ผลกระทบ และอนาคตด้านการคมนาคม – การขนส่ง (Mobility Transformed)

by
PeerPower Team
May 28, 2021

ผลกระทบ และอนาคตด้านการคมนาคม – การขนส่ง

อย่างที่ทราบกันดีว่า ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งด้านคมนาคม และการขนส่งก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน  โดยรายงาน mobility report จาก Google Trend ได้ระบุว่ากิจกรรมการเดินทางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้น คือ การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ และ รถเมล์ ซึ่งมีการปรับลดลงถึง 54% , การเดินทางไปยังสวนสาธารณะลดลง 48% และการเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าลดลง 19% เปรียบเทียบกับอัตราการใช้ขนส่งสาธารณะในสภาวะปกติ

จาก ‘คนเข้าหาสินค้า’ สู่ ‘สินค้าเข้าหาคน’

เทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ ‘คนเข้าหาสินค้า’ กลายมาเป็น ‘สินค้าเข้าหาคน’ (จากเทรนด์การค้นหา คีย์เวิร์ดในอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับ บริการจัดส่งอาหาร และออนไลน์ซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันที่มีจำนวนมากขึ้น 2 ถึง 4 เท่า) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซนั้นยังคงเติบโตได้ดี และความต้องการสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นนั้นดังกล่าว ส่งผลให้ระบบลอจิสติกส์ และหลาย ๆ ธุรกิจในปัจจุบัน ได้เริ่มมีการปรับใช้กลยุทธ์ออนไลน์ เพื่อตอบรับเทรนด์ที่เกิดขึ้น

โกดังให้เช่า กำลังเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) และ โลจิสติกส์ (Logistics)

กระแสธุรกิจ e-commerce ที่ยังคงความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้มีผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายใหญ่หันมาจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้สอยโกดังเก็บสินค้าที่มากขึ้นตามไปด้วย ทางเราได้พูดคุยกับ คุณ เฉลิม ทองสุข CEO จาก บริษัท มีสุข คอร์ปอเรชั่น ผู้บุกเบิกนวัตกรรมงานก่อสร้างสำเร็จรูปในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการโกดังให้เช่า ซึ่งได้แชร์มุมมองว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้มีธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาใช้บริษัทเช่าโกดังเก็บสินค้าจากทางบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัท มีสุข เองนั้นยังคงเดินหน้าที่จะรักษาข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันทางธุรกิจด้วยโมเดลเช่าที่ดิน แทนการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโกดังสินค้าซึ่งทำให้บริษัทมีต้นทุนดำเนินงานที่ต่ำ รวมไปถึงการสร้างโกดังสินค้าขนาดย่อม และขนาดกลางซึ่งครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เป็นที่ต้องการของธุรกิจขนส่ง และกระจายสินค้า

Micro mobility จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างการเดินทาง

การเติบโต และการขยายตัวเมือง ในประเทศไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากโครงการส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ ๆ และโครงการคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเหล่านั้น คอนเซ็ปต์ของ Micro transit และ On-demand transit จึงมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น ในการเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง และรองรับระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในกรุงเทพฯนั้น มีจำนวนกว่า 3.5 พันล้านรอบโดยสาร ต่อปี จึงทำให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่าง MuvMi ผู้ให้บริการระบบรถตุ๊ก ตุ๊กไฟฟ้า ผ่าน mobile application ที่ผู้ใช้งานสามารถแชร์การเดินทางระยะสั้นร่วมกับผู้โดยสารอื่น ๆ ในเส้นทางเดียวกัน ซึ่งช่วยลดค่าจ่ายในการเดินทาง รวมถึงให้ความสะดวกสบายจากการเรียกรถแบบ on-demand ผ่านมือถือ โดย ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ CEO และผู้ก่อตั้ง MuvMi ได้เผยให้เราเห็นถึงปริมาณความต้องการ และจำนวนรอบโดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตของรอบโดยสารต่อเดือน สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวจากช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

กลุ่มหุ้นโลจิสติกส์ และ หุ้นการขนส่งยังคงเติบโตได้ดี

หุ้นในกลุ่มโลจิสติกส์ และการขนส่งนั้นยังคงแข็งแกร่งและมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเหนือกว่าดัชนีเทียบเคียงในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับที่ดีของตลาดต่อธีมการลงทุนโดยรวมของสองกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

หุ้นขนส่งสินค้า และบริการครบวงจรอย่างบริษัท ทริปเพิลไอ โลจิสติกส์ (SET:III) เองได้มีผลประกอบการที่ดีจากการรับรู้รายได้รวมได้เติบโตขึ้น 10% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางหุ้นจัดส่งพัสดุปลายทางอย่าง เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (SET:KEX) เองก็มีผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจ โดยมีอัตรากำไร EBITDA เพิ่มขึ้นจาก 22.3% เป็น 23.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่ารายได้จะลดลงประมาณ 13% จากปัจจัยด้านการปรับราคาต่อพัสดุเชิงรุกและการเจาะเข้าสู่กลุ่มการจัดส่งราคาประหยัด

ความท้าทาย และโอกาสที่เกิดขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มตระหนักได้ว่า จริง ๆ แล้ว ธุรกิจที่จะสามารถเติบโตได้ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารด้วยว่าจะมีทัศนคติ กลยุทธ์ และแนวทางที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดีขนาดไหนดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ หรือธุรกิจใด เราจึงควรให้ความสำคัญ กับภาพรวม และทิศทางในการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งสำหรับธุรกิจที่ระดมทุนอยู่บนแพลตฟอร์มเพียร์ พาวเวอร์นั้น เราได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ในหนังสือชี้ชวน (Prospectus) เพื่อให้ง่ายแก่นักลงทุนบนแพลตฟอร์มในการศึกษา และตัดสินใจลงทุนนั่นเอง

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร