Perspectives

Moat ปราการ 4 อย่างทางธุรกิจ กับการลงทุนใน Crowdfunding Equity

by
August 30, 2022

Economic Moat – 4 ปราการทางธุรกิจหลักการเลือกลงทุนใน Crowdfunding Equity

Moat หรือ “คู” คือยุทธวิธีป้องกันข้าศึกในสมัยโบราณ ด้วยการขุดคูคลองล้อมรอบปราสาทเพื่อไม่ให้ข้าศึกบุกประชิดได้โดยง่าย เมืองเก่าในประเทศไทยก็มี​ “คูเมือง” ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ปัจจุบันคูเมืองในชีวิตจริงอาจกลายเป็นแค่จุดเช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ในทางการลงทุนคำนี้กลับมามีความหมายสำคัญจากแนวคิดของกูรูการลงทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตที่กล่าวถึง “คูเศรษฐกิจ” หรือ “economic moat” ซึ่งหมายถึงความได้เปรียบทางธุรกิจที่ยากจะลอกเลียนแบบหรือเอาชนะได้วอร์เรน บัฟเฟต กล่าวไว้ว่า

“กุญแจสำคัญของการลงทุนไม่ได้อยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมใดจะส่งผลต่อสังคมมากน้อยเพียงใด หรือจะเติบโตไปได้แค่ไหน แต่อยู่ที่การประเมินข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทหนึ่ง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือประเมินว่าข้อได้เปรียบนั้นจะมีผลยาวนานแค่ไหน ผลิตภัณฑ์และบริการที่มี ‘คู’ ล้อมรอบที่กว้างใหญ่และยั่งยืนคือบริษัทที่จะนำผลประโยชน์มาสู่นักลงทุนได้”

ปราการธุรกิจในหลัก economic moat ของบัฟเฟต

ถ้าเปรียบธุรกิจเป็นปราสาท คูเมืองก็คือความสามารถในการป้องกันไม่ให้ธุรกิจนั้นโดนคู่แข่งโจมตีได้ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มประเมินความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจตรงไหนดี ลองเริ่มจาก 4 ข้อนี้ก่อน

1. Network effects: อานิสงส์จากเครือข่ายผู้ใช้งาน

ธุรกิจที่มี network effects หมายความว่า ยิ่งธุรกิจมีผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ใช้งานเดิมก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ข้อนี้ปัจจุบันเราเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากโซเชียลเน็ตเวิร์กและธุรกิจที่ให้บริการแบบ on demand หรือให้บริการตามความต้องการของลูกค้าแบบทันใจ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจะเชื่อมต่อกับผู้คนได้มากขึ้นเมื่อมีคนมาใช้เฟซบุ๊กเพิ่ม ผู้ใช้งานติ๊กต่อกจะยิ่งมีวิดีโอให้ดูเพิ่มถ้าแพลตฟอร์มมีผู้ใช้เพิ่ม หรือยิ่งมีคนสมัครขับแกรบมากขึ้นผู้ใช้งานก็ยิ่งสะดวก และเมื่อผู้ใช้งานแกรบเพิ่มขึ้นก็ยิ่งดึงดูดให้มีคนสมัครขับแกรบเพิ่มเช่นกัน อันที่จริงแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลองนึกถึงโปรค่ายมือถือที่มีมานานแล้วอย่างโปรโทรฟรีภายในเครือข่ายเดียวกัน ก็เป็นการสร้างปราการตามหลักนี้เช่นกัน

2. High switching costs: ต้นทุนในการ “ย้ายค่าย”

ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ค่ายมือถือ แต่รวมถึงการเปลี่ยนผู้ให้บริการในธุรกิจอื่น ๆ ด้วย และคำว่า “ต้นทุนสูง” ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเวลาและพลังงานที่ต้องเสียไป ไม่ว่าจะเป็นการเสียเวลาดำเนินการ การเรียนรู้วิธีใช้งานจากผลิตภัณฑ์ใหม่จากผู้ให้บริการเจ้าใหม่ การจัดการเรื่องการชำระเงิน หรือแม้กระทั่งการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานจากที่คุ้นเคยอยู่เดิมก็นับเป็นต้นทุนความลำบากในมุมผู้บริโภคเช่นกัน… ยิ่งลูกค้าเปลี่ยนใจจากเราได้ยากเท่าไหร่ ธุรกิจก็ยิ่งมีปราการที่แข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมธุรกิจประเภทประกันภัยและบริษัทซอฟต์แวร์จึงมักมีปราการที่แข็งแกร่งในด้านนี้ เพราะเมื่อลูกค้าคุ้นเคยกับการใช้บริการของเจ้าหนึ่งแล้วก็ไม่อยากจะเสียเวลาไปเรียนรู้การใช้งานเจ้าอื่น

3. Intangible assets: ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้

ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจแม้จะไม่ได้มีมูลค่าเป็นตัวเงิน เช่น ความชื่นชอบของลูกค้าต่อแบรนด์ (brand loyalty) สิทธิบัตรนวัตกรรม และการได้การรับรองทางกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น กว่าบริษัทคู่แข่งจะทำคะแนนขึ้นมาตีตื้นได้ในการสร้างแบรนด์ สร้างนวัตกรรมที่เหนือกว่า หรือได้รับการรับรองทางกฎหมายเทียบเท่า ก็ต้องใช้เวลานานและใช้ทรัพยากรมากกว่าการแค่ทุ่มเงินไปเฉย ๆ ดังนั้นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้จึงเป็นปราการชั้นดีให้กับธุรกิจได้อย่างหนึ่ง

4. Cost advantage: ความได้เปรียบด้านต้นทุน

เมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นก็มักมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคาที่ถูกลง หรืออาจสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคู่แข่งในตลาด นั่นจึงเป็นสาเหตุว่ายิ่งบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น คู่แข่งก็ยิ่งจะแย่งส่วนแบ่งในตลาดได้ยากขึ้นตามไปด้วย

ประเมินความแข็งแกร่งของปราการทางธุรกิจก่อนจะลงทุน (ในหุ้น) ครั้งต่อไป

หลักปราการธุรกิจ 4 ข้อนี้เอามาปรับใช้ได้กับการเลือกลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (private equity) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งรายบุคคลและ “ธุรกิจการร่วมลงทุน” หรือ venture capital (VC) ต่างพยายามไขความลับเทคนิคการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ผลตอบแทนน่าพอใจสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถืงในการลงทุนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ก็คือระยะเวลาการลงทุน เนื่องจากการลงทุนลักษณะนี้นักลงทุนจะสามารถทำกำไรได้ก็ต่อเมื่อสามารถ “exit” หรือขายหุ้นออกไปได้ ซึ่งโอกาสในการขายนั้นไม่ได้มีตลอดเวลาเหมือนหุ้นในตลาด แต่อาจจะเกิดเมื่อมีการเปิดให้ซื้อขายระหว่างผู้ถือหุ้น หรือมีบริษัทอื่นเข้าซื้อกิจการ หรือเมื่อธุรกิจนั้นเปิดระดมทุนในรอบถัดไปหุ้นคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Equity) ของเพียร์ พาวเวอร์เป็นโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปเข้ามาลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยการลงทุนประเภทนี้มักจะมีระยะเวลายาวนานกว่าหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มของเพียร์ พาวเวอร์

เราเชื่อว่าการพิจารณาพื้นฐานธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจากการลงทุนในหุ้นคราวด์ฟันดิงได้ ดังนั้นในการเฟ้นหาธุรกิจที่จะมาเปิดระดมทุนกับเพียร์ พาวเวอร์เราจึงไม่ได้มองที่ความนิยมในตลาด แต่พิจารณาจากความแข็งแกร่งของปราการทางธุรกิจที่จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้ในระยะกลางและยาวมากขึ้น

Economic Moat ปราการธุรกิจ ลงทุนหุ้นคราวด์ฟันดิง crowdfunding equity
  • คูรอบปราสาทแคบ หมายถึงธุรกิจมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันบางอย่างเหนือคู่แข่ง แต่เป็นข้อได้เปรียบที่อาจโดนเอาชนะได้ง่าย หรือไม่สามารถคงความได้เปรียบไว้นาน
  • คูรอบปราสาทกว้าง หมายถึงธุรกิจมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ดังนั้นบริษัทคู่แข่งจึงไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดได้โดยง่าย หรืออาจไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้เลย และความได้เปรียบนี้อาจมีผลยาวนานต่อไปในอนาคต

พูดง่าย ๆ ก็คือเราจะมองหา “ปราสาท” ธุรกิจที่มี “คู” ป้องกันกว้างขวางนั่นเอง และนี่ก็คือหลักการที่เราจะใช้พิจารณาธุรกิจสตาร์ทอัพในการเปิดระดมทุน Crowdfunding Equity รอบใหม่โดยร่วมกับ Techsauce ในโครงการ Thailand Accelerator เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับ Seed เป็นต้นไปที่ต้องการขยายธุรกิจ ให้สามารถระดมทุนได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจที่เรามองหาจะต้องเป็นธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ เริ่มสร้างรายได้แล้ว และพร้อมที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด สตาร์ทอัพที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่นี่

นักลงทุนที่สนใจลงทุนระยะกลางไปกับธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ ผ่านการลงทุนคราวด์ฟันดิง สามารถเปิดบัญชีลงทุนกับเพียร์ พาวเวอร์ได้ฟรี

อ่านเพิ่มเติม

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร