Perspectives

3 วิธีลงทุนอย่างเป็นสุขด้วย Risk Management

by
April 27, 2020

3 วิธีลงทุนอย่างเป็นสุขด้วยการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

การลงทุน คือ การใช้เงินทำงาน นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องเหนื่อยแรงเหมือนการทำงานประจำ เพียงมีเงินก้อนนำมาซื้อหลักทรัพย์แล้วปล่อยให้เวลาผ่านไปเพื่อรอรับดอกผลจากการลงทุน นั่งดูมูลค่าพอร์ตที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่ชักนำนักลงทุนส่วนใหญ่เข้ามาในโลกของการลงทุน แต่ในความเป็นจริงโลกใบนี้ไม่ได้สวยงามเหมือนที่คิด เมื่อนักลงทุนได้เผชิญหน้ากับความผันผวนของตลาด ข้อมูลข่าวสารที่ประดังเข้ามาในทุกวัน ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ การลงทุนที่ประมาณการก็ไม่ได้ คาดการณ์ก็ไม่เคยถูก จากที่ลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้กลับกลายเป็นสูญเสียเงินต้น จากคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนโดยไม่ต้องเหนื่อยกลับต้องพะว้าพะวงกลัวขาดทุนจนนอนไม่หลับ เมื่อนักลงทุนเริ่มตระหนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้เรียนรู้ว่า โลกการลงทุนมีสิ่งหนี่งที่เกิดขึ้นและคงอยู่คู่กับ “ผลตอบแทน” เสมอนั่นคือ “ความเสี่ยง”

“ความเสี่ยง” (Risk) สิ่งที่หนีไม่พ้นในโลกของการลงทุน

หากนักลงทุนคนหนึ่งสามารถทำกำไรจากการลงทุนได้ ในเวลาเดียวกันนักลงทุนอีกคนก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน ในยามที่ตัวเราได้กำไรไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเราจะไม่ขาดทุน ความเสี่ยง คือ โอกาสที่จะขาดทุนจากการลงทุน สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ ตลาดมีปัจจัยมากมายนับไม่ถ้วนที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน และก่อให้เกิดความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบถึงหลักทรัพย์ทุกตัวในตลาด ปัจจัยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มธุรกิจ หรือกระทั่งการกะจังหวะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดพลาด ล้วนเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้พอร์ตของนักลงทุนขาดทุนได้ทั้งสิ้น ซึ่งทุก ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวโยงกันเหล่านี้ แม้แต่นักวิเคราะห์มืออาชีพยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ เราในฐานะนักลงทุนทั่วไป จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่สามารถหลีกหนีความเสี่ยงจากการลงทุนได้พ้น ยิ่งคาดหวังผลตอบแทนสูงมากเท่าไรความเสี่ยงที่จะขาดทุนก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

ความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องเผชิญ  บริหารความเสี่ยง ( Risk Management )

ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านสามารถลงทุนได้อย่างเป็นสุข จะดีกว่าหรือไม่หากเราลองปรับวิธีคิด ไม่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงที่สุดซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงที่จะขาดทุนอย่างหนัก แต่เปลี่ยนเป็น คาดหวังผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม สร้างความสุขสงบในจิตใจไม่หวั่นไหวไปตามความผันผวนของตลาด กินอิ่มและนอนหลับโดยไม่ต้องเป็นกังวลคอยเฝ้าหน้าจอดูข่าวสารตลอดเวลา การลงทุนอย่างเป็นสุขสามารถเกิดขึ้นได้เพียงนักลงทุนรู้จัก “การบริหารความเสี่ยง”

ลงทุนอย่างเป็นสุขด้วยการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

การบริหารความเสี่ยง คือ วิธีการในการลงทุนที่จะทำให้พอร์ตของนักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยลดโอกาสขาดทุนให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งการบริหารความเสี่ยงนอกจากจะสร้างมูลค่าในรูปของตัวเงินแล้ว ยังช่วยสร้างความสุขสงบในจิตใจให้แก่นักลงทุนอีกด้วย เพราะพอร์ตที่ถูกกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ยามเศรษฐกิจดีก็มีผลตอบแทน ยามตลาดทรุดหนักพอร์ตก็ยังมั่นคงไม่เสียหายโดยการบริหารความเสี่ยงสามารถแบ่งกว้าง ๆ 3 วิธีการ ดังนี้

1) การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation)

เมื่อข่าวสารใหญ่ ๆ หรือ ปัจจัยระดับมหภาค เช่น ภาวะสงคราม นโยบายการเมือง หรือการแพร่ระบาดของไวรัส มีผลต่อราคาของหลักทรัพย์เกือบทั้งตลาด นั่นหมายความว่าหากนักลงทุนกระจุกเงินไว้ที่สินทรัพย์ในตลาดใดตลาดเดียว นักลงทุนก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงระดับตลาดไปเต็ม ๆ เพราะฉะนั้นการกระจายเงินไปไว้ในหลากหลายสินทรัพย์ที่มีการตอบสนองต่อปัจจัยหนึ่ง ๆ แตกต่างกันจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงระดับตลาดได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง หากนักลงทุนมีการกระจายการลงทุนไปที่ หุ้นสามัญและทองคำ ด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู หุ้นจะราคาสูงขึ้นและสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตได้อย่างดี แต่หากเกิดภาวะสงคราม ทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจะราคาเพิ่มขึ้นแทน ช่วยเฉลี่ยความเสียหายของพอร์ตที่เกิดจากราคาหุ้นที่ลดลงมาได้ หรือในบางกรณีทองคำอาจสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าราคาหุ้นที่ลดลงไปเสียอีกทีนี้เรามาลองดูกันว่าด้วยสภาวะการลงทุนจริง ๆ ของประเทศไทย วิธีการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนจะช่วยให้พอร์ตของนักลงทุนเติบโตได้อย่างมั่นคง และช่วยลดโอกาสขาดทุนได้จริงหรือเปล่า โดยการสร้างพอร์ตจำลองขึ้นมา 2 พอร์ต เพื่อเปรียบเทียบมูลค่าพอร์ตในระยะยาว

เปรียบเทียบมูลค่าพอร์ตการลงทุน พอร์ตหุ้นสามัญ vs. พอร์ตหุ้นกระจายความเสี่ยง

พอร์ตแรกลงทุนกระจุกตัว (Concentrated Port) โดยนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นสามัญพอร์ตที่สองกระจายสินทรัพย์ลงทุน (Diversified Port) ตามหลักการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน โดยแบ่งเงินลงทุนใน ตราสารหนี้ : หุ้นสามัญ : สินทรัพย์ทางเลือก ในสัดส่วน 40 : 40 : 20อ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย- ตราสารหนี้: Composite Bond Total Return Index 2006-2020- หุ้นสามัญ: SET Index 2006-2020- สินทรัพย์ทางเลือก: ลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงของ PeerPower ด้วยผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 8% ต่อปี และรับกระแสเงินสดเป็นดอกเบี้ยคงที่รายเดือน โดยไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ผลลัพธ์จากการจำลอง ที่ลงทุนเริ่มต้นด้วยเงิน 200,000 บาท แล้วปล่อยพอร์ตทิ้งไว้เป็นเวลา 15 ปี จะเห็นได้ว่า Concentrated Portfolio มีความผันผวนสูงมากโดยในช่วงวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 พอร์ตขาดทุนเกือบ 50% และ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน มูลค่าพอร์ตก็ลดต่ำลงอย่างมากทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นปัจจุบันของพอร์ตเหลือเพียง 3.11% ต่อปีเท่านั้น ขณะที่ Diversified Portfolio แม้ในบางช่วงเวลามูลค่าพอร์ตจะต่ำกว่า แต่หากดูในระยะยาวพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงมีการเติบโตอย่างมั่นคง และแทบไม่ขาดทุนเงินต้นเลยแม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม โดยผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นของพอร์ตนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 5.11% ต่อปีจากผลลัพธ์นี้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า หากมีการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนอย่างเป็นระบบ นอกจากจะทำให้นักลงทุนลงทุนได้อย่างเป็นสุขสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาวแล้ว แม้กระทั่งในยามวิกฤตพอร์ตก็ยังแข็งแกร่งและยืนหยัดได้โดยนักลงทุนไม่ต้องเครียดเป็นกังวลกับผลกระทบจากเศรษฐกิจเลยอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดพอร์ตลงทุน คลิก

2) การคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัว

เมื่อมีการลงทุนกระจายไปในหลากหลายสินทรัพย์แล้ว นักลงทุนควรบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วยการลดความเสี่ยงในระดับกลุ่มธุรกิจ ที่เกิดจากปัจจัยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจนั้น ๆ เพื่อให้พอร์ตของนักลงทุนมั่นคงมากขึ้น ยกตัวอย่างหากนักลงทุนลงทุนเฉพาะในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เป็น Cyclical Industry อย่าง กลุ่มน้ำมัน หรือ กลุ่มการท่องเที่ยว ที่ราคาอ้างอิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ในยามที่เศรษฐกิจชะงักงันพอร์ตของนักลงทุนอาจเสียหายอย่างหนักได้จากการลดลงของราคาหลักทรัพย์กลุ่มนี้ นักลงทุนควรลดความเสี่ยงโดยการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี ในกลุ่ม Defensive Industry อย่าง กลุ่มโรงพยาบาล หรือ กลุ่มสาธารณูปโภค ซึ่งผลตอบแทนในระยะยาวไม่ถูกกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ สะสมเข้ามาในพอร์ทเพื่อสร้างสมดุลของผลตอบแทนจากความเสี่ยงในแต่ละกลุ่มธุรกิจ

เปรียบเทียบผลตอบแทนของ Cyclical vs. Defensive stock

จากการเปรียบเทียบด้วย ดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน ที่เป็น Cyclical Industry กับ ดัชนีหมวดธุรกิจการแพทย์ ที่เป็นกลุ่ม Defensive Industry จะเห็นความเคลื่อนไหวของราคาที่แตกต่างกันชัดเจนในแต่ละช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจหากนักลงทุนมีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสมตามวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัว ก็จะสร้างพอร์ตการลงทุนที่รักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงในแต่ละกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี ในยามเศรษฐกิจเติบโตพอร์ตสามารถทำกำไรได้จากหลักทรัพย์กลุ่ม Cyclical Industry ส่วนในยามวิกฤตก็ยังมีกลุ่ม Defensive Industry มาคอยหนุนพอร์ทของนักลงทุนเอาไว้ให้แข็งแกร่งไม่ขาดทุนหนักนั่นเอง

3) การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar-Cost-Average)

เมื่อนักลงทุนออกแบบพอร์ตการลงทุนที่มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำก็คือ การซื้อสะสมหลักทรัพย์เข้ามาในพอร์ตตามที่ได้ออกแบบไว้ โดยในขั้นตอนนี้นักลงทุนก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการกะจังหวะซื้อขายที่ผิดพลาดอยู่ดี เพราะเราไม่รู้ว่าราคา ณ ปัจจุบันของหลักทรัพย์ เป็นราคาที่ถูกที่สุดแล้วหรือยัง หรือในอนาคตราคาจะลงไปอีก จนบางทีมัวแต่รอจังหวะจนราคาหลักทรัพย์ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมกลายเป็นต้นทุนการซื้อที่สูงขึ้นไปซะอีกการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar-Cost-Average เป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากจังหวะการซื้อขายให้นักลงทุนได้ โดยการแบ่งเงินทุนทยอยซื้อหลักทรัพย์ที่หมายตาไว้ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุก ๆ เดือน ไม่ว่าสภาพตลาดจะดีหรือแย่อย่างไรก็ให้ซื้อตามระบบ DCA ที่ได้ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้นักลงทุนซื้อหลักทรัพย์นี้ได้ในราคาต้นทุนที่ถัวเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการลงทุน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของราคาตลาด และ ขจัดความเสี่ยงจากการจับจังหวะเวลาผิดพลาดทิ้งไป

หลักการลงทุนแบบ Dollar-Cost-Average

จากตัวอย่างหุ้นสามัญของ PTT ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 30.75 - 48.75 บาทต่อหุ้น หากนักลงทุนเลือกจับจังหวะเวลานำเงินลงทุนทั้งหมดเข้าซื้อในจังหวะเดียว อาจจะได้หุ้น PTT มาในต้นทุนที่ถูกมากที่ 30.75 บาท แต่ต้องไม่ลืมว่า ณ ขณะนั้นที่ราคาหุ้นลดต่ำลงมามากที่สุดในรอบปีนักลงทุนทั่วไปจะกล้านำเงินลงทุนของตัวเองทั้งหมดเข้าซื้อหุ้นตัวนี้หรือไม่ จะเกิดความกลัวจนต้องรอเช็คสัญญาณต่อไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า แล้วในภาวะที่ราคาพุ่งอย่างแรงด้วยความคึกคักของตลาด นักลงทุนจะอดใจไม่ซื้อหุ้น PTT เข้าพอร์ทที่ราคา 48.75 บาท แล้วรอเวลาให้ราคาย่อตัวได้หรือไม่ หรือ จะเปลี่ยนวิธีการใหม่สร้างการลงทุนอย่างเป็นระบบตัดอารมณ์ทิ้ง ทยอยซื้อหุ้น PTT เข้าพอร์ตด้วยเงินทุนที่เท่ากันทุกเดือนจนได้ราคาเฉลี่ยที่ 43.3 บาทต่อหุ้น ถึงไม่ได้ถูกที่สุดแต่ก็ไม่แพงที่สุดเช่นกันเพราะกลไกตลาดผันผวนตามความกลัวและความโลภของนักลงทุน การลงทุนแบบ Dollar-Cost-Average จะทำให้ต้นทุนของหลักทรัพย์ในพอร์ตของนักลงทุนมีความเสถียรไม่แพงจนเกินไป และทำให้นักลงทุนไม่ต้องมาปวดหัวหรือเป็นกังวลกับความเคลื่อนไหวผันผวนของราคาหลักทรัพย์อีกด้วยโดยสรุปแล้ว การลงทุนคือการใช้เงินทำงานเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเรา และหากนักลงทุนยอมรับได้ว่า ผลตอบแทน จากการลงทุน มักจะมาคู่กับ ความเสี่ยง เสมอ การเรียนรู้วิธีบริหารความเสี่ยงแล้วนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยลดโอกาสขาดทุนเงินต้นจากการลงทุนได้เป็นอย่างดี ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างเป็นสุข โดยไม่กระทบต่อสภาพจิตใจหรือวิถีชีวิตประจำวันของนักลงทุนนั่นเอง

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร