Success Strategy

รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) SME ควรจดหรือไม่?

by
January 31, 2018

ทำความรู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) SME ควรจดหรือไม่?

คำถามที่เจ้าของกิจการมักจะมีเมื่อดำเนินการธุรกิจได้ซักระยะหนึ่ง คือ "บริษัทควรจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่" วันนี้เราจะมาสรุปให้ฟังว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจริงๆ แล้วคืออะไร และควรจดเมื่อไหร่ เพื่อคลายความสงสัยของผู้ประกอบการหลายๆ คนค่ะ

VAT คืออะไร?

ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT คือ ภาษีอีกประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ในอัตรา 7% ของราคาขายหรือบริการ โดยผู้ขายหรือให้บริการจะเป็นผู้เก็บเพื่อนำส่งให้สรรพากรต่อไป เมื่อเราทำธุรกิจจะต้องเข้าใจก่อนว่า "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ไม่ใช่ "ภาษีเงินได้" ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ถือเป็นต้นทุนของกิจการ คุณมักจะสังเกตเห็นว่าในใบกำกับภาษีจะระบุราคาสินค้า และภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น เราซื้อสินค้าราคา 100 บาท มี VAT อีก 7 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 107 บาทที่ผู้บริโภคจะต้องชำระ

ใครควรจด/ไม่จดทะเบียน VAT?

ผู้ที่ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีเกินกว่า 1.8 ล้านบาทตามกฎหมายกำหนด โดยสำหรับเจ้าของกิจการที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาทก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้รวมถึง:

  • ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
  • ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
  • ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ( ฉบับที่ 43) ฯ ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2536
  • ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร

ทำไม SME ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)?

1. สามารถขอคืน VAT ได้

หากธุรกิจของคุณมีการซื้อวัตถุดิบ หรือ สินค้าต่างๆ หรือมีค่าใช้จ่ายที่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม และเรียกเก็บเงินจำนวนนั้นจากคุณ คุณก็ควรจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นกัน โดยสิ่งนี้อาจช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบในธุรกิจของคุณได้ถึง 7% เลยทีเดียว ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายเรียกเก็บจากคุณได้

2. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ากิจการของคุณน่าเชื่อถือ และได้รับการตรวจสอบจากสรรพากรเรียบร้อยแล้วว่ามีตัวตนดำเนินธุรกิจอยู่จริง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นข้อดีในการสร้างเครดิตให้กับบริษัทของคุณ และบางครั้งอาจคุณอาจจะต้องแสดงเอกสาร ภพ.20 เพื่อทำธุรกิจร่วมกับคู่ค้าอีกด้วย

ลูกค้าต้องการใบกำกับภาษี

บางครั้งลูกค้าก็ต้องการซิ้อสินค้าที่มีใบกำกับภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราทำธุรกิจกับคู่ค้ารายใหญ่ แน่นอนว่าส่วนมากมักจะคาดหวังให้เราจด VAT ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ซื้อหรือคู่ค้าก็ต้องการลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายของเขา

สิ่งที่ควรระวังหากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. ต้องยื่นรายงานภาษีซื้อ-ขายทุกเดือน

คุณจะต้องรายงานรายการซื้อ-ขายทุกเดือนแก่สรรพากร ไม่ว่าเดือนนั้นจะมีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่บางคนเปิดบริษัทขึ้นมาโดยไม่ได้ดำเนินงานใดๆ หรือเพื่อรับงาน Freelance การทำรายงานทุกเดือนอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งได้

2. สินค้าหรือบริการของคุณจะมีราคาแพงขึ้น

เมื่อคุณจดทะเบียน VAT สินค้าหรือบริการของคุณก็จะแพงขึ้นโดยปริยาย เนื่องจากคุณจะต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า โดยหากเป็นบุคคลธรรมดาจะไม่สามารถขอคืนได้ เมื่อต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีการเปรียบเทียบราคาเกิดขึ้น และอาจเป็นผลเสียสำหรับบางธุรกิจที่มีราคาเป็น “ปัจจัยหลัก” ในการเลือกซื้อสินค้า เช่นธุรกิจ ปูน เหล็ก ฯลฯ เป็นต้น

3. เอกสารหายกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่มีค่ามาก เมื่อคุณต้องการขอคืนภาษีจากสรรพากร ยิ่งมูลค่าการซื้อสินค้าเยอะเท่าไรก็ยิ่งต้องเก็บรักษาให้ดีมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากถ้าเอกสารหายไปและคุณไม่สามารนำไปขอคืนภาษีได้จะแปรเปลี่ยนเป็นมูลค่าเงินที่ธุรกิจจะต้องสูญเสียเลยทีเดียว

สรุป เมื่อไหร่ควรจด VAT?

ในฐานะที่เป็นเอสเอ็มอี เรามักจะสงสัยว่าเมื่อไรควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

ธุรกิจเราอยู่ในรายการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่?

หากคุณมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้มีบางธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การขายผักผลไม้ พืชผลทางการเกษตร ขายปุ๋ย ขายเนื้อสัตว์ อาหารสัตว์ บริการขนส่ง บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ และอีกมากมายตรวจสอบรายการธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ที่นี่

ธุรกิจเรามีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกินกว่า 1.8 ล้านต่อปีหรือไม่?

ตามกฎหมายกำหนด เกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการ คือ เมื่อรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยจะต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน และเริ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ส่วนที่เกินจาก 1.8 ล้านบาทเป็นต้นไป

เพียร์ พาวเวอร์ คือผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งระบบคราวด์ฟันดิงคือตัวกลางในการระดมทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ด้วยวิธีการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ในขณะเดียวกันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในแพลตฟอร์มได้ สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร