Perspectives

หุ้นกู้สีเขียวและหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม

by
December 3, 2019

หุ้นกู้ดูแลโลก หุ้นกู้สีเขียวและหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม

ทุกการลงทุนย่อมต้องมีผลตอบแทน แต่ผลตอบแทนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป เราสามารถลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเป็นคุณค่าอื่นด้วยก็ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีสู่คนรุ่นหลังมากกว่าเงินตอบแทนระยะสั้นๆ ซึงมีการลงทุนในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ในลักษณะของหุ้นกู้ คือการออกหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) และหุ้นกู้เพื่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Bond (EIB)

ความแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไป

หุ้นกู้ที่เราคุ้นเคย จะเป็นลักษณะของหุ้นกู้เพื่อธุรกิจ คือมีบริษัทออกหุ้นกู้มาเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินลงทุนที่ได้ไปใช้ในธุรกิจ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะจ่ายผลตอบแทนตามสัญญา และจ่ายเงินต้นเพื่อไถ่ถอนในงวดสุดท้าย หุ้นกู้จึงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ซึ่งนักลงทุนจะเลือกถือหุ้นกู้เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ในขณะที่ทั้ง Green Bond และ EIB เป็นหุ้นกู้ที่ระดมทุนโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินลงทุนนั้นมาใช้จ่ายในธุรกิจโดยตรง แต่เป็นการระดมทุนเพื่อความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนแทน

หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond)

เมื่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายฝ่ายต่างตระหนักถึงความสำคัญ การสนับสนุนให้เกิดโครงการเพื่อลดภาวะโลกร้อนจึงเกิดขึ้นทั่วโลก สถาบันการเงินต่างๆ ก็มีนโยบายสนับสนุนเช่นกัน โดยมีการปล่อยกู้หรือระดมทุนให้กับโครงการที่สามารถลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เรียกว่าตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) โดยการจะออก Green Bond ได้ บริษัทต้องมีองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ

  • เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ในสิ่งแวดล้อม
  • ได้รับการตรวจสอบ ประเมิน และรับรองคุณสมบัติโดยหน่วยงานภายนอกที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน
  • มีการบริหารจัดการการเงินด้วยความโปร่งใส และมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือ
  • มีการรายงานให้กับนักลงทุทราบถึงการดำเนินงาน ความคืบหน้า และผลการดำเนินงานจนกว่าจะจบโครงการ

Green Bond ผู้เกี่ยวข้องและผลตอบแทน

ผู้ออก Green Bond จะเป็นใครก็ได้ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไข คือมีโครงการที่ทำเพื่อลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานภายนอก สามารถใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนมาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสามารถรายงานให้นักลงทุนทราบการดำเนินงานได้จนจบโครงการ

ผู้ถือ Green Bond หรือนักลงทุน ต้องมีคุณสมบัติตามแต่ว่า Green Bond ที่ออกมานั้นเสนอขายให้ใคร ซึ่งมีได้ทั้งนักลงทุนทั่วไป และขายแบบจำกัดคุณสมบัติ

ผลตอบแทน  Green Bond จ่ายผลตอบแทนแทบไม่ต่างกับหุ้นกู้ทั่วไป โดยงานวิจัยพบว่าไม่มีความแตกต่างในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมีแนวโน้มที่ผลตอบแทนของ Green Bond จะมีโอกาสต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งนักลงทุนรับได้กับช่วงผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเล็กน้อยดังกล่าว เพราะมีความรู้สึกว่าได้ช่วยสิ่งแวดล้อมเข้ามาทดแทน ในขณะเดียวกันก็มีหุ้นกู้สีเขียวที่ไม่จ่ายผลตอบแทนเป็นตัวเงินในระยะสั้น หรือไม่จ่ายเลย เพราะถือว่าจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมไปแล้วอยู่ด้วย

Apple Green Bond กรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ใครบ้างจะไม่รู้จัก Apple บริษัทเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Creative and Innovative จึงไม่แปลกหากบริษัทแห่งนี้ จะมองไกลถึงความยั่งยืนของสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้องการส่งต่อแนวคิดดังกล่าวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสู่บริษัทอื่นๆ ทั่วโลก Apple จึงดำเนินการออกหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) มูลค่ารวม 2,500 ล้านเหรียญ ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2016 เพื่อระดมทุนมูลค่า 1,500 ล้านเหรียญ และระดมทุนอีกครั้งในปี 2017 มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ เป็นหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาถือ 12 ปี ไม่จ่ายผลตอบแทน แต่มีค่า Yield ที่ 0.032% ต่อปี Green Bond

ในปี 2016 ของ Apple คือการสร้าง “ครั้งแรก” ขึ้น 2 อย่าง คือ 1. เป็นหุ้นกู้สีเขียวที่ออกโดยบริษัทเทคโนโลยีบริษัทแรกในอเมริกา และเป็นหุ้นกู้สีเขียวใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ ในกระบวนการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทต่างๆ โดยมี Apple เป็นผู้บุกเบิก ซึ่งจะใช้เงินทุนจากการระดมทุนครั้งนี้กับโครงการที่สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดในการลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ ที่ Apple กำหนดไว้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

  • อาคารสีเขียว(Green Building)
  • พลังงานหมุนเวียน(Energy Renewable)
  • การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ(Energy Efficiency)
  • การอนุรักษ์น้ำ(Water Conservation)
  • การหมุนเวียนขยะ(Waste Diversion)

ซึ่งจากรายงานในปี 2018 พบว่า มีโครงการที่ได้รับทุนจาก Green Bond ดังกล่าว 28 โครงการ โดยมี 8 โครงการ เป็นโครงการของปีงบประมาณ 2018 และช่วยลดการใช้พลังงานได้ 2,077,000 กิโลวัตต์ และพลังงานด้านอื่นอีก 29,000 หน่วย

Green bond หุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม

Environmental Impact Bond (EIB)

คำว่า “สิ่งแวดล้อม” ไม่ได้มีความหมายเฉพาะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น แต่มันหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เช่นผู้คน สังคม อีกด้วย ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมถึงผู้คนไปในเวลาเดียวกัน นอกจากแนวคิดที่ดีและเป็นประโยชน์แล้ว แหล่งเงินทุนที่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงแนวคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากบริษัทต่างๆ จะต้องการเงินทุนเพื่อดำเนินธุรกิจ หน่วยงานของรัฐที่ดูแลบริการสาธารณะและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในแต่ละประเทศก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ด้วยขนาดของความรับผิดชอบที่มีผลกระทบต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ทำให้การพัฒนาสังคมและระบบต่างๆ ในเมืองมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จนไม่สามารถจ่ายได้ด้วยงบประมาณที่ถูกจัดสรรมาในแต่ละปี ตราสารหนี้อีกชนิดหนึ่งจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อระดมทุนให้กับโครงการขนาดใหญ่ อันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คน เรียกว่า Environmental Impact Bond (EIB)ซึ่ง EIB จะเป็นหุ้นกู้ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับกว้าง และต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อผลักดันให้โครงการดังกล่าวสำเร็จ โดยผลตอบแทนให้นักลงทุนจะเป็นตัวเงินก็ได้ แต่โดยมากเป็นลักษณะของการจ่ายเพื่อให้เกิดความสำเร็จ (Pay for Success) คือ ทำเพื่อให้โครงการนี้สามารถสร้างผลสำเร็จต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนให้ได้มากกว่า

EIB ผู้เกี่ยวข้องและผลตอบแทน

ผู้ออก EIB ในปัจจุบันมักเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องการแก้ปัญหาระดับประเทศ เช่นปัญหาด้านโครงสร้างบริการสาธารณะ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีกินดีของประชากรในประเทศที่งบประมาณจากรัฐบาลที่ได้รับมาไม่เพียงพอผู้ถือ Green Bond หรือนักลงทุน ต้องมีคุณสมบัติตามแต่ว่า EIB ที่ออกมานั้นเสนอขายให้ใคร ซึ่งมีได้ทั้งนักลงทุนทั่วไป และขายแบบจำกัดคุณสมบัติ ผลตอบแทน EIB อาจจะจ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุนจะเป็นตัวเงินก็ได้ แต่โดยมากเป็นลักษณะของการจ่ายเพื่อให้เกิดความสำเร็จ (Pay for Success) คือ ทำเพื่อให้โครงการนี้สามารถสร้างผลสำเร็จต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนให้ได้ต่อไป

DC Water Environmental Impact Bond กรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ต้นกำเนิด EIB มาจากวอชิงตัน ดีซี ในปี 2018 เมื่อการประปาของกรุงวอชิงตันต้องการแก้ปัญหาระบบบำบัดน้ำเสียที่เกิดความเสียหายจากพายุฝนถล่ม ส่งผลให้น้ำเสียกว่า 2,000 ลูกบาสก์ลิตรรั่วไหลออกมาปนเปื้อนกับแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและประชากรชาววอชิงตัน โดยการซ่อมแซมระบบน้ำใหม่นั้นมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก เกินกว่างบประมาณที่ได้รับมาทั้งหมด สำนักผังเมืองจึงคิดวิธีใหม่ คือการสร้างพื้นที่รับน้ำในพื้นที่ชุมน้ำเพื่อเพิ่มกำลังการรับน้ำฝนให้กับเมืองทางการประปาของวอชิงตัน ดีซี จึงออกหุ้นกู้ EIB ขึ้น ระดมทุนจากธนาคารใหญ่ 2 แห่งคือ Goldman Sachs Urban Investment Group และ Calvert Foundation ในมูลค่า 25 ล้านเหรียญ เพื่อดำเนินการตามแผนให้สำเร็จ โดยผลตอบแทนเป็นแบบ “Pay for Success” คือจะมีการประเมินในปี 2021 ว่าผลการดำเนินการของโครงการดังกล่าวเป็นอย่างไร หากสามารถแก้ปัญหาน้ำได้น้อยกว่า 19% ทางผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 2 แห่ง จะจ่ายเพิ่มอีก 3 ล้านเหรียญเพื่อทำโครงการใหม่ที่แก้ปัญหาน้ำได้ แต่หากสามารถแก้ปัญหาน้ำได้มากกว่า 41% การประปาของ DC ต้งจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ 3 ล้านเหรียญ หุ้นกู้ดังกล่าวมีกำหนดไถ่ถอนในปี 2046โมเดลการออกหุ้นกู้แบบ EIB กลายเป็นโมเดลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างของเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบัลติมอร์ โอไฮโอ หรือ แอตแลนตา ที่เตรียมระดมทุนตามมาเช่นกัน

ความแตกต่างระหว่าง Green Bond กับ EIB

ความแตกต่างระหว่าง Green Bond กับ Environmental Impact Bond

หุ้นกู้ทั้ง 2 ประเภทต่างกันในแง่เงื่อนไขการออกหุ้นกู้และการวัดผล โดย Green Bond จะมุ่งไปที่การช่วยเหลือสภาพแวดล้อม ลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ โดยต้องมีการรายงานความคืนบหน้าเป็นตัวเลขของการลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ พลังงาน หรือทรัพยากรที่ลดลงให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ในขณะที่ EIB มีตัวชี้วัดเป็นสภาพแวดล้อมหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีวิธีการวัดผลที่แตกต่างออกไป คุณค่าจากหุ้นกู้ทั้งแบบ Green Bond และ EIB ไม่ได้เป็นเพียงผลสำเร็จที่วัดได้เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่เพียร์ พาวเวอร์เห็นถึงแรงบันดาลใจในการร่วมแรงร่วมใจของคนรุ่นใหม่ ในการรักษาโลกใบนี้ให้ยั่งยืนจากหลายฝ่าย ที่ตระหนักว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือโครงสร้างสังคมให้แข็งแรงนั้นไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป เราสามารถร่วมดูแลได้ เพื่อผลตอบแทนเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของคนรุ่นถัดไป โดยอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากหุ้นกู้เหล่านี้เอง

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร