Success Strategy

5 วิธีควบคุมต้นทุนธุรกิจสำหรับกิจการ SME

by
January 29, 2018

5 วิธีควบคุมต้นทุนธุรกิจสำหรับกิจการ SME

เป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม คงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากผลกำไร เมื่อเราพูดถึงกำไรก็สามารถคิดคำนวณได้ง่ายๆ คือ "รายได้-รายจ่าย" ซึ่งรายได้ที่มากขึ้นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่คุณต้องไม่ลืมว่าต้นทุนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะบอกว่าธุรกิจของคุณได้กำไรมากแค่ไหนเช่นกัน หากคุณอยากสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้น คุณก็ต้องพยายามลดต้นทุนธุรกิจในส่วนที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุดคำถามคือ ทำไมเราไม่พยายามหาวิธีทำการตลาด โปรโมทสินค้า เพื่อเพิ่มยอดขายให้เยอะ ๆ แทนที่จะมาโฟกัสที่การลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว?

นั่นเป็นเพราะว่ารายได้ในแต่ละเดือนเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถกำหนดได้ แต่เราสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ และหากยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ต้นทุนสูงลิ่วก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจของคุณสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนได้แน่ ในทางกลับกัน การละเลยไม่ใส่ใจควบคุมต้นทุนธุรกิจให้ดีนั้น อาจทำให้คุณเดินไปถึงเป้าหมายได้ช้าลง หรือหากโชคร้ายต้องปิดกิจการอาจนำไปสู่ "ภาวะการแบกรับหนี้สิน" ได้

วิธีควบคุมต้นทุนสำหรับธุรกิจ SME

1. วางแผนงบประมาณและกำหนดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน

เริ่มแรกคุณจะต้องรู้ก่อนว่าต้นทุนแท้จริงในการดำเนินธุรกิจคือเท่าไร รายรับและรายจ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องมีการบันทึกทำบัญชีอย่างละเอียดชัดเจน จากนั้นต้องวิเคราะห์แยกประเภทค่าใช้จ่ายว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนดำเนินการจ่ายเงินหรือซื้ออะไรก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะค้นหาเปรียบเทียบราคาอยู่เสมอ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามแผนที่วางเอาไว้อย่างเคร่งครัด

2. ทำการตลาดออนไลน์

การสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจ SME ในยุคนี้ได้เปรียบมาก ในเรื่องของการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งช่วยประหยัดงบไปได้เยอะและยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย เริ่มจากการสร้างเว็บไซต์ เพจ Facebook บัญชี Line@ และ Instagram ทั้งนี้คุณสามารถเลือกได้ตามวัตถุประสงค์ธุรกิจ รวมถึงการทำโฆษณาบน Google ทั้ง SEM และ SEO ซึ่งได้ผลในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถควบคุมงบประมาณในแต่ละเดือนได้

3. Barter แลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ

การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการแลกเปลี่ยนเพื่อแลกกับมีเดียหรือโฆษณาผ่าน KOL ในเหล่าบรรดาบล็อกเกอร์ ดารา ฯลฯ ทดลองใช้สินค้าของเราและเป็นกระบอกเสียงบอกต่อกับลูกค้า หรือหากเรามีคนรู้จักที่สามารถช่วยเราทำงานได้ เช่น การทำบัญชี หรืออื่นๆ ก็สามารถเจรจาต่อรองได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับมูลค่าและความเหมาะสมของธุรกิจของคุณด้วย

4. วิเคราะห์และค้นหาลูกค้าตัวจริงของคุณ

ข้อดีของการรู้ว่าใครคือลูกค้าตัวจริงของคุณ โดยในที่นี้คือกลุ่มลูกค้าที่ "สร้างมูลค่า" ให้กับธุรกิจ และกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจมากนัก ทำให้เราสามารถโฟกัสเวลาและต้นทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย แต่ไม่ใช่ว่าจะทิ้งกลุ่มที่สร้างรายได้น้อยไปเลยทันที ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าประเภท A สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากกว่าประเภท B ถึง 2 เท่า เมื่อรู้อย่างนี้เราควรนำงบที่มีไปลงกับกิจกรรมที่จะขยายฐานลูกค้าประเภท A ให้มากขึ้น เช่น เสนอส่วนลดที่มากขึ้น หรือให้ค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่สามารถปิดการขายได้เป็นต้น ในขณะที่ให้ความสำคัญน้อยเป็นอันดับสองกับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง นี่ถือเป็นการจัดการทรัพยากรเพื่อให้เปลี่ยนเป็นกำไรได้มากที่สุดสำหรับบริษัท

5. เปลี่ยนจากคนมาใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยแทน

ปัจจุบันนี้มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกสำหรับธุรกิจมากมายโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก บ้างก็ฟรี บ้างก็เสียเงิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังถือว่าช่วยเราประหยัดงบไปได้เยอะรวมถึงเรื่องของพนักงานด้วย บริการเหล่านี้มีตั้งแต่เทคโนโลยีในการช่วยดูแลลูกค้า รับชำระเงินออนไลน์ ไปจนถึงการจัดส่งสินค้า หรือแม้แต่การเปิดช่องทางการขายของออนไลน์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุน ทั้งนี้ในแง่ของสถานที่ เครื่องมือในการดำเนินการ และพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น การส่งสินค้าให้ลูกค้า แทนที่เราจะเอางบมาจ้างพนักงานขับรถ ซื้อมอเตอร์ไซค์ เราก็สามารถใช้บริการแมสเซ็นเจอร์ และบริการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกมากมายเช่น บริการทำใบแจ้งหนี้ออนไลน์ ระบบบริหารจัดการร้านค้า สต็อกสินค้า เป็นต้น

เพียร์ พาวเวอร์ คือผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งระบบคราวด์ฟันดิงคือตัวกลางในการระดมทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ด้วยวิธีการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ในขณะเดียวกันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในแพลตฟอร์มได้ สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร