Green Bond มูลค่าสูงโดย ABN AMRO (เนเธอร์แลนด์)
Green Bond หรือ ตราสารหนี้สีเขียว คือ ตราสารหนี้ เพื่อสิ่งแวดล้อม มีจุดประสงค์ในการออก เพื่อลดคาร์บอนฟุตปรินต์และความยั่งยืนเป็นหลัก โดยผู้ออกตราสารหนี้จะระดมทุนเพื่อโครงการต่าง ๆ ที่มีแนวทางสอดคล้องกับการลดคาร์บอนฟุตปรินต์ได้ในปริมาณที่กำหนดไว้ โดยมีการรายงานผลสำเร็จจากโครงการนั้นให้กับผู้ถือตามระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องมีองค์กรภายนอกที่ได้รับความเชื่อถือในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์ ขอยกตัวอย่าง ABN AMRO แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพราะมีความน่าสนใจ และเป็นธนาคารแห่งแรกในโลกที่ออกตราสารหนี้สีเขียวระดมทุนเป็นจำนวนเงินมาก โดยมีจุดประสงค์เพื่อโครงการอาคารสีเขียวต่าง ๆ
การออก Green Bond ของ ABN AMRO
เป็นการระดมทุนเพื่อโครงการอาคารสีเขียวที่มุ่งลดคาร์บอน ฟุตปรินต์ เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางของสัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ United Nation Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) โดย ABN AMRO เป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกตราสารหนี้สีเขียวซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 350 ล้านเหรียญยูโรในรอบแรก เมื่อเดือนมิถุนายน 2015 ก่อนจะเพิ่มเป็น 500 ล้านยูโร เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุน โดยมีกำหนดไถ่ถอน 7 ปี ถือเป็นตราสารหนี้ระยะยาว
เงื่อนไขของ ABN AMRO
โดยทั่วไปแล้ว การออกตราสารหนี้สีเขียว ในแต่ละครั้งต้องมีองค์ประกอบ 4 ด้าน เพื่อสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบ ซึ่งเงื่อนไขของ ABN AMRO คือ
กระบวนการใช้งาน Use of Proceeds
เป็นการระดมทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุน รีไฟแนนซ์ โดยอาจให้เงินทั้งก้อนหรือบางส่วนกับโครงการที่มีจุดประสงค์ ดังต่อไปนี้
- โครงการลดการใช้พลังงาน
- โครงการเพื่อพลังงานหมุนเวียน
- โครงการเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวางระบบเพื่อประหยัดพลังงาน
กระบวนการประเมินและเลือกสรรค์ Process For Evaluation and Selection
โครงการที่สมัครรับเงินทุนได้ ต้องเป็นโครงการที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามการประเมินความเสี่ยงของ ABN AMRO Sustainability Risk Framework โดยต้องเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และสังคม นอกจากนี้ต้องมีคุณสมบัติคือ
- สามารถรายงานผลการลดคาร์บอนในธุรกิจได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างน้อย 1 ไตรมาสย้อนหลัง
- ได้รับการตรวจสอบรับรองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติถูกต้องหรือมีความเป็นไปได้
- จะได้รับการจัดสรรเงินทุนอย่างน้อยทุกไตรมาส
กระบวนการจัดการ Management Proceeds
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทาง ABN AMRO ต้องมีการแจกแจงกระบวนการจัดสรรเงินระดมทุนที่ได้ให้กับโครงการต่าง ๆ โดยมีองค์กรภายนอกที่ตรวจสอบได้เป็นตัวกลาง รวมถึงมีการตรวจประเมินคาร์บอน ฟุตปรินต์ที่ลดลงจากโครงการเหล่านั้น โดย Oekom ซึ่งได้รับการรับรองตาม Climate Bond Initiative องค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อตรวจสอบของตราสารหนี้สีเขียวโดยเฉพาะ
การรายงานโดยองค์กรภายนอก External Reporting
เป็นรายงานการตรวจสอบตราสารหนี้สีเขียวโดยองค์กรภายนอก แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือรายงานการใช้งาน Use of Proceedsรายงานที่บอกถึงการใช้เงินระดมทุนในทุกไตรมาส ซึ่ง Global Treasury จะเป็นฝ่ายที่ช่วยสนับสนุนการออกรายงานดังกล่าว ซึ่งต้องมีเนื้อหาครอบคลุม 3 ด้านต่อไปนี้
- การกระจายเงนในแต่ละสินทรัพย์ รวมถึงการจัดสรรโดยประเภทสินทรัพย์
- การทำรายการตราสารหนี้สีเขียวทั้งหมด
- การจัดการกับเงินระดมทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรร
รายงานผลกระทบ Impact Reportingเป็นรายงานที่ออกมาปีละครั้ง โดยบอกถึงผลการลดคาร์บอนฟุตปรินต์ในแต่ละโครงการ วิธีคิดคำนวณ โดยมีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นผู้ให้คำปรึกษา และจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อผู้ถือตราสารหนี้สีเขียว และเผยแพร่สู่สาธารณะ เช่นเว็บไซต์ จดหมายข่าว เป็นต้น
ความสำเร็จของ ABN AMRO
จากรายงานเมื่อเดือนเมษายน 2018 ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดย ABN AMRO สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้มากถึง 50,000 ตัน หรือเท่ากับการลดการใช้รถยนต์ถึง 10,000 คัน ในระยะเวลา 3 ปีที่ออกตราสารหนี้ดังกล่าว และ ตราสารหนี้สีเขียวนี้ ยังเป็นตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยธนาคารซึ่งมีมูลค่ารวมสูงที่สุดในตลาดอยู่ ณ ปัจจุบันทั้งความต้องการและผลสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมของตราสารหนี้สีเขียว ทำให้ตลาดตราสารหนี้สีเขียวเติบโตขึ้นถึง 12 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านยูโร แสดงให้เห็นถึงความต้องการของนักลงทุน ที่ไม่เพียงต้องการผลตอบแทนเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ยังต้องการผลตอบแทนที่จับต้องได้เป็นกำไรคืนสู่สิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว