ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น : เทรนด์ที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

by
PeerPower Team
October 9, 2022

จาก ชุด Spray-on Dress ของ Coperni สู่ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมแฟชั่น เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นโจทย์ที่แบรนด์ต้องคิดให้ตก 

#ไวรัลปารีสแฟชั่นวีค ปีนี้คงนี้ไม่พ้นโมเมนต์ที่นางแบบสาว Bella Hadid ใส่ชุดเดรสสีขาวพ่นจากสเปรย์กระป๋องของแบรนด์ Coperni บนรันเวย์ที่เป็นปรากฎการณ์บนโลกโซเชียลอย่างถล่มทลาย ซึ่ง Corperni เป็นแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสก่อตั้งขึ้นโดย 2 ดีไซน์เนอร์ Sébastien Meyer และ Arnaud Vaillant จุดแข็งของแบรนด์ คือความสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ ที่แฝงอยู่ในการออกแบบที่เรียบง่าย 

สำหรับของเหลวที่พ่นเป็นชุด (Spray-on Dress) คือ สารละลายที่ผสมจากฝ้ายและใยสังเคราะห์ เมื่อสัมผัสอากาศจะกลายเป็นเส้นใยโพลิเมอร์ให้ความรู้สึกคล้ายผ้าเจอร์ซี่สามารถสวมใส่ได้ และเมื่อสวมใส่เสร็จแล้วยังสามารถแปรรูปให้กลับไปเป็นสารละลายเหมือนเดิมเพื่อเอาไปสร้างชุดใหม่ได้ต่อ เทคนิคนี้คิดค้นโดย Manel Torres นักวิทยาศาสตร์ชาวสเปนเจ้าของบริษัท Fabrican 

2 ดีไซน์เนอร์เปิดเผยว่าในฐานะดีไซเนอร์ พวกเขาจะคิดถึงวัสดุและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทั้งสองเป็นคนรุ่นใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และมักนำแนวคิดนี้มารวมอยู่ในการออกแบบแฟชั่นเสมอ 

Image credits: Coperni

อุตสาหกรรมสวยงามที่สร้างขยะ 

อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ก็ถูกโจมตีว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะและสิ้นเปลืองมากที่สุด ( เช่นเทรนด์ Fast Fashion และอื่น ๆ ) แม้หลายแบรนด์พยายามจะทำการตลาดเชิงรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการแปะป้าย “sustainability” (ยั่งยืน) หรือ “recyclable” (รีไซเคิลได้) บนเสื้อผ้า แต่สุดท้ายด้วยความเป็นแฟชั่นที่มาไวและไปไวยิ่งกว่า เสื้อผ้าตกเทรนด์ก็กลายเป็นขยะรอการทำลายอยู่ดี 

อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน และความพยายามในการเสาะหาวัสดุใหม่ 

กระแสรักษ์โลก (Environmental Consciousness) ที่ดุเดือดขึ้นทำให้เหล่าแบรนด์แฟชั่นเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ “แฟชั่นที่ยั่งยืน” (sustainable fashion) จึงเกิดขึ้นมา พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดและเสริมด้วยนวัตกรรมทางวัสดุ 

หากแบ่งอย่างหยาบ ๆ วัสดุหลักในอุตสาหกรรมแฟชั่นจะประกอบด้วย หนัง และ ผ้า ดีไซน์เนอร์หันมาจับมือกับนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัสดุใหม่มาทดแทน 2 วัสดุหลัก โดยโจทย์คือวัสดุใหม่นี้จะต้องเป็น Bio-Based Material คือ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ทิ้ง carbon footprint น้อย หรือ นำวัสดุเดิมมาแปรรูปแล้วใช้ใหม่ 

หนังวีแกน Vegan Leather หากพูดถึงหนังเทียม คนจะนึกถึงหนังที่ทำจากพลาสติก แต่ vegan leather คือหนังที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งวัสดุ vegan leather ที่หลายแบรนด์ให้ความสนใจคือ “Mylo” หนังที่ผลิตจากเยื่อไมซีเลียม มีความแข็งแรงและนุ่มมือเหมือนหนังสัตว์ หนัง Mylo โด่งดังจากแบรนด์ Stella Mccartney ที่นำวัสดุนี้ไปตัดกระเป๋า และรองเท้า Adidas Stan Smith ที่ใช้หนังชนิดนี้แทนวัสดุหนังเดิม

เส้นใยรีไซเคิล คือการลดปริมาณขยะสิ่งทอด้วยกระบวนการย้อนผลิตกลับ จากเดิมที่เส้นใยทอเป็นผ้า ก็นำผ้ามาย่อยคืนเป็นเส้นใย ซึ่ง Circulose คือบริษัทที่ผลิตเส้นใยรีไซเคิล เริ่มจากการนำผ้ามาปั่นเป็นเยื่อไม้โดยใช้พลังงานหมุนเวียน จากนั้นจึงนำเยื่อไม้ที่ได้มาทอเป็นผ้า แบรนด์ที่ใช้วัสดุนี้คือ กางเกงยีนส์ Levi’s ซึ่งจะนำผ้าชนิดนี้มาตัดกางเกงดังรุ่น 501 

นอกจากนั้นยังมีวัสดุอื่น ๆ ที่เกิดจากการนำพลาสติกมาแปรรูป เช่น ไนลอนรีไซเคิล โดย Prada ได้นำพลาสติกไนลอนจากแหดักปลาและพลาสติกเหลือทิ้งจากแหล่งต่าง ๆ มาผลิตเป็นกระเป๋าไนลอนรุ่นยอดนิยมของแบรนด์ 

Image credits: Adidas, Levi's, and Prada

ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน

Harvard Business Review ทำนายว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นจะพัฒนาวัสดุชนิดใหม่มาทดแทนของเดิมต่อไป เพื่อชูกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยโลก แต่นอกจากนั้นเรายังเห็นกลยุทธ์รักษ์โลกรูปแบบใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยการสร้าง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยแคมเปญรับซื้อของเก่าคืน (resale) หรือเปิดพื้นที่ให้สาวกแบรนด์เอาผลงานเก่ามาขายแลกเปลี่ยนกัน 

แบรนด์ใหญ่ที่โดดมาทำกลยุทธ์นี้คือ Patagonia ภายใต้ชื่อ Worn Wear และ Lululemon ที่ให้ลูกค้านำสินค้ามาขายคืน และรับคะแนนเครดิตหรือบัตรของขวัญเป็นส่วนลดเมื่อซื้อครั้งต่อไป ฝั่งออนไลน์ก็มีธุรกิจประเภทแพลตฟอร์มซื้อขายเสื้อผ้ามือสองโดยเฉพาะ ที่ลูกค้าสามารถนำเสื้อผ้ามาแลกเปลี่ยน หรือสมัครเป็นสมาชิกเพื่อขายผ่านแฟลตฟอร์มนั้น ๆ ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก เช่น Depop, ThreadUP, Poshmark ฯลฯ 

นอกจากนั้นยังมีแบรนด์ที่ถือโอกาสขายของใหม่ได้ด้วยเทรนด์ของเก่า เช่น Bottega Veneta ที่สร้างคอลเลคชั่น Bottega Series นำเสนอสินค้าคลาสสิกชิ้นโบว์แดงของแบรนด์ โดยกล่าวว่าเป็นความพยายามลดการบริโภคมากเกินไป (overconsuming) ของเหล่าแฟชั่นนิสต้าที่วิ่งตามเทรนด์ 

แนวโน้มเชิงธุรกิจ ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่น

ความน่าสนใจคือ มูลค่าทางการตลาดที่มีรายงานว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ใส่ใจในความยั่งยืน (ในเชิงจริยธรรม) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันอยู่ที่ราว ๆ 6.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก 8% ในปีต่อไป 

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่เปลี่ยน แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน McKinsey ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคช่วงโควิดและพบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปในหลายด้าน สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้านความคุ้มค่ามากขึ้นและมักให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ใส่ใจในความยั่งยืนจริง ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อการตลาดเท่านั้น ด้าน Euromonitor มีรายงานสนับสนุนและชี้สถิติว่า ผู้บริโภค 33% มีแนวโน้มซื้อสินค้ามือสองมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยินดีสนับสนุนแบรนด์ที่ผลักดันเรื่องความยั่งยืน

แม้จะเป็นตัวเลขในหลักหน่วยแต่ก็มีค่ามากพอให้แบรนด์หันมาลงทุน สร้างธุรกิจใหม่ ๆ และเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของตลาด 

Source: Euromonitor

​​หากสืบย้อนกลับไปจุดแรกเริ่มของของอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นอาจเริ่มขึ้นในอดีตสีซีดมัวเมื่อมนุษย์รู้จักเอาหนังสัตว์มาห่ม (หรือเอาใบไม้มาปิด) แต่อนาคตอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นดูจะยังสว่างไสวเมื่อพร้อมปรับตัวไปกับกระแสโลก รวมทั้งกระแสรักษ์โลกอย่างที่เราได้เล่าให้ฟัง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยโลกได้จริงหรือเป็นแค่กลยุทธ์การตลาดคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องวิเคราะห์ แต่ที่แน่ ๆ แรงผลักดันให้ธุรกิจต้องตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังมา และเป็นปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาในการเลือกลงทุน

อ้างอิง 

https://www.voguebusiness.com/fashion/a-spray-on-dress-and-a-solid-gold-bag-coperni-goes-after-gen-z-with-novelty-and-fun

https://www.vogue.co.uk/fashion/article/new-sustainable-materials

https://hbr.org/2022/01/the-myth-of-sustainable-fashion

https://www.greenmatters.com/p/companies-own-buy-back-resell-programs

https://www.highsnobiety.com/p/bottega-veneta-series-archival-bags-past-season/

https://mademoiselleb.eu/en/post/Prada-manufactures-bags-from-recycled-fishing-nets

https://www.mckinsey.com/featured-insights/sustainable-inclusive-growth/future-of-america/rise-of-the-inclusive-sustainable-consumers

https://archive.ellenmacarthurfoundation.org/explore/fashion-and-the-circular-economy

https://am.jpmorgan.com/dk/en/asset-management/adv/investment-themes/sustainable-investing/sustainable-fashion/

https://www.globenewswire.com/en/news-release/2022/05/05/2436458/28124/en/6-9-Billion-Worldwide-Ethical-Fashion-Industry-to-2031-Identify-Growth-Segments-for-Investment.html#:~:text=%246.9%20Billion%20Worldwide%20Ethical%20Fashion,to%202031%20%2D%20Identify…

https://www.euromonitor.com/article/what-are-the-10-global-consumer-trends-in-2022

Tags
No items found.
Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร