วางแผนลงทุนตามวัย เตรียมรับมือหลังเกษียณ
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การวางแผนลงทุนเพื่อเตรียมตัวเกษียณก็เป็นเรื่องประเภทที่ว่า “ยิ่งรู้เร็วยิ่งดี” เพราะถ้าเตรียมตัวเร็วก็จะสามารถออกแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาวได้ และจะเหนื่อยน้อยกว่ามาทำแผนตอนอายุปาไปค่อนคน (แต่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ วางแผนซะตอนนี้เลยก็ดีกว่าปล่อยให้นานไปอีก)
วันนี้ PeerPower เลยจะมาพูดถึง การวางแผนลงทุน เตรียมรับมือเกษียณ เผื่อใครกำลังเตรียมแผนฯ หรืออยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากมี “passive income” แต่ยังไม่แน่ใจว่าอายุเท่านี้ควรลงทุนอะไรดี หรือต้องมีเงินเท่าไหร่ เราขอเสนอวิธีพวกนี้เป็นแนวทางให้ลองเอาไปทำตาม
3 คำถามวางแผนลงทุนเตรียมเกษียณ
ก่อนหน้านี้เราได้พูดเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ใน มีเงิน 100,000 บาทลงทุนอะไรดี ? ในบล็อกนั้นจะเป็นการพูดอย่างคร่าว ๆ ถึงเป้าหมายรวม ๆ เพื่อให้เห็นภาพว่าเราจะลงทุนไปเพื่ออะไร แต่ในบล็อกนี้เราจะพูดถึงการเกษียณ ดังนั้นคำถามจึงควรเฉพาะเจาะจงขึ้นมาหน่อย เช่น 3 ข้อนี้
- คุณอยากเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ ?
- ตอนนี้อายุเท่าไหร่ คิดว่าจะมีชีวิตถึงอายุเท่าไหร่ นับเป็นกี่ปีหลังเกษียณ?
- อยากมีเงินใช้ต่อเดือนเท่าไหร่
แล้วลองเอาตัวเลขจากทั้ง 3 ข้อ มาแทนค่าในสูตรนี้
เงินเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 (ปี) x ระยะเวลาหลังเกษียณ
สมมุติเช่น ปัจจุบัน PeerPower อายุ 40 ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกษียณตอนอายุ 55 และคิดว่าคงอยู่ได้อีกสักราว ๆ 25 ปี (ตอนนั้น 80 พอดี) อยากมีเงินใช้ 40,000 ต่อเดือน
ถ้าแทนค่าตามสูตรข้างบน จะเท่ากับว่า
40,000 x 12 x 25 = 12,000,000
น้อง PeerPower ต้องมีเงินเก็บประมาณ 12 ล้านบาทถึงจะมีเงินพอใช้ช่วงเกษียณตามฝัน! ตัวเลขไม่น้อยแต่ดูแล้วก็ยังพอไหว
แต่นี่เรายังไม่ได้คิดเงินเฟ้อ หากอ้างอิงตามธนาคารแห่งประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อในไทยล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 5.89% ถ้าลองเอาเงิน 12 ล้าน มาคิดเล่น ๆ ก็จะหมายความว่าน้อง PeerPower ควรมีเงินอยู่ประมาณ 50 ล้านด้วยซ้ำถึงจะมีเงินใช้แบบไม่เดือดร้อน (ลองคำนวณที่นี่)
ด้วยเงินจำนวนนี้ไม่รู้เก็บกี่ชาติถึงจะพอ แต่หากเอามาลงทุนยังพอมีโอกาส อาวุธที่เราจะเอามาสู้กับเงินเฟ้อได้ก็คือดอกเบี้ยทบต้น นั่นก็คือการนำผลตอบแทนจากการลงทุนเอาไปลงทุนต่อเนื่องโดยไม่เอาออกมาใช้จ่าย และถ้าคิดแบบนี้ก็จะเห็นว่าเราควรหาทางลงทุนให้ได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ
ถ้าใครในวัยไหนไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไรยังไงดี ลองอ่านวิธีข้างล่างนี้
อายุเท่าไหร่-วัยไหน ควรลงทุนรับมือเกษียณยังไง
จริง ๆ แล้วการวางแผนเกษียณควรเป็นไปอย่าง Steady and Slow คือ เริ่มตั้งแต่อายุน้อยจะได้ประโยชน์มากกว่าการวางแผนเมื่ออายุเข้าวัยกลางคน
ลองนึกภาพกรณีเงิน 12 ล้านที่ต้องมีตอนเกษียณ ถ้าสมมุติทยอยเก็บเดือนละ 20,000 ตั้งแต่อายุ 25 พออายุ 50 จะได้เงินรวมราว 6 ล้าน (20,000 x 12 x 25 *ไม่รวมดอกเบี้ยทบต้น ถ้ารวมก็จะมากกว่า*) ซึ่งแบบนี้จะง่ายกว่าการมาเก็บรวดเดียวตอนอายุ 40
จริงอยู่ที่แต่ละคนมีปัจจัยรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน แต่เราขอนำเสนอข้อมูลโดยรวมตามอายุว่า โดยทั่วไปแล้ว วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยใกล้เกษียณ แต่ละวัยควรสร้าง mindset และมองหาอะไรจากการลงทุน
วัยเริ่มต้นทำงาน อายุประมาณ 20 - 35
วัยนี้ถือเป็นวัย “สะสมความมั่งคั่ง” (wealth accumulation phase) คนส่วนมากในวัยต้น 20 เพิ่งเริ่มงาน เงินเดือนเริ่มต้นอาจไม่สูงมาก แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังค่อนข้างน้อยจึงได้เปรียบในการวางแผนลงทุนเพราะรับความเสี่ยงได้มาก และหากเริ่มลงทุนเพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณก็มีเวลาเหลือเฟือ
สำหรับการลงทุน ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากเงินเดือนเก็บไว้เป็นเงินลงทุน แล้วแบ่งเงินจำนวนนั้นเป็น 2 ส่วน
- ส่วนแรกสำหรับการลงทุนระยะยาว เช่น ลงทุนรอปันผลเพื่อแผนเกษียณ เก็บเงินซื้อบ้าน ฯลฯ
- ส่วนที่สองสำหรับลงทุนระยะสั้น ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงตามมา ลองทำแบบทดสอบวัดระดับวามเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ แล้วเลือกลงทุนตามสินทรัพย์ที่รับความเสี่ยงได้ อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น หรือถ้าใครยังนึกภาพไม่ออก ลองอ่านบทความ วัยรุ่นเริ่มลงทุน ของ ก.ล.ต. ก็อาจทำให้รู้ว่าตัวเองเหมาะจะลงทุนอะไร
หมายเหตุ: เงินส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน บางคนแนะนำให้แบ่งเป็น 10/90 หรือ 30/70 โดยส่วนตัวเราแนะนำให้แบ่งตามแผนระยะยาวของคุณกับความเสี่ยงที่รับได้ เช่น หากวางแผนจะใช้เงินในเร็ว ๆ นี้ เงินลงทุนระยะสั้นอาจจะต้องมากกว่า
วัยทำงาน อายุประมาณ 35-45
วัยนี้หน้าที่การงานมักเข้าที่แล้ว มีรายได้เยอะกว่าวัยเริ่มทำงาน จึงจะได้เปรียบกว่าตรงที่มีเงินพร้อมที่จะลงทุน แต่สามารถรับความเสี่ยงได้น้อยลงเพราะภาระมากขึ้น คือมีทั้งรายจ่ายประจำส่วนตัวที่ต้องเสีย และรายจ่ายเพื่อครอบครัวที่ต้องดูแล เช่น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ ฯลฯ นอกจากนั้นยังต้องเก็บเงินเพื่อแผนเกษียณของตัวเอง รายจ่ายของคนวัยทำงานจึงรัดตัวไปหมด
สำหรับการลงทุน อาจแบ่งเงินตามนี้
- สำหรับเงินลงทุนระยะสั้น พิจารณาพอร์ตโฟลิโอ ณ ปัจจุบันของตัวเองว่าให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่าไหร่ และยังจะรับความเสี่ยงได้เท่าไหร่ เพราะจังหวะนี้อาจเป็นโค้งสุดท้ายสำหรับทำกำไร หากยังรับความเสี่ยงได้มาก หุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงหรือหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัป (high risk high return) ก็อาจเหมาะกับคุณ
- เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนระยะยาวมากขึ้น เน้นที่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอเพื่อให้ผลตอบแทนมาทุ่นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น หุ้นปันผล หุ้นกู้ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ฯลฯ
- ศึกษาการลงทุนด้วยประกันชีวิต เพราะอายุเพิ่มขึ้นความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ย่อมเพิ่มขึ้น
- ออมเงินสำรองสำหรับเหตุไม่คาดฝัน และขอแนะนำว่าไม่ควรนำเงินนี้มาใช้เป็นค่า Lifestyle หรือค่าใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน
วัยใกล้เกษียณ อายุประมาณ 45-55
คนวัยนี้ค่อนข้างมีความมั่นคงในชีวิตหลายด้าน เงินเดือนสูงขึ้นตามอายุปีและประสบการณ์ รายจ่ายเพื่อครอบครัวลดลง แต่ก็รับความเสี่ยงได้น้อยลงเช่นกัน
ในแง่ของการลงทุน อาจโฟกัสเพิ่มในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ มีระยะเวลาลงทุนสั้น - ปานกลาง เพื่อสร้างกระแสเงินสด หุ้นปันผลและหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยสม่ำเสมอยังคงเป็นตัวเลือกที่ดี หรือลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเตรียมตัวเกษียณ นอกจากนั้นอาจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ได้เช่นกัน
วัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 55 เป็นต้นไป
โฟกัสหลักของวัยนี้ควรอยู่ที่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอเพื่อสร้างกระแสเงินสด ไม่ควรโยนเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นดัวเลือกที่เหมาะอาจเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้นกู้ประเภทต่าง ๆ
ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางหนึ่งของการลงทุนเพื่อวางแผนเกษียณโดยใช้วัยเป็นเกณฑ์ เพื่อให้นักลงทุนลองนำไปประยุกต์ใช้และปรับให้เข้ากับตัวเอง สุดท้ายแล้วการวางแผนเกษียณที่ดี คือ การวางแผนลงทุนในระยะยาวและกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว