โลกการลงทุนหลังวิกฤต COVID-19

by
May 3, 2020

โลกการลงทุนหลังวิกฤต COVID-19

วิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ทางสาธารณสุข และ ส่งผลกับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก บางธุรกิจจำเป็นต้องปิดตัวลง ขณะที่บางธุรกิจผงาดขึ้นมาตอบรับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ในเวลานี้ที่การแพร่ระบาดของไวรัสกำลังจะผ่านพ้นไป แต่ระลอกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงกำลังจะถาโถมเข้ามา โลกการลงทุนหลังวิกฤตรอบนี้จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน แล้ว สินทรัพย์ทางการเงินแต่ละประเภทจะตอบรับกับสถานการณ์ต่อจากนี้ไปอย่างไร ขอเชิญนักลงทุนทุกท่านมาร่วมต่อจิ๊กซอว์ประกอบภาพ มองดูโลกการลงทุนหลังวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกันครับ

เศรษฐกิจไทยปรับตัวสู่โครงสร้างใหม่ของโลก

วิกฤตไวรัสรอบนี้ไม่ได้ทำลายเฉพาะ ภาคเศรษฐกิจการเงิน (Financial Sector) เหมือนวิกฤตรอบก่อน ๆ แต่สร้างความชะงักงันในการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกระดับ ส่งผลให้เกิดความเสียหายในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) สภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศไทย ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2020 จะหดตัวรุนแรง ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจะลดลงถึง 5.3% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1998 โดยสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักผลักดันการเติบโตมาตลอดนั้นหยุดชะงัด การส่งออกที่ย่ำแย่จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และ การบริโภคภายในประเทศที่ลดลงเพราะประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้จะมีมาตรการภาครัฐออกมาชดเชยก็ยังไม่เพียงพอให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้

คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย ลงทุน หลัง โควิด

จึงเกิดคำถามตามมาว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวนานแค่ไหน? สำหรับเรื่องนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า โครงสร้างเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปเป็น Digital Based Globalization มากขึ้น ประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดสรรทรัพยการทางเศรษฐกิจใหม่ และการพัฒนาทักษะของแรงงานให้เข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ยิ่งปรับตัวช้าจะยิ่งเสียหายในระยะยาว การฟื้นตัวของประเทศไทยจากนี้จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เป็นรูปแบบเหมือน “เครื่องหมายถูก” และ อัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน

ต่อจิ๊กซอว์ประกอบภาพโลกการ ลงทุน หลัง เกิดวิกฤต COVID-19

แล้วในปัจจุบันที่ตลาดผันผวนจากวิกฤต COVID-19 สินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทได้รับผลกระทบอย่างไร หลังจากไวรัสผ่านพ้นไปและระลอกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงถาโถมเข้ามา นักลงทุนจะคว้าโอกาสหรือพบเจออุปสรรค จากการลงทุนอย่างไรบ้างลองมาไล่เรียงกันดูครับ

หุ้นสามัญ

สำหรับการลงทุนในตราสารทุน แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้าแต่หากทำการศึกษาและคัดเลือกหุ้นเป็นอย่างดี ก็ยังมีโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนหุ้นสามัญ

กลุ่มธุรกิจน่าลงทุน ท่ามกลางความผันผวน

โดยการเลือกกลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนในภาวะวิกฤต COVID-19 รอบนี้ คุณอธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนหุ้นคุณค่า เจ้าของเพจ “นิ้วโป้ง Fundamental VI” แนะนำหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่เป็น Basic need ในชีวิตประจำวัน และ หุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลดีจากการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง - “ถ้าท่านเป็น Long-term Investor ณ ดัชนีต่ำกว่า 1,300 จุดนี้ ท่านสามารถทำ Stock Selection แล้วลงทุนระยะยาวได้ …สำหรับหุ้นน่าลงทุนใน Crisis รอบนี้ คือ หุ้นสามัญประจำบ้าน และ หุ้นที่รอรับแรงซื้อจากมาตรการผ่อนปรนการ Lock down ”ส่วนทางด้าน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่าชั้นแนวหน้าอีกท่าน เชื่อว่า หุ้นที่จะเป็น “ผู้อยู่รอด” หลังจบวิกฤตครั้งนี้คือ หุ้นที่ไม่ถูก Disrupt ได้โดยง่ายทั้งด้าน สินค้าบริการ และ ช่องทางการขาย ลักษณะของหุ้นกลุ่มนี้คือ ขายสินค้าหรือให้บริการที่เป็นสิ่งจำเป็นและเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ โดยมีต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และสามารถปรับตัวเองให้สามารถค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ - “ผมจะมองดูว่าบริษัทหรือหุ้นตัวไหนสามารถปรับตัวได้ดี เพราะนี่จะเป็นหุ้นที่จะกลับมา “ดีเหมือนเดิมหรือดียิ่งขึ้นไปอีกหลังวิกฤต””

หุ้นกู้เอกชน

เป็นปกติที่ในช่วงวิกฤตนักลงทุนจะเคลื่อนย้ายเงินออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ทั้งหุ้นสามัญ, หุ้นกู้เอกชน และ สินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ แต่สำหรับวิกฤตไวรัสรอบนี้ นักลงทุนเกิดอาการตื่นตระหนกเทขายตราสารหนี้เอกชนอย่างรุนแรง (Panic Sell) เนื่องจาก COVID-19 สร้างความเสียหายถึงระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ นักลงทุนต้องการรักษาสภาพคล่องของตัวเองด้วยการถือเงินสดมากกว่าปกติ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหุ้นกู้ (Liquidity Risk) จึงสูงขึ้น ประกอบกับ นักลงทุนกังวลว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ความตื่นตระหนกแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนถึงขั้นมีข่าวการปิดกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ราคาหุ้นกู้ที่แม้จะมีคุณภาพดีก็จะยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่นักลงทุนควรได้รับจะยิ่งตกต่ำลง และ ความตื่นตระหนกอาจลามไปถึงสภาพคล่องของตลาดการเงินอื่นๆ อันจะเกิด “ปัญหาเชิงระบบ” ในระบบการเงินของไทยตามมาได้

กลไกการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF

เพื่อแก้ปัญหานี้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจัดตั้ง กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี หรือ Investment Grade Bond ที่ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564 เป็นการเติมทุนส่วนที่ขาดให้แก่บริษัทที่ต้องการระดมทุนด้วยตราสารหนี้ เพื่อการันตีว่าตลาดตราสารหนี้เอกชนจะมีเสถียรภาพ รวมทั้งสภาพคล่องในการซื้อขาย จนกว่าภาวะวิกฤตจะผ่านพ้นไป และ ตลาดตราสารหนี้ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ

ทองคำ

ทางด้านทองคำที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามวิกฤต ยามภาวะเศรษฐกิจชะงักงันทองคำมักเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ในช่วงที่ผ่านมา Gold spot price ถูกผลักดันขึ้นมาจนราคาทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 7 ปี ที่ 1,747.85 USD/oz โดยมีปัจจัยผลักดันราคา 4 ประการ คือ1) การชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากการระบาดของ COVID-19 ช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย2) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจปริมาณมหาศาล ที่ทำให้นักลงทุนกังวลภาวะเงินเฟ้อ และ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสการถือครองทองคำลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มผลตอบแทนจากทองคำในอีกด้าน3) ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย4) กระแสเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุนทองคำอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกมีการถือครองทองคำเป็นปริมาณมากที่สุดในประวัติการณ์ สะท้อนความต้องการทองคำในหมู่นักลงทุนรายใหญ่และ Hedge Fund ยังคงแข็งแกร่ง

ปริมาณการถือครองทองคำ Gold-backed ETFs ลงทุน หลัง COVID

สำหรับคาดการณ์ตลาดทองคำหลังวิกฤตไวรัส คุณพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนว จำกัด เห็นว่าแม้ไวรัส COVID-19 จะผ่านพ้นไป แต่ปัจจัยต่างๆที่หนุนราคาทองคำยังคงอยู่ ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย และ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งอาจผลักดันราคาทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำทำราคาสูงสุดใหม่ที่ 1,800 USD/oz ก็เป็นได้ - “นักวิเคราะห์คาดว่าหากสถานการณ์ COVID-19 รุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกนี้ และควบคุมได้ภายในช่วงไตรมาสที่สอง มีโอกาสจะเห็นทองคำในไตรมาสสองกลับขึ้นไปที่ 1,550 USD/oz ขณะที่ไตรมาสสามคาดอยู่ที่ 1,600 USD/oz และปลายปีช่วงไตรมาสที่สี่ที่ 1,800 USD/oz”

อสังหาริมทรัพย์

ส่วนของตลาดที่อยู่อาศัย โดยข้อมูลจาก คุณ วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลานี้ตลาดที่อยู่อาศัยฝืดเคือง ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผู้ประกอบการมีสต็อกที่อยู่อาศัยเหลือขาย กว่า 300,000 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 10% และ เมื่อโดนกระทบซ้ำจากสถานการณ์ COVID-19 ในปีนี้ ที่ทำให้ประชาชนระมัดระวังในการก่อหนี้ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 2020 มีมูลค่าลดลงมากกว่า 700,000 ล้านบาท หรือลดลงกว่า -14% ถึง -17% ซึ่งถือเป็นการโอนหน่วยกรรมสิทธิ์ที่น้อยที่สุดในรอบ 5 ปี การเกิดอุปทานส่วนเกินในตลาด และ อุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่ลดลงนี้ สะท้อนภาพความฝืดเคืองของตลาดที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจนในฟากฝั่งของตลาดอาคารสำนักงานก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากพฤติกรรมการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานที่เปลี่ยนไป โดย คุณรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า ก่อนไวรัสระบาด หลายบริษัทมีการทดลอง ทำงานนอกสำนักงาน(Remote Working) หรือ ทำงานจากบ้าน (Work from Home) อยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ COVID-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้แทบทุกบริษัทต้องหันมาใช้การทำงานจากบ้านไปโดยปริยาย ซึ่งจากพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในระยะยาวนี้เอง บริษัทที่ให้บริการ Cloud Platform และ Co-working Space จะเป็นธุรกิจแรกๆที่ได้รับประโยชน์จาก New normal นี้ - “หลายองค์กรจะมองหาสำนักงานย่อยและแพลต์ฟอร์มบนคลาวด์ เพื่อเป็นแผนสำรองให้มั่นใจว่าธุรกิจจะไม่หยุดชะงักหากไม่สามารถเข้าสำนักงานใหญ่ได้ co-working space ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทสามารถเช่าพื้นที่ได้ตามต้องการเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ไม่คาดคิด”

ลงทุน ในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง หลัง COVID-19

ตราสารหนี้รูปแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงบริษัท SMEs และ Startup ที่มีศักยภาพในการเติบโต สร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนรูปแบบเดิมอย่าง หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง จะมีพัฒนาการต่อไปอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สำหรับคำถามนี้ คุณวรพล พรวาณิชย์ CEO และผู้ก่อตั้งเพียร์ พาวเวอร์ บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดมทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงรายแรกของประเทศไทย ได้อธิบายแนวทางการพัฒนาคุณภาพหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากการลงทุนสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน โดยมี 3 แนวทางดังนี้

แนวทางพัฒนาคุณภาพ Crowdfunding bonds ลงทุน หลัง COVID

1) การเพิ่มคุณภาพธุรกิจผู้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ด้วยการคัดกรองธุรกิจที่จะเข้าสู่แพลตฟอร์มอย่างเข้มข้น รวมทั้งทดสอบความสามารถการบริหารกระแสเงินสดในภาวะวิกฤต (Stress test Cashflows)2) การเฝ้าระวังและตรวจสอบเชิงรุก โดยไม่ได้ตรวจสอบเพียงแค่การดำเนินการในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังดูแผนการธุรกิจประกอบกับการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม วัดความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป3) การเพิ่มความน่าเชื่อถือทางเครดิต ด้วยการพัฒนารูปแบบสินทรัพย์ลงทุนบนแพลตฟอร์ม โดยมีแผนการที่จะออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่มีหลักประกัน รวมทั้งการร่วมมือกับบริษัทประกันเพื่อมารับประกันความเสี่ยงของเจ้าของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ก็คือชิ้นส่วนเล็กๆของจิ๊กซอว์ที่นำมาต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักลงทุนทุกท่านได้มองเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจและโลกการลงทุนที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตวิกฤต COVID-19 ที่กำลังผ่านพ้นไป จะนำมาทั้งโอกาสและอุปสรรค สินทรัพย์แต่ละประเภทล้วนมีการตอบรับที่แตกต่างกัน สุดท้ายสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การลงทุนของท่านเป็นไปอย่างราบรื่นก็คือ การศึกษาในสินทรัพย์ที่ท่านลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และ การลงทุนที่เป็นระบบมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้พอร์ทของท่านแข็งแกร่งแม้ในยามวิกฤตและเติบโตได้ในยามที่เฟื่องฟูครับ

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร