The Basics

Debt Crowdfunding การระดมทุนเพื่อธุรกิจ SME

by
PeerPower Team
June 21, 2019

Debt Crowdfunding การระดมทุนเพื่อธุรกิจ 

ถ้าพูดถึงการร่วมระดมทุนเพื่อธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะตลอดระยะเวลาในการดำเนินกิจการของ เพียร์ พาวเวอร์ ทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการน่าจะคุ้นเคยกันดีกับรูปแบบ Marketplace Lending ที่เราร่วมระดมทุนเพื่อธุรกิจ SME ในรูปแบบสินเชื่อ

แต่สำหรับประเทศไทย การระดมทุนในรูปแบบนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ และเชื่อว่าแม้แต่ผู้ที่เคยใช้บริการกับเพียร์ พาวเวอร์มาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะยังทราบข้อมูลไม่รอบด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันบทความนี้จะบอกได้ว่าการระดมทุนในรูปแบบ Debt Crowdfunding ในประเทศไทยตามประกาศของ กลต.  เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 นั้นเป็นอย่างไร

Debt Crowdfunding คืออะไร

รูปแบบแหล่งเงินทุนในโลกนี้มีอยู่มากมาย คนส่วนใหญ่ถ้าต้องการเงินทุนจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เงินเก็บหรือครอบครัว ที่แรกที่จะนึกถึงก็คือธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เพราะเป็นแหล่งทุนดั้งเดิมที่เราจะนึกถึงได้ในทันที แต่สำหรับ Debt Crowdfunding แล้วจะมีรูปแบบที่ต่างออกไป เพราะเป็นลักษณะของการระดมทุนเพื่อธุรกิจ SME โดยผู้ประกอบการจะนำธุรกิจของตนออกมาขอระดมทุนจากนักลงทุนในลักษณะการออกหุ้นหรือผ่านตัวกลางที่ทำหน้าที่จัดการและนำเสนอกิจการดังกล่าวเพื่อให้นักลงทุนเลือกลงทุน โดยมีหน่วยลงทุนเริ่มต้นที่ 50,000 บาท จากนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจนั้น ซึ่งสามารถมีได้หลายคน โดยแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางการลงทุนจะเป็นผู้รวบรวมเงินที่ได้จากการลงทุนไปมอบให้กับผู้ประกอบการเมื่อมีการระดมทุนครบจำนวนแล้ว และจัดการกับผลตอบแทนให้นักลงทุนเมื่อมีการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย โดยผู้ดำเนินการแพลตฟอร์มจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียม

Debt Crowdfunding มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ในการระดมทุนหรือเพื่อธุรกิจในรูปแบบ Debt Crowdfunding มีองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบที่มีจุดประสงค์และหน้าที่ต่างกัน 

1. เจ้าของกิจการผู้ขอออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง

2. เจ้าของธุรกิจ SME ที่จดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว และต้องการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ จึงนำกิจการของตนเองมาขอระดมทุนจากนักลงทุนในลักษณะการออกหุ้นหรือหุ้นกู้ ผ่านผู้ให้บริการที่ทำหน้าเป็นตัวกลางระหว่างผู้ออกหุ้นกู้กับนักลงทุน ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

 2.1. เป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อขอกู้ยืมสำหรับการประกอบธุรกิจ 

 2.2. ขอระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อจำนวนทั้งหมด

 2.3. ขอระดมทุนต่อนักลงทุนรายใหญ่ไม่มีจำนวนจำกัด เจ้าของกิจการจะได้รับวงเงินตามที่ขอไป ถ้าการระดมทุนประสบผลสำเร็จ และต้องชำระเงินต้นและผลตอบแทนคืนให้กับนักลงทุนตามสัญญา แต่การระดมทุนอาจจะล้มเหลวได้ถ้าไม่มีผู้สนใจลงทุน 

3. นักลงทุน

คือผู้ที่นำเงินมาลงทุนกับกิจการ SME หรือสตาร์ทอัพ ที่ต้องการระดมทุน ในการลงทุนแบบ Debt Crowdfunding จะเริ่มลงทุนได้ที่หน่วยลงทุนละ 50,000 บาท โดยมีนักลงทุน 2 แบบ คือ

3.1. นักลงทุนรายย่อย เป็นนักลงทุนทั่วไป ที่มีคุณสมบัติตามที่ SEC กำหนด โดยจะลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในรอบ 12 เดือน

3.2 นักลงทุนที่มิใช่รายย่อย (Non-retail investor)  แบ่งออกเป็น 

 3.2.1 ผู้ลงทุนสถาบัน Institutional Investor เป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนหรือกิจการเงินร่วมลงทุน Venture Capital (VC) และ Private Equity (PE)

3.2.2 ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ Qualified Investor (QI) คือนักลงทุนที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งจากคุณสมบัติดังต่อไปนี้

- เคยลงทุนโดยตรงในหุ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยสินทรัพย์ดังกล่าวไม่นับรวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยประจำของบุคคลนั้น (อาจนับรวมกับส่วนของคู่สมรสได้)

- เคยลงทุนโดยตรงในหุ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี  มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป (อาจนับรวมกับส่วนของคู่สมรสได้)

- เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือการลงทุน หรือผู้ที่เคยประเมินคุณค่าของผู้ประกอบธุรกิจหรือให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจ มาไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน นักวิเคราะห์ ผู้บ่มเพาะธุรกิจ (incubator) กรรมการหรือผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้บริหารของธุรกิจ เป็นต้น โดยบุคคลดังกล่าวต้องมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้นตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา(Loan term) ซึ่งในการลงทุนแบบ Debt Crowdfunding ผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับการประเมินและเงื่อนไขจากผู้ให้บริการ

4. ผู้ให้บริการในการลงทุน 

เป็นบริษัทหรือกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสำหรับการคัดกรองธุรกิจที่มีศักยภาพ และเปิดตลาดให้ธุรกิจที่ต้องการขอระดมทุนจากนักลงทุนได้พบกัน และดูแลกระบวนการกู้ยืมตั้งแต่การระดมทุน ทำสัญญา รายงานผลการระดมทุน ดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้ยืม ตลอดจนผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ โดยได้รับค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียม ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์ทำหน้าที่ให้บริการในส่วนนี้อยู่ 

Debt Crowdfunding มีประโยชน์อย่างไร

แหล่งเงินทุนในรูปแบบดังกล่าว เอื้อประโยชน์ให้กับ 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ประกอบการ SME หรือ สตาร์ทอัพ ซึ่งเรียกรวมกันว่าผู้ออกหุ้นกู้ กับกลุ่มนักลงทุน โดยผลประโยชน์ที่ได้จาก Debt Crowdfunding สามารถแยกตามกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้ง 2 กลุ่มได้ดังนี้

เจ้าของกิจการในที่นี้คือผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล และดำเนินกิจการมาระยะหนึ่งและต้องการขยายกิจการให้เติบโตขึ้น 

เข้าถึงได้ง่ายกว่า

สาเหตุที่ผู้ประกอบการ SME จะหันไปหาแหล่งเงินทุนอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินดั้งเดิม เป็นเพราะข้อจำกัดด้านคุณสมบัติในการเข้าถึงสินเชื่อ แต่ Debt Crowdfunding มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่า เช่นจดทะเบียนมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีการพิจารณาอนุมัติให้เข้าไปอยู่ในระบบของผู้ให้บริการเพื่อเตรียมการระดมทุนได้ง่ายกว่า 

มีโอกาสได้รับเงินทุนมากกว่า

เพราะ Debt Crowdfunding เป็นแหล่งเงินทุนที่มีมูลค่ารวมเป็นจำนวนมาก แต่สามารถแบ่งหน่วยลงทุนให้ย่อยลงจากนักลงทุนหลายคนได้ โอกาสที่นักลงทุนจะกล้าลงทุนเป็นจำนวนน้อยในหลายธุรกิจ จึงมากกว่าลงทุนก้อนใหญ่ในคราวเดียว 

สามารถเลือกวงเงินที่เหมาะสมและระยะเวลาในการชำระคืนได้สะดวกกว่า

การขอสินเชื่อในวงเงินที่มากเกินความต้องการ เป็นอีกหนึ่งในกับดักที่ทำให้ผู้ประกอบการล้มเหลวในการบริหารเงินทุน นอกจากจะไม่ได้รับอนุมัติแล้ว การมีหนี้สินก้อนใหญ่เกินกว่ากำลังการผลิตและบริหารกิจการจะกลายเป็นภาระในการชำระคืนทันที ซึ่งระบบ Debt Crowdfunding มีข้อกำหนดว่าผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนต้องมีเครื่องมือหรือระบบที่มีความสามารถในการประเมินความเสี่ยง รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลากู้ยืมที่เหมาะสมให้กับผู้ออกหุ้นกู้ด้วย

ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

เพราะเป็นการออกหุ้นกู้เพื่อขอระดมทุน ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ที่กิจการกำลังเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาค้ำประกันซึ่งมักเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งจากสถาบันการเงินหลัก

นักลงทุน 

ผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันไม่ต่างกัน คือได้เป็นการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่ Debt Crowdfunding ยังมีประโยชน์อื่นสำหรับนักลงทุนอีกด้วย 

เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสด

ตามที่ได้บอกไว้ด้านบน ว่า Debt Crowdfunding มีลักษณะเป็นการกู้ยืมที่มีการชำระคืนเป็นงวดๆ พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดรายเดือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่เลือกไว้ 

มีระยะเวลากู้ยืมไม่นาน 

การระดมทุนผ่านหุ้นกู้แบบ Debt Crowdfunding จะมีช่วงระยะเวลาในการกู้ยืมอยู่ที่ระหว่าง 12 - 24 เดือน เมื่อเทียบกับหน่วยลงทุน ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไปเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่นพันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม ซึ่งมักให้ผลตอบแทนทุก 6 เดือน

กระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดี

การกระจายการลงทุนเป็นหน่วยย่อยๆ ในหลายๆ ธุรกิจ เป็นการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversification) ได้ดีกว่าการลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในคราวเดียว 

Debt Crowdfunding กับความเสี่ยง 

เมื่อพูดถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากDebt Crowdfunding ไปแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะละเลยในการพูดถึงความเสี่ยงสำหรับทั้งผู้ออกหุ้นกู้และนักลงทุน ซึ่งรับความเสี่ยงกันคนละด้าน

1. ความเสี่ยงสำหรับเจ้าของกิจการ 

เจ้าของกิจการผู้ออกหุ้นกู้ ความเสี่ยงที่ผู้ออกหุ้นกู้ต้องพิจารณาก่อนนำธุรกิจเข้าสู่ระบบ Debt Crowdfunding มีอยู่เพียง 2 ข้อ

- การให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลการเงินของบริษัท ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบคัดกรองธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และมีความสามารถในการชำระหนี้คืนก่อนนำเข้าสู่ระบบระดมทุน ซึ่งส่วนนี้เองที่ผู้ประกอบการต้องส่งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของบริษัทให้ผู้ให้บริการตรวจสอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลได้

- การระดมทุนไม่สำเร็จ Debt Crowdfunding คือ การขอทุนก้อนใหญ่จากจำนวนเงินย่อยๆ ของนักลงทุนหลายๆ คน ซึ่งหากธุรกิจไม่น่าสนใจ หรือมีระยะเวลาการขอทุนที่นานเกินไป ก็อาจไม่ได้รับความสนใจและขอระดมทุนไม่สำเร็จได้เช่นกัน

2. ความเสี่ยงของนักลงทุน 

การลงทุนใน Debt Crowdfunding สำหรับนักลงทุนแล้วก็ไม่ต่างจากการซื้อหุ้นกู้ คือการซื้อสิทธิ์ความเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งสำหรับการลงทุนในลักษณะนี้ ความเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึงมีอยู่หลายข้อ

- ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับเจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดจากการชำระหนี้นี้ จะเกิดขึ้นหากบริษัทที่ลงทุนไปไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามที่คาดหวัง อาจทำให้ผู้ประกอบการ SME หรือสตาร์ทอัพจ่ายคืนหนี้ไม่ได้ตามกำหนด หรือเลวร้ายกว่านั้นคือธุรกิจปิดตัวลง วิธีแก้ไขในลักษณะนี้คือต้องดูทิศทางกิจการที่ลงทุนให้ดี ตลอดจนเลือกกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้หลากหลายธุรกิจ 

- ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง

ปกติแล้วสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ในตลาดแรกหรือตลาดรอง แต่ Debt Crowdfunding ทำไม่ได้ เพราะเป็นลักษณะการซื้อความเป็นเจ้าหนี้มากกว่าเอกสารสิทธิ์ในการลงทุน 

สำหรับนักลงทุนในประเทศไทยแล้ว Debt Crowdfunding อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับในประเทศอื่น Debt Crowdfunding เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ดังนั้นหากนักลงทุนจะเลือกการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า การลงทุนกับ Debt Crowdfunding ผ่าน เพียร์ พาวเวอร์ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี

_______________________________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร