Perspectives

3 ขั้นตอนการประเมิน ก่อนลงทุนในธุรกิจ

by
May 22, 2020

3 ขั้นตอนการประเมิน ก่อนลงทุนในธุรกิจ

ในอดีตที่ผ่านมา การลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้อยู่ในช่วงกำลังเติบโตขยายกิจการ ทำให้สถานะการเงินของบริษัทยังไม่ตรงตามเงื่อนไขที่จะสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง SET หรือ mai ซึ่งเป็นตลาดการลงทุนที่เป็นทางการได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงจำเป็นต้องติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรงนอกตลาด ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้ประกอบการ และไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้ รวมทั้งการระดมทุนมักต้องใช้เงินจำนวนหลายล้านบาท ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่มีเงินเพียงพอที่จะร่วมลงทุนได้แต่ด้วยพัฒนาการของการลงทุนรูปแบบใหม่อย่าง Crowdfunding เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีศักยภาพได้มากขึ้น ด้วยข้อมูลของบริษัทที่ถูกคัดกรองและตรวจสอบมาอย่างดีจากผู้ให้บริการ Crowdfunding Platform รวมทั้งใช้เงินลงทุนตั้งต้นเพียงแค่หลักหมื่น จึงทำให้การลงทุนกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวนักลงทุนอีกต่อไปเพื่อสอดรับกับเทรนด์การลงทุนใหม่นี้ เพียร์ พาวเวอร์ จึงขอช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุนที่อยากจะคว้าโอกาส เรียนรู้ไปด้วยกันกับบทความ “3 ขั้นตอนการประเมิน ก่อนลงทุนในธุรกิจ ที่ควรรู้” แล้วการลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ปัจจัย ประเมิน ธุรกิจ

ขั้นตอนที่ 1 : วิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจ

การลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ หากธุรกิจไปรอด และเติบโตต่อก็จะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่สูงมาก แต่หากธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนนักลงทุนก็อาจจะขาดทุนหนักเช่นกัน ดังนั้นในขั้นแรกเราควรวิเคราะห์ศักยภาพและความเป็นไปได้ของธุรกิจที่ต้องการลงทุนให้ดี โดยศึกษาข้อมูลจาก หนังสือชี้ชวน (Prospectus) ซึ่งสามารถแบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 ส่วน ได้แก่ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และ การวิเคราะห์เชิงปริมาณ

วิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจ

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis)

เป็นการวิเคราะห์คุณสมบัติของบริษัท หรือธรรมชาติของธุรกิจนั้น เพื่อให้นักลงทุนได้รู้ความเป็นมาของบริษัท ลักษณะการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งทำความรู้จักผลิตภัณฑ์บริการ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และโครงสร้างรายได้ต้นทุน ที่บริษัทมีความโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง โดยสามารถดูได้จากหัวข้อต่าง ๆ ในหนังสือชี้ชวนดังนี้

  • ภาพรวมธุรกิจ : เป็นการอธิบายถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ผลงานเด่นและการสั่งสมประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทต้องการตอบสนอง รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นคุณค่าหลักของธุรกิจ
  • ผลิตภัณฑ์และบริการ : ซึ่งแสดงข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลระดับอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มอุตสาหกรรม หรือปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม ไปจนถึงข้อมูลในระดับ ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเอง ได้แก่ ปัญหาหลักของกลุ่มลูกค้าและคุณค่าหลักของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย รายละเอียดกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดที่บริษัทมี จุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่ง รวมทั้งชื่อเสียงในแบรนด์ของบริษัท
  • รายได้และค่าใช้จ่าย : ในส่วนนี้นักลงทุนจะรู้ลักษณะ รายได้ของบริษัท ว่ามีส่วนประกอบมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการใดบ้าง กิจกรรมใดเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท ปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโต รวมทั้งลักษณะสัญญาทางธุรกิจซึ่งเป็นที่มาของรายได้ อีกส่วนหนึ่งคือ ข้อมูลต้นทุนของบริษัท ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และ โครงสร้างต้นทุนต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสินค้าหรือบริการ

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis)

เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงตัวเลข ซึ่งนักลงทุนสามารถนำตัวเลขชี้วัดเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่นในอุตสาหกรรม หรือ เทียบกับผลงานของบริษัทเองในอดีต เพื่อพิจารณาความได้เปรียบในการแข่งขัน และพัฒนาการการบริหารธุรกิจของบริษัทโดยข้อมูลที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ความเข้มแข็งของสถานะทางการเงินที่วัดได้จากการวิเคราะห์ตามแนวดิ่ง (Common-size Analysis) จุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจากการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis) และ การเติบโตของธุรกิจจากการวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis) ซึ่งข้อมูลที่จะนำมาตั้งต้นในการวิเคราะห์ นักลงทุนสามารถหาได้จากหนังสือชี้ชวนในหัวข้อต่อไปนี้

  • งบดุล : เป็นงบที่แสดงฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ออกงบนั้น ซึ่งประกอบด้วย
  1. มูลค่าของสินทรัพย์ ที่บริษัทถือครองอยู่ ทั้งส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนที่เป็นสายป่านในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ซึ่งบ่งบอกมูลค่า ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัท
  2. มูลค่าของหนี้สิน ทั้งหนี้สินระยะสั้น หรือ เครดิตทางการค้าที่บริษัทได้รับจากซัพพลายเออร์ และ หนี้สินระยะยาว ที่บริษัทกู้ยืมเงินมาเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ
  3. มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยส่วนของ หุ้นสามัญ เป็นเงินทุนที่เจ้าของกิจการลงเงินตั้งต้นเพื่อดำเนินธุรกิจ และ กำไร (ขาดทุน) สะสม ที่เป็นผลลัพธ์ของการดำเนินงานในอดีตสะสมทบมาจนถึงปัจจุบัน
  • งบกำไรขาดทุน : แสดงถึงผลการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ออกงบนั้น ซึ่งจะบอกมูลค่าของ
  1. รายได้ ที่บริษัทสร้างขึ้นมาได้จากการประกอบธุรกิจ
  2. ต้นทุนขาย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ผันแปรมากน้อยตามกิจกรรมการขายหรือการให้บริการที่เกิดขึ้น
  3. ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ของบริษัท
  4. ภาษีเงินได้ ที่บริษัทต้องชำระให้แก่ภาครัฐ
  5. ต้นทุนทางการเงิน หรือก็คือ ดอกเบี้ยที่บริษัทต้องจ่ายชำระให้แก่เจ้าหนี้
  • ตัวชี้วัดสำคัญ : จะเป็นส่วนสรุปภาพรวมธุรกิจออกมาในเชิงเปรียบเทียบตัวเลข ซึ่งนักลงทุนจะสามารถเห็นแนวโน้มของผลประกอบการ และอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ย้อนหลัง ได้อย่างรวดเร็วในหัวข้อนี้

ขั้นตอนที่ 2 : ประเมินความสามารถของทีมงาน

นอกเหนือจากศักยภาพ และ ความเป็นไปได้ของธุรกิจแล้ว ผู้บริหารและทีมงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความอยู่รอดของบริษัท นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการประเมิน ความสามารถและประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจของทีมงาน รวมทั้งเป้าหมายและความเชื่อที่มีร่วมกันของคนในบริษัท เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เป็นตัวตัดสินว่าบริษัทจะล้มหายหรือเติบโตต่อไปในอนาคตโดยนักลงทุนสามารถทำความรู้จักกับ ผู้บริหารและทีมงาน ได้เบื้องต้นจากใน หนังสือชี้ชวน หรือ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก บทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ของบริษัท และ สื่อสังคมออนไลน์ ก็จะทำให้นักลงทุนได้รู้จักกับทีมงานของบริษัทมากยิ่งขึ้น

ประเมิน ธุรกิจ จาก ทีมงาน
  • การบริหารงานและทรัพยากรบุคคล : เป็นส่วนของข้อมูลในหนังสือชี้ชวนซึ่งจะบอกข้อมูล จำนวนพนักงาน โครงสร้างการบริหารงานขององค์กร หน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละท่าน รวมทั้งประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของผู้บริหารองค์กรอีกด้วย

ทั้งนี้นักลงทุนอาจใช้เวลาในการหาข้อมูลเชิงลึกของ บุคคลสำคัญ (Key man) ในองค์กร จากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น LinkedIn, Facebook หรือ Twitter เพราะในสื่อสังคมออนไลน์ เราจะได้เห็นแนวคิดการทำงาน และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้บริหารแต่ละท่าน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมั่นใจกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การนำของผู้บริหารท่านนั้น ๆ ได้มากขึ้นนั่นเอง

  • เป้าหมายและความเชื่อขององค์กร : ธุรกิจที่เกิดใหม่ล้วนต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายในการสร้างให้บริษัทเกิดขึ้นมาจนอยู่รอด และเติบโตพอจนตั้งตัวได้ ดังนั้น เป้าหมายและความเชื่อ ของผู้บริหารและทีมงาน จะเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไป และก้าวผ่านความยากลำบากจนเติบโตขึ้นได้ ซึ่งนักลงทุนอาจค้นหาข้อมูลเหล่านี้ได้จาก สื่อสังคมออนไลน์ของ Key man ของบริษัท รวมทั้งบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อพิจารณาพลังของความเชื่อที่ผู้บริหารและทีมงานมีต่อบริษัทของพวกเขา

ขั้นตอนที่ 3 :พิจารณาความน่าลงทุนของหลักทรัพย์

เมื่อนักลงทุนเล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจ และ เชื่อมั่นในทีมงานของบริษัทแล้ว ในขั้นตอนสุดท้ายนักลงทุนต้องพิจารณาความน่าลงทุนของหลักทรัพย์ที่บริษัทนำเสนอเพื่อตัดสินใจว่าพร้อมจะลงทุนกับบริษัทนี้หรือไม่ โดยพิจารณาจาก ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวัง ควบคู่กับความเสี่ยงที่รับได้ และพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ว่าตอบโจทย์กับเป้าหมายทางการเงินของนักลงทุนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดูรายละเอียดได้จากในหนังสือชี้ชวนทั้งหมด

พิจารณาความน่าลงทุนของหลักทรัพย์
  • ข้อมูลที่สำคัญของหุ้นกู้ : ในหัวข้อนี้จะแสดงข้อมูลภาพรวมของหลักทรัพย์ที่บริษัทเสนอให้แก่นักลงทุน โดยมีข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ ได้แก่
  1. ประเภทตราสาร สำหรับ เพียร์ พาวเวอร์ นำเสนอตราสาร หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ซึ่งนักลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ ได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินต้น ตามงวดเวลาที่กำหนด โดยควรศึกษาลักษณะพิเศษของตราสารเพิ่มเติม เช่น ลำดับสิทธิในการเรียกร้องชำระหนี้กรณีที่บริษัทปิดกิจการ เป็นต้น
  2. อัตราดอกเบี้ย ที่บริษัทจะจ่ายตอบแทนให้แก่นักลงทุนในแต่ละงวด โดย หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงของ เพียร์ พาวเวอร์ มีอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 8-22% ต่อปี
  3. ระยะเวลาการผ่อนชำระหุ้นกู้ หรือก็คือ ระยะเวลาที่เราต้องนำเงินไปลงทุนในตราสารนั้น ๆ ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 24 เดือน
  • ความเสี่ยงของบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ : ข้อมูลในส่วนนี้จะระบุความเสี่ยงลักษณะต่าง ๆ ที่บริษัทเผชิญอยู่ ซึ่งนักลงทุนควรให้ความสำคัญในการประเมินโอกาสเกิดและผลกระทบที่ตามมาจากความเสี่ยงเหล่านี้ให้ดี เพราะ หากเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงขึ้นจริง อาจกระทบกับความมั่นคงของบริษัท และ ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วนักลงทุนอาจขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทก็เป็นได้
  • ประวัติการชำระหนี้ : เป็นข้อมูล ประเภท และ วงเงิน ของหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการชำระของ บริษัท/ผู้ถือหุ้นหลัก รวมทั้งพฤติกรรมการชำระหนี้ของบริษัทในอดีตที่ผ่านมา
  • ตารางการผ่อนชำระ : จะนำเสนอข้อมูลการผ่อนชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์คืนแก่นักลงทุน ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องชำระคืนตามงวดเวลาและมูลค่าที่กำหนดตามตาราง สำหรับ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ของ เพียร์ พาวเวอร์ มีการกำหนดงวดการชำระหนี้เป็น รายเดือน และ รายไตรมาส ซึ่งนักลงทุนควรเลือกงวดชำระให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง

สุดท้ายนี้ การศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ลงทุน ตัดสินใจโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน และพิจารณาธุรกิจตาม ขั้นตอนการประเมิน ดังกล่าว ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนให้กับทุกท่านได้เป็นอย่างดีครับ

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร