Success Strategy

รวมเรื่อง ภาษีธุรกิจ สำหรับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในปี 2021 ต้องรู้อะไรบ้าง

by
January 22, 2021

รวมเรื่องภาษีธุรกิจ สำหรับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในปี 2021

ภาษี เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่เรามักพบปัญหาเมื่อภาษีมีหลายแบบจนเราไม่แน่ใจว่าธุรกิจของเราจัดอยู่ในภาษีประเภทใด ผู้ประกอบการที่ดีจึงควรศึกษาเรื่องนี้ให้มั่นใจ เพราะนอกจากความรู้เรื่องภาษีจะช่วยให้เราไม่มีปัญหาด้านบัญชีแล้ว ยังช่วยให้บริษัทของเราสามารถลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย บทความนี้จะพาเราไปทำความรู้จักภาษีธุรกิจที่เราควรรู้ โดยเรียบเรียงมาจากข้อมูลของทาง PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ครับภาษีที่เราต้องจ่ายเวลาทำธุรกิจจัดเป็นภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆ ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้ ไม่เหมือนกับภาษีทางอ้อมที่รัฐเก็บจากผู้บริโภคแทนผู้ขาย โดยภาษีทางตรงแบ่งออกเป็นหลายประเภท ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจมีดังต่อไปนี้

ภาษี-ลดหย่อนภาษี 2564-2

1.ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้ ก็คือภาษีที่เก็บจากคนที่มีรายได้ แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล โดยจะขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนบริษัทของเรา1.1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเราทำธุรกิจโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล เราก็ต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ยื่นภาษี 2 ครั้งในแต่ละปี คือภาษีครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด.94 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.90 แตกต่างจากคนที่เป็นพนักงานเงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือน ซึ่งจะยื่นครั้งเดียวเป็นภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.91 แทน1.2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับคนที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เราก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องยื่น 2 ครั้งต่อปี คือภาษีเงินได้ครึ่งปีโดยใช้ ภ.ง.ด. 51 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภ.ง.ด.50

ภาษี-ลดหย่อนภาษี 2564-4

2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีความหมายตามชื่อ คือ "ภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย" ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงินตามเงื่อนไขผู้ที่ทำการจ่ายเงินต้องหักเงินเพื่อจ่ายภาษีให้กับรัฐ ภาษีนี้มีหน้าที่ช่วยทยอยลดภาระภาษีเงินได้ของผู้รับเงินในตอนปลายปีเพื่อไม่ให้ต้องเสียภาษีก้อนใหญ่ทีเดียว (อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อสรรพากร เพราะผู้รับเงินหลายคนไม่ขอคืนภาษีส่วนนี้)อัตราการหักภาษีจากเงินที่จ่ายก็แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะจ่ายให้กับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งสรรพากรด้วย ซึ่งในทางกลับกันเงินที่เรารับจากลูกค้าก็ต้องผ่านการหัก ณ ที่จ่ายมาก่อนแล้วด้วย โดยเงินที่ถูกหักไปจะถูกแทนที่ด้วยกระดาษที่เรียกว่า "หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย" ซึ่งผู้ถูกหัก ณ ที่จ่ายสามารถขอคืนหรือลดภาษีจากรัฐตอนสิ้นปีได้แบบฟอร์มที่ต้องใช้ในการส่งภาษีแบ่งได้หลายประเภท ถ้าจ่ายให้กับบุคคลธรรมดาก็จะใช้ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 ถ้าจ่ายให้นิติบุคคลก็จะเป็น ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.54

ภาษี-ลดหย่อนภาษี 2564-3

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

เราทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT กันมากที่สุด ภาษีนี้เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า โดยผู้ขายที่จดทะเบียน VAT มีหน้าที่ต้องเรียกภาษีเพิ่ม 7% จากราคาขายและเรียกว่า 'ภาษีขาย' และในฐานะผู้ซื้อจะเรียกภาษีนี้ว่า 'ภาษีซื้อ'ถ้าเราอยู่ในระบบ VAT เราก็ต้องจ่ายภาษีในเวลาที่สรรพากรกำหนด เช่น วันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยคำนวณจากยอดภาษีขายหักออกด้วยยอดภาษีซื้อ ในกรณีที่ภาษีซื้อมีมูลค่ามากกว่าภาษีขาย เราสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จากสรรพากร หรือจะเก็บไว้หักลบกับภาษีขายในเดือนถัดไปเราสามารถยื่นภาษีมูลค่าได้โดยใช้ 2 แบบฟอร์ม ก็คือ ภ.พ.30 สำหรับการซื้อขายกับผู้ประกอบการในไทย และ ภ.พ.36 สำหรับการซื้อขายกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เช่นค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ

4.ภาษีสรรพสามิต

ภาษีสรรพสามิตเรียกเก็บจากสินค้า/บริการบางประเภทที่ถูกนิยามว่า 'ทำลายสังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม' เช่นบุหรี่ เหล้า ไพ่ น้ำมัน อาบอบนวด รถยนต์พาหนะ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น น้ำหอม สนามกอล์ฟ พรมขนสัตว์ กลุ่มภาษีนี้ต้องแจ้งงบรายเดือนให้กับสรรพสามิตภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

5.อากรแสตมป์

อากรแสตมป์ คือภาษีที่ต้องเสียเมื่อทำธุรกรรมบางอย่าง (มีด้วยกัน 28 อย่าง) เช่นสัญญาเช่าที่ เช่าซื้อ จ้างทำของ หรือการกู้ยืมเงินเป็นต้น โดยมีผู้ให้เช่าหรือผู้ให้กู้เป็นผู้เสียภาษี โดยสามารถชำระเป็นอากร (ซื้อได้ที่กรมสรรพากร) หรือเป็นเงินสด (ในตราสารบางประเภท และต้องขออนุมัติด้วย อ.ส.4 ก่อน)

ภาษี-ลดหย่อนภาษี 2564-5

การลดหย่อน ภาษีธุรกิจ สำหรับ SME นิติบุคคล

ถ้าธุรกิจที่เราทำเป็นธุรกิจระดับ SME ภาครัฐไทยจะให้การสนับสนุนผ่านมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้เราสามารถลดหย่อนภาษีได้บางส่วนดังต่อไปนี้ครับ

1.การลดหย่อนภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายได้เป็น 2 เท่า

รัฐระบุให้ ธุรกิจ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เช่น ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี เป็นเวลา 5 รอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน

2.การลดหย่อนภาษีจากการเพิ่มรายจ่าย

ปกติภาษีเงินได้นิติบุคคลจะคำนวณจากกำไรสุทธิ (กำไรที่หักจากค่าใช้จ่ายแล้ว) ถ้าเราเพิ่มรายจ่ายของบริษัท อัตราภาษีก็จะน้อยลง ซึ่งการเพิ่มรายจ่ายก็จะมีวิธีต่อไปนี้

2.1 ค่าเสื่อมราคาสำหรับทรัพย์สิน ซึ่งประกอบไปด้วย

  • อุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คิดค่าเสื่อมราคาอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ โดยทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา
  • อาคารโรงงาน คิดค่าเสื่อมราคาอัตรา 25% ของมูลค่าต้นทุน มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักได้ ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี
  • เครื่องจักรและอุปกรณ์ คิดค่าเสื่อมราคาอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุน มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา

หมวดนี้มีเงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นธุรกิจ SME ที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาทและจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน

2.2 ค่าจ้างงานผู้สูงอายุ

  • พนักงานต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้สูงอายุเป็นลูกจ้างบริษัทอยู่ก่อนแล้วหรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
  • ค่าจ้างต้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
  • การจ้างผู้สูงอายุจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
  • ผู้สูงอายุต้องไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้าง

2.3 รายจ่ายในการฝึกอบรม

ผู้ประกอบการ SME สามารถหักรายจ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือ รายจ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างได้อีกด้วย โดยค่าใช้จ่ายจะครอบคลุมค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เช่นค่าลงทะเบียนรวมถึงค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมเรียกเก็บจากบริษัท โดยต้องมีการจัดทำรายการค่าใช้จ่ายและใบเสร็จ เพื่อเป็นหลักฐานด้วย

2.4 เงินบริจาค

เราสามารถขอลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค ซึ่งจะมีกฎว่า

  • บริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเงินที่บริจาค แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
  • บริจาคให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการรับรองจากรัฐ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล
  • บริจาคให้กับกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค เมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย

ข้อมูลเรื่องภาษีและการลดหย่อนภาษีนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจ SME ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้เงินทุนที่จำกัด การวางแผนธุรกิจ และการจัดทำบัญชีโดยมีความรู้เรื่องภาษีจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทางเพียร์ พาวเวอร์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกท่านได้รับความรู้ด้านภาษีที่ดีที่สุด เพื่อที่จะนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ เราขอแนะนำ PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ที่ช่วยให้บัญชี/ภาษีง่ายสำหรับทุกคน มีระบบจัดการธุรกิจแบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา และมีค่าสมัครสมาชิกฟรีส่วนผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องต้องการเงินทุน ทางเพียร์ พาวเวอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการการระดมทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หรือออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงกับเพียร์ พาวเวอร์ได้จากลิงก์ด้านล่างเลยครับ

ข้อมูล: PEAK Account

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร