เครดิตสกอริ่ง(Credit Scoring)เป็นข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของแต่ละบุคคล ในการขอระดมทุนแบบ Lending Based Crowdfunding การจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำร้องขอจะดูจากคะแนนของผู้ยื่นขอระดมทุนเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อจากธนาคาร
เครดิตสกอริ่งตัวแปรสำคัญใน Lending Based Crowdfunding
การระดมทุนในลักษณะ Lending Based Crowdfunding ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย จึงเป็นรูปแบบที่คนจำนวนมากยังไม่รู้จัก รวมถึงมีคำถามมากมายต่อการขอระดมทุนในลักษณะนี้ หนึ่งในคำถามนั้นคือมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพื่อตอบคำถามนี้ เพียร์ พาวเวอร์ ขอพาไปทำความเข้าใจกับระบบเครดิตสกอริ่ง ตัวแปรสำคัญที่ใช้เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอระดมทุน เพื่อให้ผู้สนใจได้ทำความเข้าใจก่อนเปิดใช้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
เครดิตสกอริ่งคืออะไร
คือระบบการประเมินคะแนนเครดิต ที่พิจารณาจากประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่มีประวัติใช้จ่ายล่วงหน้าในลักษณะการใช้สินเชื่อ เช่น บัตรเครดิตที่เป็นการขอสินเชื่อบุคคล หรือการขอสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันเช่นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ว่ามีการใช้จ่ายและการชำระหนี้ตรงเวลาหรือไม่ เพื่อทำนายความสามารถการชำระหนี้ในอนาคต
เครดิตสกอริ่งของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(National Credit Bureau : NCB)
ข้อมูลเครดิตสกอร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินคือระบบเครดิตสกอริ่งของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือที่หลายๆ คนเรียกว่าศูนย์เครดิตบูโร ที่จะทำการประเมินเครดิตสกอริ่งของผู้ใช้บริการจากสถาบันและผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นสมาชิกของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติที่จะจัดส่งรายงานการใช้จ่ายของผู้ใช้บริการให้ทุกเดือน เพื่อนำมาประเมินด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการชำระหนี้เพื่อตัดเป็นเกรดที่จะบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเจ้าของข้อมูลนั้น ซึ่งใช้ทั้งหมด 6 ปัจจัย
Utilization Pattern
ยอดหนี้คงเหลือหรือยอดเงินที่ใช้ไปเทียบกับวงเงินสินเชื่อ
Debt Burden
ยอดหนี้คงเหลือหรือยอดวงเงินที่ใช้ รวมแต่ละประเภทสินเชื่อ
Recent Credit
จำนวนบัญชีที่เพิ่งเปิดในแต่ละประเภทสินเชื่อ
Severity and Recency of Delinquency
จำนวนเงินคงค้างล่าสุด
Depth of Credit
ความยาว(ระยะเวลา)ของประวัติสินเชื่อ ตามแต่ละประเภทสินเชื่อ
Thickness of Credit with Good Payment
จำนวนบัญชีที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี
Available Credit
ความยาว(ระยะเวลา)ของสินเชื่อที่มี
Enquiry Activity
ความถี่ของการสมัครสินเชื่อใหม่
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติใช้ในการเครดิตสกอริ่ง ล้วนแต่เป็นข้อมูลของการขอสินเชื่อ ปริมาณหนี้สิน และการผ่อนชำระคืน ไม่ใช่ข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่นบัญชีเงินฝาก หรือหน่วยลงทุนของเจ้าของข้อมูลนั้น
เครดิตสกอริ่งและการตัดเกรด
จาก 6 ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะทำการเครดิตสกอริ่งจากรายงานที่ได้รับ เพื่อตัดเป็นคะแนนเครดิต หรือเกรดของเจ้าของข้อมูลแต่ละคน โดยจะไล่จากระดับ AA หมายถึงมีคะแนนสูงที่สุด ไปจนถึงระดับ HH หมายถึงมีคะแนนต่ำที่สุด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ในการพิจารณาสินเชื่อ สถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจมีการอ้างอิงข้อมูลการชำระหนี้ แต่ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์นี้ในการประเมินคะแนนเครดิตโดยตรง โดยแต่ละแห่งจะมีการนำหลักเกณฑ์อื่นๆ มาใช้ประกอบด้วยเพื่อทำการประเมินคะแนนเครดิต
โดยเกรดของคะแนนเครดิตนี้จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยด้วย ถ้าระบบเครดิตสกอริ่งประเมินแล้วได้คะแนนเครดิตในเกรดสูงๆ ถือว่าเป็นคนที่มีศักยภาพในการชำระหนี้สูง อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนสถาบันการเงินจะต่ำกว่ารายที่มีเครดิตสกอร์น้อยกว่า
ข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโรนี้ เจ้าของข้อมูลเป็นผู้เดียวที่ขอตรวจสอบได้ และหากตรวจสอบแล้วพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง เจ้าของข้อมูลต้องการแก้ไขก็สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานบริษัท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ อาคาร2 ชั้น2 ถนนพระรามเก้า เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
เครดิตสกอริ่งที่ดีเกิดจากอะไร
เพียร์ พาวเวอร์ เคยเขียนวิธีเพิ่มคะแนนCredit Scoring ไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่ามีได้ทั้งหมด 5 วิธีคือหมั่นตรวจสอบคะแนนเครดิตของตัวเอง ชำระหนี้ให้ตรงเวลา ลดหนี้สินหมุนเวียน ลดการใช้บัตรเครดิต และเหลือบัตรเครดิตให้น้อยใบที่สุด
จะเห็นได้ว่า 5 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบด้วยการวางแผนการใช้สินเชื่อ และมีวินัยในการจ่ายหนี้ แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง โอกาสที่คะแนนเครดิตจะไม่ดีก็มีสูงตามไปด้วย หากคุณรู้ตัวว่ามีแผนจะขอสินเชื่อในเร็วๆ นี้ 2 สิ่งที่ควรทำคือ
ตรวจเช็คข้อมูลเครดิตของตัวเอง เพื่อดูรายการสินเชื่อและคะแนนที่ได้รับ รวมถึงภาระหนี้สินและการใช้จ่ายที่ผิดปกติ หรือรายงานสินเชื่อที่เจ้าของข้อมูลไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจจะถูกแอบอ้างนำข้อมูลไปใช้ขอสินเชื่อ
ในกรณีที่พบว่าเครดิตสกอริ่งออกมาแล้วเกรดไม่ดี เจ้าของข้อมูลจะได้เตรียมเคลียร์ตัวเองเพื่อขอสินเชื่อครั้งใหม่ และในขณะเดียวกันหากพบว่าถูกแอบอ้างข้อมูลไปใช้ในการขอสินเชื่ออื่น ก็จะได้ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
สร้างคะแนนเครดิตที่ดีขึ้นมาใหม่ ในการพิจารณาให้สินเชื่อ สถาบันการเงินมักตรวจสอบจากข้อมูลย้อนหลังระหว่าง 6 เดือน – 1 ปี ในระหว่างนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ผู้สนใจขอสินเชื่อจะใช้ในการสร้างคะแนนเครดิตที่ดีขึ้นมาใหม่
เครดิตสกอริ่งมีประโยชน์อย่างไร
ถ้ามองเครดิตสกอริ่งในรูปแบบการเป็นแหล่งทุน ทั้งรูปแบบดั้งเดิมและแบบ Lending Based Crowdfunding จะพบว่าคะแนนเครดิตสำคัญต่อทั้งผู้มองหาแหล่งเงินทุน และสถาบันการเงินหรือนักลงทุน
ผู้มองหาแหล่งทุน
ช่วยในการวางแผนใช้แหล่งทุน
ถ้ามีแผนการใช้แหล่งทุนในอนาคต คะแนนเครดิตที่ผ่านการประเมินด้วยระบบเครดิตสกอริ่งนี้ย่อมมีความสำคัญแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินใช้เพื่อพิจารณาอนุมัติการร้องขอ หากมีคะแนนเครดิตที่ดี ผ่านระบบเครดิตสกอริ่งแล้วได้คะแนนสูง เกรดอยู่ในเกณฑ์สามารถชำระหนี้ได้ โอกาสจะได้รับการอนุมัติก็จะสูงตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากประเมินออกมาแล้วพบว่าความสามารถในการชำระหนี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โอกาสจะถูกปฏิเสธก็จะมากตามไปด้วย
ช่วยให้ไม่ก่อหนี้เกินตัว
คะแนนเครดิตนอกจากจะส่งผลต่อการยื่นขอจากแหล่งทุนแล้ว ยังส่งผลต่อการพิจารณาวงเงินที่ขอด้วย หากมีภาระหนี้มาก แต่ขอวงเงินสูงๆ โอกาสที่จะชำระหนี้ได้สำเร็จย่อมน้อยลง โอกาสในการได้รับอนุมัติก็น้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้ามีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ก็มีโอกาสที่สถาบันการเงินจะวงเงินน้อยกว่าให้เหมาะสมกับศักยภาพในการชำระ
สถาบันการเงินหรือนักลงทุน
ลดความเสี่ยงในการเบี้ยวหนี้
ยิ่งระบบเครดิตสกอริ่งมีความเข้มงวดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งกรองคุณสมบัติของผู้ยื่นขอระดมทุนได้มากเท่านั้น ซึ่งสำหรับสถาบันการเงินแล้วนี่คือส่วนสำคัญที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่ ในขณะเดียวกันสำหรับนักลงทุน การเครดิตสกอริ่งในส่วนนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจนใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้มาก
หลักการเครดิตสกอริ่งไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อหรือ Lending Based crowdfunding มีลักษณะที่คล้ายกันคือประเมินความสามารถการชำระหนี้ในอนาคตจากประวัติการชำระหนี้และขอสินเชื่อที่เคยมี นอกจากนี้ตามข้อกำหนดของ กลต. แพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Debt Crowdfunding จะต้องมีระบบเครดิตสกอริ่งของตนเอง ซึ่งในกรณีของเพียร์ พาวเวอร์ นอกจากจะใช้ข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติแล้ว ยังมีการนำระบบประเมินที่พัฒนาขึ้นด้วยตนเองของเพียร์ พาวเวอร์ และการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเครดิต(Credit Specialist)มาใช้ประกอบกัน