โควิด-19 หรือไวรัสอู่ฮั่น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยนอกเหนือการควบคุมที่มีโอกาสส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2020 มากที่สุดปัจจัยหนึ่ง
- โควิด – 19 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับซาร์ส และเมอร์ส ที่เคยระบาดมาแล้ว แต่เป็นคนละสายพันธุ์ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่คล้ายไข้หวัด และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน
- มีการคาดการณ์ผลกระทบของโรคระบาดต่อสภาพเศรษฐกิจและการลงทุนว่าคล้ายกับตอนเกิดโรคซาร์สและเมอร์ส โดยประเมินความเสียหาย ทิศทางการลงทุน ตลอดจนแนวโน้มด้านเศรษฐกิจเพื่อเปรียบเทียบกัน
- ความแตกต่างของสถานการณ์โรคระบาดในขณะนั้นคือ ช่วงเวลาระบาดของโรคซาร์ส (2003) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโดยรวมดี จึงสามารถฟื้นตัวได้ไว ในขณะที่ช่วงเวลาระบาดของโรคเมอร์ส (2017) เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างยากลำบากกว่า
- โควิด – 19 ในปัจจุบัน จะพบว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าสามารถควบคุมโรคระบาดได้เมื่อไหร่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมโดยตรง
COVID-19 โรคระบาดกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุน
โรคระบาดนอกจากจะเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว หากมีการระบาดเป็นวงกว้างและเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นเช่นเศรษฐกิจและการลงทุนได้เช่นกัน COVID-19 หรือไข้ปอดอักเสบอู่ฮั่น หรือไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ได้รับการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหลายฝ่ายว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2020 ทั้งปี ถ้าการควบคุมโรคยังไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน
COVID – 19 กับโรคซาร์ส และเมอร์ส
ความเหมือนของโรคระบาด 3 ชนิดนี้ คือเกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกันคือไวรัสโคโรนา เป็นโรคติดต่อที่ทำลายระบบทางเดินหายใจ ติดจากสัตว์ก่อนแล้วจึงแพร่สู่คน แต่เป็นไวรัสที่แตกต่างกันในด้านสายพันธุ์ และความรุนแรงรวมถึงการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งแม้จะมาจากไวรัสชนิดเดียวกัน แต่ทั้ง 3 โรค กลับมีความแตกต่างกัน
โรคซาร์ส (2003) เป็นการติดเชื้อไวรัสจากชะมดสู่คน ก่อนจะติดต่อจากคนสู่คน เริ่มต้นที่ประเทศจีน ก่อนแพร่กระจายในภูมิภาคเอเชีย และสิ้นสุดลงในเวลาไม่กี่เดือน เช่นเดียวกับโรคเมอร์ส(2017) เป็นการติดเชื้อจากอูฐสู่คน ผ่านการดื่มน้ำนมอูฐดิบ ก่อนติดต่อจากคนสู่คน แพร่กระจายในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งโรคซาร์สสามารถรักษาให้หายได้ ในขณะที่โรคเมอร์สยังพบการติดโรคอยู่บ้าง เพราะไม่สามารถควบคุมสัตว์ที่เป็นที่มาของโรคได้ โดยจากสถิติแล้ว พบว่าโรคซาร์ส มีการติดเชื้อราว 8,000 คน โดยมีผู้เสียชีวิตราว 10% ในขณะที่โรคเมอร์ส มีผู้ติดเชื้อราว 1,700 คน และเสียชีวิตราว 37%
ในขณะที่โรค COVID-19 มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดจากการติดเชื้อจากค้างคาวสู่คน และจากคนสู่คนตามลำดับ มีการแพร่กระจายไปทั่วโลกเริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ลามไปทั่วเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และพบว่าระบาดไปทุกทวีปทั่วโลกแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020 ทั่วโลกจำนวน 83,106 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,858 ราย และยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโลกได้
โดยปกติแล้ว โรคระบาดจะมีช่วงเวลาการแพร่เชื้อแล้วจะค่อยๆ ลดปริมาณการแพร่ลงก่อนจะหายไปด้วยตัวเอง แต่พบว่า ณ ขณะนี้ COVID-19 มีความรุนแรงด้านการติดเชื้อมากขึ้น จึงยากจะตอบได้ว่าระยะเวลาในการควบคุมโรคจะยาวไปถึงเมื่อไหร่กันแน่ ซึ่งยิ่งกินระยะเวลานาน ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนมากยิ่งขึ้น
COVID-19 กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือธุรกิจสายการบิน การท่องเที่ยวและโรงแรม ที่จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยว มีทั้งไม่สามารถใช้บริการตามกำหนดได้เนื่องจากนโยบายของแต่ละประเทศ หรือความหวาดกลัวต่อโรคระบาดของนักท่องเที่ยวเอง
ประกอบกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นธุรกิจที่ได้รับการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนว่าเป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานการฟื้นตัวยากที่สุด แม้จะเป็นช่วงเศรษฐกิจดีแบบช่วงระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 ใช้เวลาฟื้นตัวถึง 2 ไตรมาส ในขณะที่ช่วงการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สที่เกิดในช่วงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศแย่กว่านั้น ใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า และธุรกิจกลุ่มนี้ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ทั้งหมดหลังการควบคุมโรคระบาด โดยตลาดการลงทุนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือตลาดหุ้น ที่ผูกกับผลประกอบการธุรกิจโดยตรง
สำหรับการระบาดของ COVID-19 มีการระบาดเป็นวงกว้าง เที่ยวบินจำนวนมากถูกยกเลิก นักท่องเที่ยวมีความกังวลต่อการเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น เพราะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ไทยทะยานขึ้นเป็นอันดับสองของประเทศที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ แต่ด้วยความสามารถในการควบคุมโรคทำให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยและรักษาหายโดยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ในขณะที่อีกหลายประเทศในเอเชียเช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีการยืนยันผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์การระบาดที่ถูกยกระดับอยู่ในขั้นอันตรายมากขึ้น โดยได้รับการประกาศให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงลำดับที่ 14 และสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ ซึ่งหมายความว่า แม้จะสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ธุรกิจจึงจะสามารถดำเนินได้ตามปกติ
COVID-19 กับปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ
จากรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจและการเงินไตรมาสแรกปี 2563 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดทำขึ้นก่อนการระบาดของ COVID-19 พบว่า มีการคาดการณ์รายได้จากทั้ 4 ภาคธุรกิจทั้งประเทศ คือการค้า การผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และภาคบริการเป็นลบทั้งหมด ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนต้นทุนทางธุรกิจ และข้อจำกัดในการทำธุรกิจมีทิศทางเป็นลบ
แต่ในสถานการณ์จริง การมาของไวรัสดังกล่าวสร้างผลกระทบกับภาคบริการมากที่สุด ดังนั้นตัวเลขจริงของการติดลบมีโอกาสที่จะสูงกว่าที่ประเมินไว้ได้ โดยโรคระบาดถือเป็นปัจจัยที่เหนือความคาดหมายและการควบคุมของทุกฝ่าย
นอกจากนี้ยังมีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศดังกล่าวแล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก มีผลกระทบโดยตรงต่อผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งผลตอบแทนของตราสารหนี้จะส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอีกต่อหนึ่ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเชิงนโยบายที่มีผลต่อการลงทุนและอัตราผลตอบแทน
และในเวลาใกล้เคียงกัน ข่าว GM ยกเลิกการดำเนินกิจการในไทย นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานและภาคผลิต บริษัทไฟแนนซ์ รวมไปถึงประชาชนผู้ครอบครองรถยนต์เชฟโรเลตอีกด้วย
หรือการประกาศกระทรวงการคลังที่ดำเนินการกู้ยืมเอกชนเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่สามารถมองข้ามได้
ทั้งสัญญาณการลดดอกเบี้ยและการยุติการดำเนินกิจการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่้ แสดงให้เห็นว่า แม้ไม่มีโรคระบาด COVID-19 เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสประสบปัญหาตั้งแต่ไตรมาสแรก ทั้งภาคการผลิต ด้านนโยบาย เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อภาคบริการเพิ่มขึ้นด้วย แลัะยิ่งถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ความเสียหายต่อเศรษฐกิจก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น
COVID-19 กับการลงทุน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากหลายสถาบันให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น โดยหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง คือหุ้นของสายการบิน และธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรม โดยหุ้นของสายการบินจากการอ้างอิงช่วงระบาดของโรคซาร์สและเมอร์ส พบว่ามักจะฟื้นตัวได้หลังจากควบคุมโรคได้ระหว่าง 3 – 6 เดือน และเป็นหุ้นที่มักมีปัจจัยในการฟื้นตัวดี แต่ในขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มการท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือมักเป็นหุ้นที่ฟื้นตัวช้าอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นๆ ประกอบเพื่อการตัดสินใจ
ส่วนหุ้นที่เก็งกันว่าน่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีคือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล เพราะคนมีความตื่นตัวต่อโรคมาก ทำให้แม้จะเจ็บป่วยเล็กน้อยเกี่ยวกับทางเดินหายใจก็จะเข้ามารับการตรวจรักษา แม้จะเป็นไปในลักษณะที่กล่าวมา แต่ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อโรคสงบลงก็อาจกลับไปอยู่ในระดับเดิม ในขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกยังไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ การลงทุนในลักษณะการเป็นเจ้าหนี้ เช่นตราสารหนี้ต่างๆ ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากประจำ
การเกิดโรคระบาดเป็นปัจจัยที่เหนือการคาดหมายและการคาดการณ์ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบในระยะยาว นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนก็ยังไม่คลี่คลายดี หลังการสงบลงของ COVID-19 สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งปี 2563 นี้คงไม่สดใสนัก
_______________________________________________________________________
คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว