ทั่วโลกใช้ Social Media ต่างจากเดิมยังไงบ้างในปี 2020

by
November 25, 2020

ทั่วโลกใช้โซเชียลมีเดียต่างจากเดิมยังไงบ้างในปี 2020

ย้อนกลับไปประมาณ 3 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าโซเชียลมีเดีย (Social Media) จะได้รับความนิยมมากขึ้นถ้าเกิดวิกฤตโรคระบาด แต่ทุกวันนี้ข้อมูลหลายชิ้นระบุว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้คนหันมาใช้ชีวิตใกล้ชิดกับโซเชียลมีเดียยิ่งกว่าเดิมซะอีกครับรายงานจาก Datareportal ระบุว่าปี 2020 มีคนใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกสูงขึ้นถึง 10.5% หรือ 376 ล้านคน ผู้หญิง 46% และผู้ชาย 41% ที่เข้าร่วมแบบสอบถามตอบว่าตนเองใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด สาเหตุหลักก็เพราะหลายประเทศกระตุ้นให้ประชาชนอยู่บ้าน ประชาชนก็เลยมีเวลาใช้ชีวิตในโลกออนไลน์โควิดยังเปิดโอกาสให้แอปพลิเคชั่นหน้าใหม่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด หนึ่งในนั้นคือแอปพลิเคชั่น TikTok ที่มียอดดาวน์โหลดในไตรมาสแรกของปี 2020 ทะลุ 315 ล้านครั้ง เป็นตัวเลขซึ่งทำลายสถิติยอดดาวน์โหลดที่แอปพลิเคชั่นอื่นเคยทำไว้เลยทีเดียว

social-media-info1

พฤติกรรมการใช้ Social Media ที่เปลี่ยนไป

ไม่เพียงแต่อัตราการใช้งานที่มากขึ้นเท่านั้น ผู้ใช้ทั่วโลกก็มีความต้องการที่เปลี่ยนไปเช่นกัน ปัจจุบันผู้ใช้ทั่วโลกใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง 22 นาที ซึ่งวิกฤตโควิดก็ทำให้พฤติกรรมการใช้เวลาเหล่านั้นเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดดังต่อไปนี้

social-media-info2

คนต้องการเนื้อหาเพื่อผ่อนคลาย

ผลกระทบอันน่ากลัวของวิกฤตโควิดทำให้คนแสวงหาคอนเทนต์บันเทิงเพื่อปลอบประโลมใจ คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเบาจึงมีหน้าที่พาผู้เสพออกจากโลกความเป็นจริงที่ค่อนข้างโหดร้าย เนื้อหาลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า Escapism ซึ่งมักจะได้รับความนิยมในช่วงที่สภาวะสังคมที่ตึงเครียดการเติบโตของแอปพลิเคชั่น TikTok ก็อาศัยปัจจัยนี้เป็นหลัก จากสถิติพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุมากซึ่งเคยมองว่า TikTok เป็นเรื่องไม่มีแก่นสารกลับหันมาใช้งาน TikTok กันมากขึ้น ส่วนคน Gen Z (อายุ 8-23 ปี) กว่า 42% ต้องการเสพเนื้อหาที่มีดีกรี "บันเทิง" มากกว่าเดิมคอนเทนต์ที่ขายเนื้อหาตึงเครียดจึงได้รับผลกระทบในแง่ลบ อย่างรายงานของ Podtrac ที่เผยว่าช่องพอดแคสต์แนวอาชญากรรมชื่อดัง True Crime มียอดดาวน์โหลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พอดแคสต์แนวข่าว ธุรกิจ และคอเมดี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกเทรนด์การเสพเนื้อหาที่กำลังมาแรงและคงจะอยู่ต่อไปหลังโควิดก็คือ Memetic Media หรือการเสพเนื้อหาแนวมีม (Meme) ซึ่งถือเป็นสื่อที่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้เสพ อีกทั้งยังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นมีมจึงเป็นที่ชื่นชอบของคนหลายคนขึ้นมาทันที

จากผู้เสพสู่ผู้สร้างคอนเทนต์

ที่ผ่านมาโลกโซเชียลทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้เสพกับผู้สร้างคอนเทนต์บางขึ้น เพราะแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Youtube, Tiktok ต่างเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสมัครแอคเคาท์เพื่อผลิตคอนเทนต์อิสระ และพอเกิดโควิดขึ้นก็ยิ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงการสร้างคอนเทนต์ งานศึกษาของ Lightricks ชี้ว่าชาวอเมริกันใช้เวลาไปกับการสร้างคอนเทนต์มากกว่าเดิมถึง 90%การสร้างคอนเทนต์ยังเป็นวิธีคลายเครียดหรือแก้เบื่อขณะที่หลายคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เลยเป็นช่วงเวลาที่คนจำนวนมากมีเวลาทำความรู้จักกับเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยได้ลองใช้ ดังนั้นแล้วเมื่อหมดวิกฤตโควิดก็มีความเป็นไปได้สูงว่าผู้สร้างคอนเทนต์หลายคนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ไปใช้ในระยะยาวโควิดยังเปิดโอกาสให้นักสร้างคอนเทนต์ได้ลองอะไรใหม่ เพราะผู้เสพมีเวลาพอที่จะเปิดรับคอนเทนต์แปลกใหม่ เนื้อหาที่ส่งเสริมให้ผู้เสพมีส่วนร่วมไปกับคอนเทนต์ด้วยวิธีการใหม่และน่าสนใจจะได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าเดิม

คนต้องการเชื่อมต่อกับคนอื่นมากขึ้น

การกักตัวอยู่บ้านทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว หลายคนจึงเลือกเชื่อมต่อกันทางออนไลน์ ตั้งแต่การเล่นเกมออนไลน์หรือดูสตรีมมิ่งเกม เห็นได้จาก Stream Hatchet ที่ให้ข้อมูลว่ายอดผู้ดูสตรีมมิ่งเกมบนแพลตฟอร์มดังอย่าง Twitch, YouTube, Mixer, Facebook ในปี 2020 สูงขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับปี 2019เกิดพฤติกรรมการรับสื่อที่แปลกใหม่อย่าง 'Watch Party' ซึ่งเป็นการตั้งปาร์ตี้ออนไลน์เพื่อดูภาพยนตร์ไปด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าคนต้องการเนื้อหาที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวอีกต่อไป ในการตลาดจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Conversational Marketing หรือก็คือการตลาดที่จะก่อให้เกิดการตอบโต้ระหว่างผู้เสพกับผู้สร้างเนื้อหา ทั้งในรูปแบบของเสียงพูด ข้อความ หรือคอมเมนต์ เพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้เสพเนื้อหา (มักถูกนำไปใช้กับบริการของ E-commerce)

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียตระหนักถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่มากขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้คนเข้าถึงข้อมูลมหาศาลแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน วิกฤตโควิดยังชี้ให้ประชาชนเห็นปัญหาต่าง ๆ ในประเทศตัวเอง คนสมัยนี้จึงเริ่มสนใจปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ดังนั้นแล้วคนจำนวนมากจึงต้องการเสพเนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โลกร้อน สิทธิมนุษยชน คอร์รัปชัน ความไม่เท่าเทียมทางเพศ LGBTQ และอื่น ๆเห็นได้จาก Twitter ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปี 2020 นี้ Twitter ได้กลายเป็นแหล่งรวมข้อมูลของสถานการณ์การเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ม๊อบฮ่องกงเมื่อต้นปี ม๊อบ Black lives matter ในสหรัฐอเมริกา ม๊อบเยาวชนปลดแอก จนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีดาราดังจำนวนมากออกมารณรงค์ให้ไปเลือกตั้งผ่านทวิตเตอร์พฤติกรรมใหม่นี้บางส่วนอาจจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวจากการหาทางคลายความเครียดในช่วงกักตัว แต่เป็นที่แน่นอนว่าวิกฤตโควิดส่งผลให้มนุษย์ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น เรามีเวลารู้จักแง่มุมใหม่ ๆ ของโซเชียลมีเดีย และจะนำพฤติกรรมเคยชินใหม่เหล่านี้ติดตัวไปด้วยในยุค New Normalจากข้อมูลผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่มากขึ้นในปี 2020 ของ Datareportal ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 20% ทั่วโลกเชื่อว่าตัวเองจะใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นต่อไปถึงแม้ว่าโควิด 19 จะหมดไปแล้วก็ตาม

social-media-info4

พฤติกรรมโซเชียลมีเดียจะมีความหลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคต ปัจจุบันเราใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยคนละ 9 แอคเคาท์กระจายไปตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องรอดูต่อไปในปี 2021 หรือช่วงที่วิกฤตโควิดบรรเทาลงแล้วว่าค่าเฉลี่ยนี้จะพุ่งสูงขึ้นไปอีกแค่ไหนเราสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อสร้างโอกาสจากพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในอนาคต เพียร์ พาวเวอร์เชื่อว่านักลงทุนและผู้ประกอบการทุกท่านควรศึกษาโลกออนไลน์อย่างละเอียดเพราะเป็นพื้นที่ที่เติบโตขึ้นทุกวัน ทุกวันนี้ถ้าเราอ่านทางพฤติกรรมของผู้ใช้ออกก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างความสำเร็จให้กับตัวเองครับ ทางเพียร์ พาวเวอร์พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจพื้นที่โซเชียลมีเดียให้ออกหุ้นกู้คราวน์ฟันดิงเพื่อระดมทุนให้กับบริษัทเพราะเรามีบริการแพลตฟอร์ม Crowdfunding ที่ได้รับการรองรับอย่างถูกกฎหมายจาก กลต. ผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจอ่านรายละเอียด หรือสมัครเป็นผู้ประกอบการสามารถคลิ๊กได้ด่านล่าง

ข้อมูล: Stepstraining, Business.com

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร