการสะสมลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่แม้มีความเสี่ยงระยะสั้นแต่สามารถคาดหวังผลได้ในระยะยาว ดังนี้

กลยุทธ์รับมือควันหลง COVID-19

หุ้นธุรกิจการเงิน แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากยอด NPL (Non-Performing Loan)หุ้นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมาราคาปรับตัวลงมาเยอะและหากสถานการณ์กลับเป็นปกติมีแนวโน้มดีที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นหุ้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องระมัดระวังยอดขายในระยะสั้นที่อาจถูกกระทบจากความเข้มงวดที่มากขึ้นของธนาคารในการปล่อยกู้ให้แก่รายย่อยหุ้นธุรกิจโรงแรม คาดว่าจะขาดทุนในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จากผลของการแพร่ระบาด และจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หลังการแพร่ระบาดจบลง

ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ การกระจายความเสี่ยงการลงทุน

วงรอบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลา 1 ปีต่อจากนี้ แม้ COVID-19 จะผ่านพ้นไป แต่โลกการลงทุนจะเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยวัฏจักรเศรษฐกิจที่หมุนเร็วขึ้น วงรอบของการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐานของเศรษฐกิจ หรือ Fundamental Change หนึ่งรอบจะไม่กินเวลานานนับสิบปีเหมือนที่ผ่านมา แต่อาจเกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี ซึ่งอาจมีสาเหตุจากสถานการณ์วิกฤต อย่างวิกฤต COVID-19 หรือสาเหตุจากการพัฒนาของเทคโนโลยีก็ตาม การลงทุนนับจากนี้นักลงทุนควรมองที่เป้าหมายระยะยาว และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงให้ดี

กลยุทธ์ระยะยาว: กระจายความเสี่ยงการลงทุน

สำหรับการลงทุนในระยะยาวเกินกว่า 1 ปี “คุณนิ้วโป้ง” ยังเชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่ดีจากการกระจายความเสี่ยง ซึ่งได้แนะนำวิธีการกระจายความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน 2 วิธี ได้แก่การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) คุณนิ้วโป้งเปรียบเทียบการจัดพอร์ตโฟลิโอการลงทุน ( Investment Portfolio)เหมือนการจัดทีมฟุตบอล ที่ต้องมีผู้เล่นหลายตำแหน่งทำหน้าที่ผสานกันเพื่อชัยชนะของทีม

Asset allocation เพื่อชัยชนะในการลงทุน นิ้วโป้ง-fundamental

- กองหน้า มีหน้าที่ทำประตู เปรียบเหมือน หุ้นสามัญ แม้มีความเสี่ยงสูง แต่ก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตโฟลิโอได้สูง

- กองกลาง มีหน้าที่สร้างความสมดุลให้ทีม เปรียบเหมือน REIT และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ และมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าหุ้นสามัญ

- กองหลัง มีหน้าที่ปกป้องการบุกของคู่แข่ง เปรียบเหมือน พันธบัตร และหุ้นกู้เอกชน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงต่ำ รักษาเงินต้นได้ดี

- ผู้รักษาประตู มีหน้าที่ เป็นผู้เล่นคนสุดท้ายในการป้องกันประตูจากคู่แข่ง เปรียบเหมือน ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ที่จะคุ้มครองสิ่งสำคัญที่สุด คือชีวิตและสุขภาพของตัวนักลงทุนเอง

พอร์ตโฟลิโอที่ดีควรมีการผสมผสานสินทรัพย์อย่างเหมาะสม เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เสมือนฟุตบอลที่ต้องเล่นกันเป็นทีมเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน

การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average)

สำหรับการลงทุนที่หวังผลในระยะยาว คุณนิ้วโป้ง แนะนำให้ทำการ DCA (Dollar Cost Averaging) หรือทยอยซื้อหุ้นด้วยมูลค่าเงินที่เท่ากันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เพราะตามสถิติหนึ่งวัฏจักรทางเศรษฐกิจจะกินเวลาประมาณ 7 ปี เพราะฉะนั้นในช่วงชีวิตนักลงทุนต้องพบเจอ ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ เติบโต การถัวเฉลี่ยต้นทุนจะทำให้พอร์ตโฟลิโอ ลดความเสี่ยงลง และได้รับผลดีในระยะยาว

สุดท้ายนี้ คุณนิ้วโป้ง ได้ฝากเป็นกำลังใจถึงนักลงทุนทุกคนที่กำลังเผชิญกับความผันผวนของตลาดขณะนี้ ไว้ดังนี้ครับ

“เรามองในแง่บวกไว้ นักลงทุนที่ DCA ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้พอร์ทแดงแน่นอนเพราะตลาดหุ้นช่วงหลังไม่ได้ดี …แต่เราต้องมีภาพระยะยาว แล้ว DCA ต่อไป นับจากจุดนี้ระยะยาว หุ้น Good Stock at Good Price ยังเป็นขาขึ้น นักลงทุนทยอยลงทุนตามวินัยและความเชื่อของเรา ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาเรียนรู้ที่จะลงทุนในตลาดที่มี Discount และ มีความผันผวน ซึ่งช่วงเวลานี้การหาหุ้นที่ดีไม่ได้ยากครับ”
Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร