ฟินเทค (Fintech) เทคโนโลยีทางการเงิน

by
July 10, 2019

Fintech หรือ เทคโนโลยีทางการเงิน คือ การนำเอาการเงิน (Financial) มาบวกเข้ากับเทคโนโลยี (Technology) เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการเงิน

เทคโนโลยีทางการเงิน แบ่งออกได้กว้าง ๆ เป็น 7 ประเภท คือ

  1. Banking Technology การนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบธนาคาร        
  2. Crowdfunding Platforms แพลตฟอร์มออนไลน์ ตัวกลางในการระดมทุน
  3. Cryptocurrency เงินสกุลดิจิทัล
  4. Payment ระบบการใช้จ่ายเงิน    
  5. Enterprise Financial Software ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร
  6. Investment Management เทคโนโลยีที่จะช่วยจัดการทางด้านลงทุน
  7. Insurtech เทคโนโลยีประกันภัย

คนที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน มีทั้งบุคคลทั่วไป ธนาคาร ผู้ให้บริการด้าน E-Commerce ผู้ประกอบการ และนักลงทุน

เราสามารถลงทุนกับ Fintech ได้ด้วยการลงทุนใน Cryptocurrency แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง และเทคโนโลยีประกันภัย

ในประเทศไทยมีสถิติการใช้ระบบ Payment มากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย จากการซื้อของออนไลน์

           

ฟินเทค (Fintech) เทคโนโลยีทางการเงิน การบริการ และการลงทุน

ถ้าย้อนเวลากลับไปถามคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกซัก 20 ปีที่แล้ว การบอกว่าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องไปที่ธนาคาร คงถูกมองด้วยความสงสัย เพราะบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินดูช่างซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมีอำนาจจัดการ แต่ในวันนี้ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การลงทุน หรือแม้แต่เรื่องยาก ๆ แบบการขอสินเชื่อก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น

ฟินเทค (Fintech) คืออะไร

Financial Technology คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นสินค้า บริการ การแก้ปัญหาทางการเงิน รวมถึงเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ ทำให้การจัดการ และการเข้าถึงทางการเงินเป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยเทคโนโลยีเทคโนโลยีทางการเงิน มีจุดเริ่มต้นจากการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบงานของธนาคาร เมื่อเทคโนโลยีเติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับความสามารถในการเข้าถึงของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนที่ถือเป็น Disrupter แห่งยุค ก็ทำให้อำนาจในการทำธุรกรรมและเข้าถึงบริการทางการเงินไม่ถูกจำกัดอยู่กับสถาบันการเงินอีกต่อไป เทคโนโลยีทางการเงิน ได้แตกแขนงออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ กัน เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของผู้ใช้

Fintech มีกี่แบบ อะไรบ้าง

ถ้าพูดถึง Fintech คนมักจะคิดถึงระบบ Mobile Banking ของแต่ละธนาคารก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์บอกได้เลยว่าไม่ผิด แต่ตามที่ได้บอกไปแล้วว่าเทคโนโลยีทางการเงินนั้นมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน และการแบ่งประเภทของฟินเทคก็สามารถแบ่งได้หลากหลายวิธีเช่นกัน แต่ถ้าจะจำแนกตามจุดประสงค์ในการใช้งาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 แบบ

1. Banking Technology

การนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบธนาคาร ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่คนมักคิดถึง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีทางการเงิน เพราะหลายคนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่แล้ว และเชื่อว่าในโทรศัพท์ของคนวัยทำงานส่วนใหญ่จะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันธนาคาร ซึ่ง ฟินเทคประเภทนี้คือ Mobile Banking ที่มีขึ้นเพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำงานในฟังก์ชันเดียวกับที่ธนาคารแบบดั้งเดิมทำ ทั้งเช็กยอดบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล และอื่นๆ

2. Crowdfunding Platforms

เทคโนโลยีเพื่อการระดมทุน กล่าวคือ คราวด์ฟันดิงแพลตฟอร์ม เป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง ระหว่าง ผู้ประกอบการ และนักลงทุน โดยแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการขอ และให้เงินทุน แทนที่ผู้ประกอบการจะต้องไปขอกู้สินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถระดมทุน จากนักลงทุนหลาย ๆ คนได้ และนักลงทุนเอง ก็สามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจ ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ โดยแพลตฟอร์ม นอกจากจะเป็น ตัวกลางในการเชื่อมต่อแล้ว ยังอำนวยความสะดวก ในเรื่องการสมัครขอระดมทุน ตรวจสอบเครดิต และอนุมัติ ด้วยเช่นกัน ซึ่ง เพียร์ พาวเวอร์จัดอยู่ใน ฟินเทคประเภทนี้ โดย การระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม ของเพียร์ พาวเวอร์ จะอยู่ในรูปแบบของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย

3. Cryptocurrency

สกุลเงินดิจิทัลทั้ง Cryptocurrency หรือเทคโนโลยี Blockchain เป็นการสมมติชุดข้อมูลขึ้นมาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในโลกออนไลน์ แล้วทำให้ใช้งานได้เหมือนเงินจริง สามารถใช้จ่ายได้ รวมถึงเก็งกำไรได้ด้วย โดยสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกที่ถือกำเนิดมาในโลกคือ Bitcoin และที่สั่นสะเทือนวงการการเงินล่าสุดคือการประกาศเปิดตัว Libra สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook ที่จับมือกับพาร์ทเนอร์เจ้าใหญ่ทั่วโลกซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเป็น Technology Disruptive ที่ใหญ่ที่สุดในอนาคตการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทางการเงิน ประเภทนี้ บ้างก็ถูกมองเป็นโอกาสที่จะสร้างความเท่าเทียมทางการเงิน บ้างก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อระบบการเงินดั้งเดิมของโลก จึงได้รับทั้งการต้อนรับและขับไล่จากทั่วโลก อย่างไรก็ดี Cryptocurrency ถือเป็นระบบการเงินแห่งอนาคตที่มีการขยายขอบเขตความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

4. Payment Technology

ระบบการจ่ายเงินที่ดำเนินการด้วยเทคโนโลยี ประเภทนี้คือระบบตัวแทนการใช้จ่าย ที่ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีกับทางแพลตฟอร์มจึงจะสามารถใช้งานได้ ตัวอย่างเช่นระบบ E-Wallet ต่าง ๆ เครดิตการ์ด ซึ่งระบบ Payment จะต่างจาก Mobile Banking ตรงที่เจ้าของแพลตฟอร์มไม่ใช่ธนาคาร และให้บริการเฉพาะการใช้จ่ายเท่านั้น

5. Enterprise Financial Software

ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร อีกหนึ่งเครื่องมือเทคโนโลยี ที่จะช่วยผู้ประกอบการในเรื่อง การจัดการทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการบัญชี ระบบจ่ายเงินเดือน-ภาษีและการจัดการพนักงาน ซึ่งครอบคลุมถึงสวัสดิการด้านการเงิน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดเวลา และทรัพยากรที่ต้องใช้งาน ทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการภายในองค์กรดีขึ้น

6. Investment Management

เทคโนโลยีที่จะช่วยจัดการทางด้านลงทุน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีแพลตฟอร์มการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันลงทุนใน Private fund, ทองคำ, กองทุนรวม รวมถึงแพลตฟอร์มที่ใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์หุ้น หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีอย่าง Robo Advisor มาช่วยในการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation)

7. Insurance Technology/ Insurtech

หลายคนมองว่าการซื้อประกันภัย ประกันชีวิตคือการลงทุนรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งระบบการคำนวณเบี้ยประกันมีความซับซ้อน การใช้เทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยทั้งด้านการคำนวณเบี้ยประกัน ผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงอัตราส่วนลดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้เสนอขายประกันภัย ประกันชีวิตบริหารจัดการระบบประกันได้ง่ายขึ้น

ฟินเทค fintech คือ อะไร มีกี่ รูปแบบ

เทคโนโลยีทางการเงินมีประโยชน์อย่างไร กับใครบ้าง

ในเมื่อรูปแบบของเทคโนโลยีทางการเงิน มีอยู่มากมาย ครอบคลุมการใช้บริการแทบทุกระดับ ประโยชน์ของเทคโนโลยีทางการเงินจึงมีมากตามไปด้วย โดยอาจแบ่งประโยชน์ ตามกลุ่มผู้ใช้งานได้ดังนี้

บุคคลทั่วไป

ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินในลักษณะการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ที่ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถใช้จ่าย ทำธุรกรรม รวมถึงสามารถขอสินเชื่อ ลงทุนได้ด้วยตนเอง

สถาบันการเงิน

ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินได้ด้วย การสร้างระบบธนาคารย่อย ๆ แบบ Mobile Banking ลงมาให้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เป็นอีกช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า และเก็บข้อมูลธุรกรรมต่างๆของลูกค้าได้ง่ายขึ้น

ผู้ให้บริการ E-Commerce

ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในรูปแบบของระบบ Payment จากการเชื่อมต่อ API Data และ Banking Technology ทำให้ค้าขายในออนไลน์ง่ายขึ้น จากการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว

นักลงทุน

เทคโนโลยีทางการเงิน เอื้อต่อการลงทุนทั้งในรูปแบบตลาด Cryptocurrency, Insurtech และ Crowdfunding Platforms ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่อยากลองลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ

ผู้ประกอบการ

สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ผ่าน Crowdfunding Platforms รวมถึง สามารถจัดการ บริหารระบบต่างๆในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น จากเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ที่พัฒนามาเพื่อใช้กับองค์กรโดยเฉพาะ

ฟินเทค Fintech ผลกระทบ ประโยชน์

Fintech มีผลกระทบอย่างไรกับธนาคารและอุตสาหกรรมอื่น

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเทคโนโลยีทางการเงิน คือการทำให้คนทั่วไปมีอำนาจจัดการการเงินของตัวเองมากพอกับที่ธนาคารสามารถทำได้ ประกอบกับมีหลาย ๆ รูปแบบในการให้บริการ นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะพบการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีทางการเงิน ในลักษณะการ Disruption ระบบการเงินแบบดั้งเดิมด้วย โดยกลุ่มที่มองว่าอาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีทางการเงิน มีอยู่ 2 – 3 กลุ่มคือ

ธนาคารหรือสถาบันการเงิน

ด้วยความเป็นเจ้าเก่าที่ครองอำนาจทางการเงินมาโดยตลอด ทำให้เมื่อเทคโนโลยีทางการเงินกำเนิดขึ้นมาโดยมีลักษณะที่คล้ายกับการให้บริการของทางธนาคาร จึงมีการตั้งคำถามว่าธนาคารจะอยู่ได้หรือไม่ หากคนหันไปใช้เทคโนโลยีทางการเงินกันมากขึ้นจากข้างต้น เราจะพบว่าแม้เทคโนโลยีทางการเงิน จะมีหลายประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการการเงิน แต่ไม่ได้มีที่ไหนรับฝากเงินเหมือนที่ธนาคารทำ การได้รับเงินสดจากเทคโนโลยีทางการเงินนั้นเป็นไปได้ยาก เราเห็นตัวเลขแต่ไม่ได้เห็นตัวเงินจริง ๆ จนกว่าจะมีการแลกเปลี่ยนผ่านทางสถาบันการเงินในที่สุด ดังนั้นธนาคารไม่ได้มีบทบาทลดลงจากการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน พร้อมกันนั้น ธนาคารก็ย้ายตัวเองลงไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน การที่สาขาของธนาคารปิดตัวลง อาจมีผลกระทบต่อคนทำงานด้านปฏิบัติการในธนาคาร แต่หากมองในแง่สถานะและความมั่นคงของธนาคารแล้ว นี่อาจเป็นข้อดีมากกว่าก็ได้ธนาคารเองก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก จะเลือกหนุนหลังธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยไม่ต้องลงมือพัฒนาเอง

ห้างสรรพสินค้า

เมื่อมีการซื้อขายออนไลน์แบบครบขั้นตอนในแพลตฟอร์มเกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีทางการเงิน การซื้อขายสินค้าที่ต้องเดินทางออกไปเพื่อค้นหาจึงมีความจำเป็นลดลง รวมถึงขณะนี้ ปนะเทศไทยมีอัตราการใช้จ่ายออนไลน์สูงที่สุดในเอเชีย ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชอบซื้อของที่ได้สัมผัสด้วยมือ มองเห็นด้วยตา รวมถึงต้องการที่นั่งเล่น พบเจอกับเพื่อนก็ยังมีอยู่เช่นกันเทคโนโลยีทางการเงิน มีมุมที่เป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย รวมทั้งมีโอกาสและอัตราการเติบโตไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่การใช้จ่าย และการขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน

เพียร์ พาวเวอร์เองเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีทางการเงิน ที่เป็นแพลตฟอร์มหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการกับนักลงทุนเข้าด้วยกัน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนกับเพียร์ พาวเวอร์ สามารถคลิกปุ่มด้านล่างได้เลยครับ

---------------------------------------------------------------------------------------

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร