หนังสือชี้ชวน (Prospectus) คืออะไร
จะรู้ได้ยังไงว่าหลักทรัพย์ที่เราจะลงทุนมีความน่าเชื่อถือ? บริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ประกอบธุรกิจอะไร? ความเสี่ยงของหลักทรัพย์มีสูงแค่ไหน? และสุดท้ายจะได้กำไรหรือไม่? ผู้ลงทุนจะหาคำตอบเหล่านี้ได้จาก “หนังสือชี้ชวน” หรือ “Prospectus” ครับ
ทุกครั้งก่อนที่จะมีการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่นักลงทุน บริษัทที่จัดการหลักทรัพย์นั้น ๆ จะต้องมีการให้รายละเอียดข้อมูลของหลักทรัพย์ก่อนการเสนอขาย โดยรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวจะถูกรวบรวม และจัดทำเป็นหนังสือชี้ชวนการลงทุนเพื่อเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของบริษัทให้แก่นักลงทุนทราบ
ทำไมต้องอ่านหนังสือชี้ชวนก่อนลงทุน
นักลงทุนควรอ่านหนังสือชี้ชวนก่อนที่จะลงทุนเพราะเงินที่ใช้ลงทุนคือเงินของนักลงทุนเอง คงไม่มีใครที่อยากลงทุนแล้วขาดทุนใช่ไหมครับ? ดังนั้นเราต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจที่จะลงทุน เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนเอง
นักลงทุนควรรู้ให้แน่ชัดว่ากำลังจะลงทุนอะไร ลงทุนธุรกิจประเภทไหน ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเขามีดีและโดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาดอย่างไร ที่ผ่านมาบริษัทมีผลดำเนินการที่ดีหรือไม่ เพราะแต่ละธุรกิจ แต่ละบริษัทก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ถ้าคุณไม่รู้จักบริษัทที่จะลงทุนดีพอ คุณจะมั่นใจได้ไงว่า เงินที่ลงทุนไปนั้นจะไม่ขาดทุน
ซึ่งข้อมูลในหนังสือชี้ชวนนั้น จะประกอบด้วย ข้อมูลรายละเอียดของบริษัทที่จะออกหลักทรัพย์ งบการเงินย้อนหลัง และผลการดำเนินการของบริษัท โดยความยาวของหนังสือชี้ชวนของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 20 หน้าไปจนถึง 100 หน้าครับ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะลงทุนในหุ้นกู้ตัวนี้หรือไม่
หนังสือชี้ชวนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง
นอกเหนือจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้น และหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแล้ว ทางเพียร์ พาวเวอร์ก็มีการจัดทำหนังสือชี้ชวนให้นักลงทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทุนเช่นกัน
โดยทางเพียร์ พาวเวอร์จะวิเคราะห์ข้อมูลจากการตรวจสอบเอกสารสำคัญ ตั้งแต่ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บอจ. 5 ล่าสุด เอกสารสัญญาการจ้างงานทั้งหมดที่บริษัทมี บัญชีธนาคารหลักของบริษัทแสดงรายการ 6 เดือนย้อนหลัง รายงานเครดิตบูโรของบริษัทที่มีอายุไม่เกิน 30 วัน แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สัญญาโครงการที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน ใบสั่งซื้อ จนถึงหลักฐานการชำระเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไม่เพียงเท่านั้น ทางเพียร์ พาวเวอร์จะเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบและสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ของเพียร์ พาวเวอร์จะสัมภาษณ์ผู้ถือหุ้นหลัก หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของรายละเอียดธุรกิจ และจะมีการเยี่ยมชมสถานที่ประกอบกิจการเพื่อยืนยันว่าบริษัทมีการดำเนินกิจการตามที่ให้ข้อมูลไว้จริง มีการถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ประเมินเครดิตและสรุปลงในหนังสือชี้ชวนของเพียร์ พาวเวอร์
การศึกษาหนังสือชี้ชวนของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงอย่างถี่ถ้วนจะทำให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพ และความเป็นไปได้ของธุรกิจก่อนตัดสินใจที่จะลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ
โดยนอกเหนือจากข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่ระบุประเภทตราสาร อายุของหุ้นกู้ ผลตอบแทนของหุ้นกู้ และวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ไปแล้วนั้น ยังมีข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่ทางนักลงทุนควรจะศึกษา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ
1. สรุปข้อมูลธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง – Business Description
2. ข้อมูลงบการเงิน – Financial Information
3. ตารางการผ่อนชำระ – Payment Schedule
1. สรุปข้อมูลธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง – Business Description
ในข้อมูลส่วนนี้นักลงทุนจะสามารถรู้ถึงความเป็นมาของบริษัท รวมทั้งทำความรู้จักผลิตภัณฑ์บริการ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยเป็นหัวข้อต่าง ๆ ในหนังสือชี้ชวนดังนี้
ภาพรวมธุรกิจ – Overview
เป็นการอธิบายถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ผลงานเด่นและการสั่งสมประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทต้องการตอบสนอง รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นคุณค่าหลักของธุรกิจ
ผลิตภัณฑ์และบริการ – Product & Service
จะเป็นส่วนข้อมูลที่เน้นไปทางข้อมูลในระดับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทอย่างปัญหาหลักของกลุ่มลูกค้าและคุณค่าหลักของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย รายละเอียดกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดที่บริษัทมี จุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่ง รวมทั้งชื่อเสียงในแบรนด์ของบริษัท
รายได้ และค่าใช้จ่าย – Revenue & Cost
ในส่วนนี้นักลงทุนจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะรายได้ของบริษัท ว่ามีส่วนประกอบมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการใดบ้าง กิจกรรมใดเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท ปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโต รวมทั้งลักษณะสัญญาทางธุรกิจซึ่งเป็นที่มาของรายได้ อีกส่วนหนึ่งคือข้อมูลต้นทุนของบริษัท ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และ โครงสร้างต้นทุนต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสินค้าหรือบริการ และที่ขาดไม่ได้คือการอธิบายประเด็นที่น่าสงสัยในงบกำไรการขาดทุน
การหมุนเวียนเงินสด – Cash cycle / Account Payables
นักลงทุนสามารถคาดการณ์การหมุนเวียนกระแสเงินสดของบริษัทได้จากข้อมูล Credit term ที่ให้ทางฝั่งลูกค้าชำระและส่วนที่ได้รับจากทาง Supplier
ประวัติการชำระหนี้ – Credit History
เป็นข้อมูลประเภทและวงเงินของหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการชำระของบริษัท/ผู้ถือหุ้นหลักรวมทั้งพฤติกรรมการชำระหนี้ของบริษัทในอดีตที่ผ่านมา
2. ข้อมูลงบการเงิน – Financial Information
ในข้อมูลส่วนนี้นักลงทุนจะสามารถรู้ถึงความเป็นมาของบริษัท รวมทั้งทำความรู้จักผลิตภัณฑ์บริการ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยเป็นหัวข้อต่าง ๆ ในหนังสือชี้ชวนดังนี้
งบดุล – Balance Sheet
เป็นงบที่แสดงฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ออกงบนั้น จะประกอบไปด้วย
1.มูลค่าของสินทรัพย์ที่บริษัทถือครองอยู่ ทั้งส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนที่เป็นส่วนหนึ่งของในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนซึ่งบ่งบอกมูลค่าที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัท
2.มูลค่าของหนี้สิน ทั้งหนี้สินระยะสั้น หรือเครดิตทางการค้าที่บริษัทได้รับจาก Supplier และหนี้สินระยะยาว ที่บริษัทกู้ยืมเงินมาเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ
3.มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบด้วยส่วนของ ทุนจดทะเบียน (หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ) เป็นเงินทุนที่เจ้าของกิจการลงเงินตั้งต้นเพื่อดำเนินธุรกิจ และ กำไร (ขาดทุน) สะสม ที่เป็นผลลัพธ์ของการดำเนินงานในอดีตสะสมทบมาจนถึงปัจจุบัน
งบกำไรขาดทุน – Income Statement
แสดงถึงผลการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ออกงบนั้น ซึ่งจะบอกมูลค่าของ
1.รายได้ที่บริษัทสร้างขึ้นมาได้จากการประกอบธุรกิจ
2.ต้นทุนขาย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ผันแปรมากน้อยตามกิจกรรมการขายหรือการให้บริการที่เกิดขึ้น
3.ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งถือเป็นต้นทุนคงที่ของบริษัท
4.ภาษีเงินได้ที่บริษัทต้องชำระให้แก่ภาครัฐ
5.ต้นทุนทางการเงิน หรือก็คือดอกเบี้ยที่บริษัทต้องจ่ายชำระให้แก่เจ้าหนี้
6.กำไรสุทธิ (ขาดทุน) จากการดำเนินงานของบริษัท
3. ตารางการผ่อนชำระ – Payment Schedule ลักษณะการจ่ายเป็นลดต้นลดดอก
จะนำเสนอข้อมูลการผ่อนชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์คืนแก่นักลงทุน ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องชำระคืนตามงวดเวลาและมูลค่าที่กำหนดตามตาราง สำหรับ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ของ เพียร์ พาวเวอร์ มีการกำหนดงวดการชำระหนี้เป็น รายเดือน และ รายไตรมาส ซึ่งนักลงทุนควรเลือกงวดชำระให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง
เมื่อความเสี่ยงกับการลงทุนเป็นของคู่กัน การศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเงินลงทุนเป็นของท่านเอง ไม่ควรฟังคนอื่น ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจบนข้อมูลที่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนเอง การตัดสินใจโดยยึดข้อมูลเป็นพื้นฐานจะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนของผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี หากนักลงทุนท่านใด สนใจที่จะลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสมัครเป็นนักลงทุนของเพียร์ พาวเวอร์ได้จากลิงก์ด้านล่างเลยครับ