Success Strategy

ลดหย่อนภาษีด้วยการจดทะเบียนนิติบุคคล

by
February 19, 2019

หากผู้ประกอบการมีรายได้ 5 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และต้องจ่ายภาษีจำนวนมาก ผู้ประกอบการสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยการจดทะเบียนนิติบุคคล เพียร์ พาวเวอร์ได้นำข้อมูลมาฝากกันค่ะ

  • ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • เมื่อธุรกิจขาดทุน สามารถนำเอกสารซึ่งแสดงผลประกอบการที่ขาดทุน ไปยื่นตอนเสียภาษีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงบประมาณของปีถัดไปได้
  • สามารถนำค่าใช้จ่ายของการจดทะเบียนบริษัทไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 2 เท่า
  • ลดหย่อนภาษีด้วยการเพิ่มรายจ่าย 3 วิธี ได้แก่ ค่าสึกหรอของทรัพย์สินบริษัท จ้างงานผู้สูงอายุและการบริจาค

ลดหย่อนภาษีด้วยการจดทะเบียนนิติบุคคล

หากผู้ประกอบการมีรายได้ 5 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจไม่ใช่อัตราภาษีที่ดีที่สุดที่ควรจะจ่าย เนื่องจากภาษีแบบขั้นบันไดนั้นเป็นอัตราที่คิดจากเงินได้ทั้งหมด ไม่หักต้นทุน ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับการทำธุรกิจซึ่งมีต้นทุนประกอบเข้ามาด้วย แต่การจะทะเบียนการค้า ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยหลายวิธี ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์ ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีด้วยการจดทะเบียนนิติบุคคลมาฝากกันค่ะ

ลดหย่อนภาษีถูกกว่าเมื่อจดทะเบียนแบบนิติบุคคล

อัตราภาษีระหว่างบุคคลธรรมดา กับภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนการค้าแล้วมีอัตราไม่เท่ากันนะคะ โดยผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจและจดทะเบียนนิติบุคคลในลักษณะ SME คือมีรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 20% ของกำไรสุทธิ ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจ เช่น เปิดร้านขายของออนไลน์หรือกิจการครอบครัวขนาดเล็ก แต่ไม่ได้จดทะเบียนแบบนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอัตราการเสียภาษีแบบขั้นบันไดสูงสุดอยู่ที่ 35% เมื่อมีรายได้เกิน 750,000 บาทต่อปี นั่นหมายความว่าการจดทะเบียนแบบนิติบุคคลมีอัตราการเสียภาษีต่ำกว่าการจดทะเบียนแบบเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนแบบนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จะได้รับการยกเว้นและลดอัตราภาษี ดังนี้

  • ยกเว้นภาษีจากกำไรสุทธิ 3 แสนบาทแรก
  • เสียภาษี 15% ของกำไรสุทธิที่เกิน 3 แสนบาทแต่ไม่ถึง 3 ล้านบาท
  • เสียภาษี 20% ของกำไรสุทธิที่เกิน 3 ล้านบาท

ลดหย่อนภาษีได้เมื่อกิจการขาดทุน

การคิดอัตราภาษีของธุรกิจ SME จะคิดจากกำไรสุทธิ นั่นหมายความว่าหากธุรกิจของผู้ประกอบการเกิดติดขัด เจอกับปัญหาทางการเงิน ทำให้ผลประกอบการรายปีขาดทุน ผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารซึ่งแสดงผลประกอบการที่ขาดทุนนี้ ไปยื่นตอนเสียภาษีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงบประมาณของปีถัดไปได้ โดยเก็บไว้ได้สูงสุดถึง 5 ปี

ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าจากค่าใช้จ่าย

นอกจากการลดหย่อนภาษีจากลักษณะการจดทะเบียน และลดหย่อนจากการขาดทุนแล้วผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายของการจดทะเบียนบริษัท ค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี ไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 2 เท่า

ลดหย่อนภาษีด้วยการเพิ่มรายจ่าย

หลักการคิดภาษีนิติบุคคล คือ นำรายได้มาหักลบกับรายจ่ายเพื่อหาผลกำไรไปคิดภาษี ถ้าผู้ประกอบการสามารถเพิ่มจำนวนรายจ่ายให้มากขึ้น เมื่อนำมาหักลบกับรายได้ กำไรก็จะน้อยลง ภาษีที่ต้องเสียก็ลดลงด้วย ซึ่งการเพิ่มรายจ่ายมี 3 วิธีด้วยกัน ดังนี้ค่ะ

ค่าสึกหรอของทรัพย์สินบริษัทก็ลดหย่อนภาษีได้

ในการทำธุรกิจเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ถือเป็นทรัพย์สินและต้นทุน เมื่อมีการจดทะเบียนนิติบุคคลผู้ประกอบการสามารถนำค่าสึกหรอของทรัพย์สินเหล่านั้นมาลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นได้ โดยทรัพย์สินของบริษัทที่สามารถนำมาคิดค่าใช้จ่าย ได้แก่

  • คอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คิดค่าสึกหรอได้ 40% นับจากราคาที่ซื้อมาแล้วทยอยหักภายใน 3 ปี และถ้าผู้ประกอบการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับรองจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ประกอบการสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า รวมไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ต้องอยู่ในช่วง 1 ม.ค.2560 - 31ธ.ค 2562 เท่านั้น
  • อาคารและโรงงาน คิดค่าสึกหรอได้ 25% นับจากราคาที่ซื้อมาแล้วทยอยหักภายใน 20 ปีเครื่องจักร คิดค่าสึกหรอได้ 40% แล้วทยอยหักภายใน 5 ปี

ลดหย่อนภาษีด้วยการจ้างงานผู้สูงอายุ

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัทจดทะเบียนที่เปิดรับผู้สูงอายุเข้ามาทำงานสามารถนำค่าจ้างงานมาเป็นรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • ผู้สูงอายุที่เข้าทำงานต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • เป็นผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างกับกรมจัดหางานแล้ว
  • ไม่เคยเป็นกรรมการฯบริษัทมาก่อน

ซึ่งจะได้รับอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน และบริษัท SME จะจ้างผู้สูงอายุได้ไม่เกิน 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

ลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาค

การบริจาคนอกจากจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แล้ว บริษัทจดทะเบียนก็สามารถใช้วิธีนี้ในการลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยธุรกิจ SME จะลดหย่อนภาษีจากการบริจาคได้ ตามเงื่อนไขต่อไปนี้

  • บริจาคเงินให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการลดหย่อนภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินที่บริจาคจริง โดยบริจาคได้ไม่เกิน 2% ของกำไร
  • บริจาคให้สถาบันอุดมศึกษาที่ได้การรับรองจากคณะรัฐมนตรี ลดหย่อนได้ 2 เท่าตามที่บริจาคจริง

แม้ว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลจะช่วยลดหย่อนภาษีได้หลายทาง แต่ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าธุรกิจของเรานั้นเหมาะที่จดทะเบียนแบบนี้หรือไม่ เพราะอาจเกิดความไม่คุ้มค่า โดยต้องเปรียบเทียบให้ดีระหว่างฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับภาษีที่ต้องเสียจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณด้วยลักษณะการจดทะเบียนนิติบุคคล ส่วนผู้ประกอบการท่านใดที่จดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว และสนใจออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง สามารถปรึกษาเพียร์ พาวเวอร์ ได้เลยค่ะ เพียร์ พาวเวอร์ พร้อมช่วยเหลือเต็มที่ เพื่อให้ธุรกิจ SME เติบโตต่อไปอย่างแน่นอน

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร