The Basics

Corporate Bond หุ้นกู้ตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ

by
PeerPower Team
February 11, 2019

หุ้นกู้ (Corporate Bond) เป็นอีกตัวเลือกที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนที่ต้องการเก็บเงิน เพราะให้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสด และค่อนข้างปลอดภัย แต่ควรเลือกลงทุนกับหุ้นกู้จะดีหรือไม่ และหุ้นกู้แบบไหนที่ควรหรือไม่ควรเลือกกันแน่

  • หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้เอกชน ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อขอกู้เงินจากนักลงทุน โดยมีกำหนดการจ่ายคืน และผลตอบแทนที่ชัดเจน ยกเว้นหุ้นกู้ประเภท Perpetual Bond ที่ไม่มีกำหนดคืนเงินต้น แต่ให้ผลตอบแทนสูงมากตามความเสี่ยง
  • หุ้นกู้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าพันธบัตร เพราะเป็นการออกโดยเอกชนเพื่อดำเนินกิจการจึงมอาจดำเนินการล้มเหลวได้
  • นักลงทุนควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้จากผู้ออกหุ้นกู้ ผลตอบแทน ความเสี่ยง โดยดูได้จากหนังสือชี้ชวน
  • หุ้นกู้ซื้อขายทั้งในตลาดแรกและตลอดรอง โดยในตลาดแรกจะเป็นราคา Par ส่วนตลาดรองจะขึ้นอยู่กับราคาที่นักลงทุนซื้อขายกันเอง
  • ไม่ว่าจะซื้อหุ้นกู้มาในราคาใด เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนจะได้รับการไถ่ถอนที่ราคา Par เสมอ

Corporate Bond หรือ หุ้นกู้ ตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ

ถ้าคุณมีสไตล์การลงทุนแบบเน้นปลอดภัย มีเงินเย็นเก็บไว้ได้นานๆ และคาดหวังกำไรไม่มาก แต่เอาชนะดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ณ ขณะนี้ได้ “หุ้นกู้ (Corporate Bond)” ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่เช่นเดียวกับการลงทุนทุกประเภทมีอะไรหลายอย่างให้ทำความเข้าใจ เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจน เข้าใจง่ายมากขึ้น เพียร์ พาวเวอร์ ขอพาคุณค่อยๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหุ้นกู้ไปด้วยกัน

หุ้นกู้คืออะไร

หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือตราสารหนี้ชนิดหนึ่งซึ่งออกโดยบริษัทเอกชน (ถ้าออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ เรียกว่าพันธบัตร) เพื่อระดมทุนหรือกู้เงินจากนักลงทุนที่จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ก็จะกลายเป็น “ลูกหนี้” ที่ต้องไถ่ถอนตราสารตามกำหนดเวลา พร้อมผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย โดยหุ้นกู้มีด้วยกัน 4 ประเภทตามผลตอบแทน คือ

  • หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยคงที่ ให้ผลตอบแทนตายตัวตามที่ตกลงไว้แต่แรก
  • หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว เปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้
  • หุ้นกู้แบบทยอยจ่ายเงินต้น แบ่งจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
  • หุ้นกู้แปลงสภาพ ผู้ถือเปลี่ยนไปเป็นสินทรัพย์อื่นได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

หุ้นกู้ที่นิยมซื้อขายกันคือ หุ้นกู้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่ กับหุ้นกู้แบบดอกเบี้ยลอยตัว โดยมักเริ่มต้นลงทุนได้ที่ 100,000 บาท แต่ถ้ามีเงินสำหรับลงทุนน้อยกว่านั้น จะเลือกเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้แทนก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า และกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า

หุ้นกู้ขายให้ใคร

หุ้นกู้มีการกำหนดประเภทการเสนอขาย หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือกำหนดว่าแบบไหนขายให้ใครบ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

RO :: Right Offering จัดสรรให้ตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น

PP :: Private Placement ขายเป็นวงแคบจำกัดเฉพาะผู้ซื้อที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเท่านั้น เช่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ หรือมีคุณสมบัติตามที่ กลต. กำหนด

PO :: Public Offering ขายให้บุคคลทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย

II :: Institute Investor ขายให้กับนักลงทุนสถาบัน เช่นสถาบันการเงินต่างๆ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้

HNW :: High Net Worth นักลงทุนรายใหญ่ มีได้ทั้งแบบนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ถ้าเป็นนิติบุคคลต้องมีการถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท ซื้อหุ้นกู้ตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีรายได้ตั้งแต่ปีละ 4 ล้านบาทขึ้นไป สินทรัพย์สุทธิไม่รวมที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ 50 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 20 ล้านบาทขึ้นไปเมื่อรวมเงินฝาก

UHNW :: Ultra High Net Worth นักลงทุนรายใหญ่พิเศษมีได้ทั้งแบบนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กลุ่มนี้จะมีสินทรัพย์มากกว่าแบบ HNW ประมาณ 1 เท่าตัว

ทั้งหมดนี้หุ้นกู้ที่นักลงทุนจะซื้อได้แบบทั่วไปคือหุ้นกู้ที่เป็นแบบ PO

Corporate Bond หุ้นกู้ตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ

หุ้นกู้ขายที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

การซื้อขายหุ้นกู้เกิดขึ้นในตลาดหุ้น ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้ขายหุ้นกู้ในลักษณะที่ต่างกัน คือ

ตลาดแรก (Primary Market)

จะขายหุ้นกู้ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกทั้งแบบ IPO : Initial Public Offering คือการที่หุ้นกู้ออกใหม่ มาเสนอขายให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก และแบบ MTN : Medium Term Note คือหุ้นกู้ที่จะเปิดขายเรื่อยๆ กี่ครั้งก็ได้ ที่ตลาดนี้จะซื้อขายหุ้นกู้ในราคา Par หรือเรียกว่าราคาหน้าตั๋ว เป็นราคาที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงวันไถ่ถอน ถ้าถือครองจนครบกำหนดเวลา ก็จะขายได้ในราคานี้ ปกติราคา Par จะอยู่ที่ 100 หรือ 1000 บาท ต่อหน่วย

ตลาดรอง (Secondary Market)

จะขายหุ้นกู้ที่มาจากนักลงทุนและสถาบันขายกันเอง ราคากำหนดโดยผู้ซื้อขาย เรียกว่า Market Price จะถูกหรือแพงกว่าราคา Par ก็ได้ แต่ถ้าครบกำหนดไถ่ถอน จะไถ่ถอนที่ราคา Par เสมอ

หุ้นกู้ให้ผลตอบแทนอย่างไร

เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์กระแสหลักทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม หรือหุ้นกู้ก็มีผลตอบแทน 2 แบบเหมือนกัน แต่มีคำที่ต้องรู้จักเพิ่มขึ้นมาคือ ดอกเบี้ย (Coupon) และค่าผลตอบแทน (Yield)

ดอกเบี้ย (Coupon) ปกติหุ้นกู้จะระบุไว้ชัดเจนว่าจ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ ดอกเบี้ยของหุ้นกู้เรียกว่า Coupon และมีกำหนดเวลาที่แน่นอน เช่นปันผล 12% ในระยะเวลาถือครอง 3 ปี นั่นหมายความว่า ใน 1 ปี หุ้นกู้นี้จะมีดอกเบี้ยปีละ 4% ส่วนมากหุ้นกู้จะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง

Coupon = Yield

ส่วนต่างเมื่อซื้อขาย (Capital Gain) วิธีคิดผลตอบแทนส่วนนี้จะเป็น

Coupon + ส่วนต่างระหว่างราคา Par และ ราคาซื้อขาย = yield

ถ้าเป็นการซื้อขายสิทธิ์ก่อนกำหนดไถ่ถอนในตลาดรองหมายความว่า ราคา par ไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการเลือกว่าจะซื้อขายหุ้นกู้ตัวใดในราคาเท่าไหร่

เพราะมีปัจจัยเรื่องดอกเบี้ย ราคาซื้อขายและระยะเวลาในการถือครองที่เหลืออยู่ประกอบด้วยนั่นเอง

Corporate Bond หุ้นกู้ตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ

หุ้นกู้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้มีได้ 2 ปัจจัยคือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) และความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ในกรณีที่เป็นหุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยคงที่

หุ้นกู้อะไรน่าลงทุน

ในแต่ละปีจะมีหุ้นกู้ออกใหม่เปิดให้ลงทุนมากมาย ซึ่งการจะบอกว่าหุ้นกู้ตัวไหนดีที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถตอบได้ง่ายๆ เพราะหนึ่ง การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง และ สอง เป้าหมาย ความรู้ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เพียร์ พาวเวอร์มีข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นกู้มานำเสนอ 2 ข้อ คือ

บริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นต้องมีความน่าเชื่อถือ

ซึ่งความน่าเชื่อถือของบริษัทต่างๆ มีการจัดอันดับจากสถาบันต่างๆ เช่น FITCH และ TRIS อันดับที่ดีที่สุดคือ AAA แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไป ความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB- ก็ถือเป็นระดับที่ใช้ได้ และข้อสังเกตคือยิ่งได้อันดับที่ดี หมายถึงความเสี่ยงต่ำ ซึ่งแปลว่าจะได้ดอกเบี้ยต่ำตามไปด้วย

หุ้นกู้ควรให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตร

ในหนังสือชี้ชวนการลงทุนจะมี Credit Spread แสดงไว้ ซึ่ง

Credit Spread = ผลต่างระหว่างผลตอบแทนของหุ้นกู้ ณ ช่วงเวลานั้น – ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล

ในระดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน ควรเลือกที่ค่า Credit Spread สูงกว่า

หุ้นกู้แบบ Debt Crowdfunding รูปแบบการลงทุนแบบใหม่

เป็นการลงทุนในรูปแบบการระดมทุน (Crowdfunding) ซึ่งเจ้าของกิจการจะนำกิจการของตนออกมาขอระดมทุนผ่านตัวกลางที่เป็นแพลตฟอร์มต่าง ๆ คล้ายการขอสินเชื่อ โดยมีสัญญาจะชดใช้เงินคืนเป็นงวด ๆ พร้อมผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ให้กับนักลงทุนตามระยะเวลาการที่กำหนดไว้ (Loan Term ) ซึ่งความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ลักษณะนี้คือความเสี่ยงเรื่องการเบี้ยวหนี้

หุ้นกู้คือตัวเลือกการลงทุนที่ดี เพราะมีดอกเบี้ยสม่ำเสมอ มีเวลาการไถ่ถอนที่ชัดเจนแน่นอน และมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนแบบกองทุนรวม หรือหุ้น ถ้ามองลักษณะการลงทุนในหุ้นกู้เทียบกับเพียร์ พาวเวอร์ จะเป็นการลงทุนที่มีความใกล้เคียงกัน เพราะเป็นการลงทุนในบริษัทที่เปิดระดมทุน มีการให้ดอกเบี้ย และกำหนดจ่ายคืนคล้ายๆ กัน ต่างกันที่เพียร์ พาวเวอร์ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หุ้นกู้อาจให้ลตอบแทนได้ 4 – 5 % ต่อปี ในขณะที่เพียร์ พาวเวอร์ มีโอกาสให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 8 – 22% แต่แน่นอนว่าการลงทุนกับเพียร์ พาวเวอร์มีความเสี่ยงมากกว่า สนใจลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือลงทะเบียนเป็นนักลงทุนกับเราได้เลย

_______________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร