Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว

by
July 23, 2019

การมาถึงของนวัตกรรมดิจิทัล บางครั้งถูกมองเป็น Digital  Disruption ซึ่งมีการถกเถียงกันเป็นวงกว้าง บ้างมองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาสู่สิ่งใหม่ๆ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบดั้งเดิมเดิมถูกทำลายลง

  • Digital Disruption คือการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบ วิธีการ รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคมใดสังคมหนึ่งไปอย่างฉับพลัน
  • โมเดลของนวัตกรรมที่ถือเป็น Disruptive ต้องทำให้เกิด 3 สิ่งขึ้น คือ เกิดผลลัพธ์จากรูปแบบหรือโมเดลนั้น สามารถตีตลาดใหม่ได้ และเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นดิจิทัล (Digital Based Model)
  • การเกิด Digital Disruption เป็นไปได้ใน 3 โมเดล คือการเปลี่ยนความต้องการของตลาด เปลี่ยนการใช้จ่าย และเปลี่ยนการติดต่อสื่อสาร
  • เมื่อโมเดลของ Digital Disruption ประสบความสำเร็จ จะสร้างผลลัพธ์ 3 ข้อคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาด เกิดการเปลี่ยนแปลงในวัฏจักรและการหมุนเวียนในตลาด และเกิดการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการให้บริการ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจดั้งเดิม ที่จะถูกทำลายลง

Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว

หลายปีมานี้ เพียร์ พาวเวอร์ เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า Digital Disruption กระแสความตื่นตัวที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกออนไลน์ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัวของเราไปอย่างเห็นได้ชัด เราจึงได้เห็นทั้งความตื่นเต้นและตื่นกลัวจากหลายฝ่าย เพราะ Digital Disruption คือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที และไม่มีใครตอบได้ว่าที่สุดแล้วมันจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างไรในอนาคต แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนาที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งทางธุรกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในส่วนที่เพียร์ พาวเวอร์จะพูดถึงต่อไปนี้ คือเรื่องของ Digital Disruption ที่ส่งผลต่อธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน

Digital Disruption คืออะไร

ความหมายแบบตรงตัวคือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันทีด้วยดิจิทัล ซึ่งขยายความได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นถึงจุดที่สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ แพลตฟอร์ม หรือโมเดล และเกิดผลกระทบต่อมูลค่าของสินค้า บริการ หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีในตลาด

Digital Disruption มีลักษณะอย่างไร

บางครั้งเมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา หลายคนจะเกิดความตื่นกลัวว่า นี่คือ Digital Disruption ใช่หรือไม่ และอาจเหมารวมทุกโมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานความเป็นดิจิทัลอยู่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งไม่จริงเสมอไป เทคโนโลยีบางอย่างที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกิดเป็น Disruptive ก็มีเช่นกัน การจะพิจารณาว่าโมเดลธุรกิจใดเป็นหรือไม่เป็น Digital Disruption ดูได้จาก 3 ข้อต่อไปนี้

เกิดผลลัพธ์ใหม่จากโมเดลนั้นหรือไม่

ในส่วนนี้จะดูว่าโมเดลหรือนวัตกรรมนั้นแก้ปัญหาให้กับลูกค้าในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้หรือไม่ เช่น บริการเรียกรถที่แก้ปัญหาคนที่บ้านอยู่ห่างจากถนนใหญ่ หรือบริการชมภาพยนต์แบบ Netflix ที่แก้ปัญหาคนไม่มีเวลาชมภาพยนต์

สามารถสร้างตลาดใหม่ได้หรือไม่

กลุ่มลูกค้าของสินค้าหรือบริการจากโมเดลธุรกิจนั้น เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกิดเป็นตลาดใหม่ที่มีฐานลูกค้าซึ่งแตกต่างจากลักษณะเดิมอย่างไร

เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการเป็นดิจิทัลหรือไม่

เมื่อพูดถึง Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะการแทรกแซงหรือทำลายจึงต้องเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลตามไปด้วย หากโมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ตีตลาดใหม่ได้ หรือแก้ปัญหาใหม่ได้แต่อยู่บนโมเดลธุรกิจอื่นก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายนี้

Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัว

Digital Disruption มีกี่ประเภทอะไรบ้าง

จากองค์ประกอบของความเป็น Digital Disruption ที่กล่าวมาแล้ว เราจะพบว่า Digital Disruption สามารถแบ่งประเภทย่อยๆ ให้ลึกลงไปได้ โดยวิธีการจำแนก ที่นิยมกันมี 2 แบบคือ

การแบ่งประเภท Digital Disruption ตามสิ่งที่เข้าไปเปลี่ยนแปลง

ในที่นี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

เปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด (Transformation of Market Demand)

คือทำให้เกิดความอยากซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นใหม่มากกว่าที่มีอยู่และเคยเป็นที่ต้องการดั้งเดิม กรณีศึกษาเช่นการที่ฟิล์มสีโกดักส์ต้องเลิกผลิตไปเพราะการมาของกล้องดิจิทัล หรือพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถแบบ Uber หรือ Grab car ที่คนนิยมใช้มากขึ้นแทนการขึ้นแท็กซี่นั่นเอง

เปลี่ยนแปลงการซื้อขายและจ่ายเงิน (Transformation of shopping and purchase)

เดิมการซื้อขายอิงกับเวลาและสถานที่ เราต้องจ่ายเงินสด เพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการ แต่ในปัจจุบันด้วย Digital Disruption ข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวได้หายไป เราสามารถซื้อขายผ่านออนไลน์ในระบบมาร์เก็ตเพลสต่างๆ จ่ายเงินออนไลน์ได้ รวมถึงมี E-Wallet ที่ทำให้การใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลเป็นไปได้ง่ายขึ้น

เปลี่ยนแปลงการสื่อสาร (Transformation of communication)

เราอยู่กับการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา การสื่อสารที่เป็น Digital Disruption คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีการ วิธีคิดที่ใช้ในการสื่อสารให้ต่างไปจากเดิม เช่นเมื่อก่อนคนจะโทรศัพท์ผ่านเบอร์โทรศัพท์เพื่อพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว แต่ในปัจจุบัน นิยมใช้การส่งข้อความแบบ Instant Message มากกว่า หรือคนทั่วไปจะไม่ค่อยโพสต์ภาพส่วนตัวทางออนไลน์ แต่เมื่อมาถึงยุคเฟื่องฟูของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ที่คนแชร์หรือบันทึกเหตุการณ์ประจำวันในชีวิตด้วยสื่อต่างๆ ทั้งภาพ วิดีโอ ข้อความ ทั้งในลักษณะบุคคลต่อบุคคล หรือเป็นช่องทางที่เจ้าของธุรกิจใช้สื่อสารกับลูกค้าของตัวเองด้วย

การแบ่งประเภท Digital Disruption ตามโมเดลธุรกิจ

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการ Disruption แล้ว เกือบ 100% ของมันเกิดจากการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ในโมเดลที่แตกต่างกัน ซึ่งโมเดลธุรกิจที่เป็น Digital Disruption สามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภท

Experience Model เป็นโมเดลธุรกิจประเภทที่เกิดขึ้นจากการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้สินค้าและบริการ เช่นทัวร์อวกาศ หรือรถยนต์ไร้คนขับของเทสลา Digital Disruption ประเภทนี้ มักมากับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ต่อยอดจากเทคโนโลยีผสมกับความต้องการเติมเต็มความรู้สึกของมนุษย์

Subscription Model คือสิ่งที่ต้องสมัครสวมาชิกก่อนถึงจะใช้บริการได้ โมเดลธุรกิจประเภทนี้คือสิ่งที่เราต้องเสียเงินเพื่อซื้อแพคเกจสินค้าหรือบริการของมันนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น แพลตฟอร์มในการดูหนัง ฟังเพลงต่างๆ ลักษณะนี้จะต่างจากการเป็นสมาชิกสิทธิพิเศษพวก Privileged ที่สินค้าหรือบริการเป็นอย่างอื่น แต่มีของแถมให้ถ้ามีการสมัครเป็นสมาชิก ลักษณะนี้จะเปลี่ยนความต้องการของตลาดจากซื้อสินค้าจาก

Free Model ที่จริงแล้วธุรกิจมีคำว่าฟรีหรือไม่ หลายคนก็อาจจะยังสงสัยอยู่ แต่ธุรกิจประเภท Digital Disruption มีโมเดลประเภทฟรีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของบริการ ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น Facebook, Instagram ซึ่วผู้ใช้จะเปิดบัญชีแล้วใช้งานได้ เป็นต้น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงจากการซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการเป็นการใช้ฟรีนั่นเอง สังเกตง่ายๆ แทบไม่มีใครโทรหากันจากเบอร์โทรศัพท์อีกแล้วถ้ามีบัญชีไลน์ หรือเฟชบุ๊คที่สามารถโทรผ่านอินเทอร์เน็ตได้

Access Over Ownership Model เป็นลักษณะการ Login เข้าไปใช้บริการ แต่ไม่ใช่เจ้าของบริการนั้นเปิดให้ใช้เอง โมเดลลักษณะนี้เราจะเห็นได้จากแพลตฟอร์มการเช่าบริการต่างๆ เช่น Airbnb เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้ซื้อจากต้องซื้อบริการจากเจ้าของสินค้าหรือบริการที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการโดยตรง ก็เปลี่ยนมาซื้อบริการที่เทียบเท่ากันได้

Ecosystem model คือการสร้างระบบที่ต้องใช้งานร่วมกันในสินค้าหรือบริการใดบริการหนึ่ง ลองมองไปรอบตัวหากคุณใช้สินค้าของ Apple คุณอาจพบว่าคุณไม่ได้มีสินค้าตระกูลนี้แค่เพียงชิ้นเดียว เช่นเดียวกับคนใช้แอนดรอยส์ที่อาจมีสินค้าที่ใช้ระบบของแอนดรอยส์อยู่หลายชิ้น เช่นมีแลปท็อป สมาร์ทวอทช์ แท็บเล้ต อื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ระบบเดียวกัน เป็นกึ่งๆ การผูกขาดทางเทคโนโลยีที่ทำให้ต้องซื้อสินค้าและบริการจากผู้ผลิตเจ้าเดิมอยู่เรื่อยๆ

On Demand Model การขายบริการที่ลูกค้าจะซื้อเป็นครั้งๆ แต่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสินค้านั้นออกมาขายได้น้อยลง เช่นแกรบคาร์ ไลน์แท็กซี่ เป็นต้น

Freemium Model เราอาจจะเรียกมันว่าเป็นบริการทดลองใช้และซื้อเพื่อให้ได้บริการที่เหนือกว่า หรือมีระยะเวลาทดลองใช้ถ้าใช้ดีให้ลงทะเบียนเพื่อใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ฟรีอีกต่อไป จะแตกต่างจาก Free Model ที่ฟรีจริงไม่จ่ายเงิน เราจะเจอโมเดลธุรกิจ Digital Disruption แนวนี้ได้จากหลายแพลตฟอร์ม เช่น Dropbox เว็บบริการเทมเพลตพรีเซนเตชั่นแบบ Rainforest เป็นต้น

Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัว

Digital Disruption กับโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับผู้ปะกอบการ การมาถึงของ Digital Disruption ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ไม่น้อยเลย หากผู้ประกอบการสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ หรือเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าคิดนวัตกรรมต่างๆ ไม่ออก ผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นแล้วมาต่อยอดให้ธุรกิจของเราได้มากทีเดียว เช่นการใช้ประโยชน์จาก ออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ที่ลงขายสินค้าได้ รวมถึงมีระบบจัดการหลังบ้านที่ใช้งานง่ายรวมถึงการจ่ายเงินครบในที่เดียว ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME สามารถขายออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องลงทุนทำตลาดเองนอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถสร้างโอกาสได้จาก Digital Disruption ในลักษณะของการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เช่น แกรบ ไลน์ Airbnb เป็นต้น

Digital Disruption กับโอกาสในการลงทุน

สำหรับนักลงทุนแล้วหุ้นกลุ่ม FAANG ยังคงน่าสนใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะ Facebook ที่ช่วงนี้ดูจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากการเข็นเอา Libra ออกมาให้ทั่วโลกตะลึงกันเล่นๆ แม้จะยังไม่ลอนช์ออกมาให้ใช้จริงจัง แต่ก็ฉุดบิทคอยน์ที่ขาลงมาสักพักให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หรือหากเป็นนักลงทุนที่เน้นการเติบโต การมองหาบริษัทเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่มีโอกาสเติบโตก็มีอยู่ไม่น้อยความเปลี่ยนแปลงมี 2 ด้านเสมอ ทั้งด้านน่าสะพรึงกลัว และด้านที่นำพาความหวังมาให้ อยู่ที่เราจะค้นพบด้านไหนมากกว่ากัน เพียร์ พาวเวอร์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruption ไม่ได้น่ากลัว หากเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับมันได้ เหมือนกับการขอสินเชื่อหรือลงทุนแบบเดิมๆ ที่สามารถมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าแบบเพียร์ พาวเวอร์นั่นเอง

______________________________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร