The Basics

กองทรัสต์ (Trust) แนวคิดการลงทุนแบบไว้ใจ

by
May 14, 2019

กองทรัสต์ (Trust) แนวคิดการลงทุนแบบไว้ใจ ถ้าเป็นคนมีทรัพย์สินเยอะมากจนไม่มีเวลาดูแล แต่อยากจัดการให้งอกเงยเพื่อเป็นผลประโยชน์ต่อคนในครอบครัว หรือในแง่การลงทุนในตลาดหุ้นบางทีกองทรัสต์ (Trust) อาจเป็นตัวเลือกที่ดี

- แนวคิดของกองทรัสต์เกิดขึ้นในยุคกลางที่ประเทศอังกฤษ ส่วนในประเทศไทยมีกฎหมายรองรับกองทรัสต์ให้สามารถทำธุรกรรมในตลาดหุ้นได้เมื่อปี 2550

- กองทรัสต์ (Trust) คือการลงทุนบนพื้นฐานความเชื่อใจ โดยผู้ลงทุนมอบอำนาจในการจัดการทรัพย์สินให้กับทรัสตีเพื่อนำไปลงทุนให้งอกเงย และนำผลประโยชน์จากกองทรัสต์ มามอบให้ผู้รับผลประโยชน์ต่อไป

- กองทรัสต์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ ผู้ก่อตั้งทรัสต์ (Settlor) ผู้จัดการกองทรัพย์สินหรือทรัสตี(Trustee) และ ผู้รับผลประโยชน์(Beneficiary) โดยทั้ง 3 ฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ในกองทรัสต์แตกต่างกัน

- กองทรัสต์แตกต่างจากกองทุนรวมในแง่สถานะ การบริหารจัดการ การล้มละลาย และการคุ้มครองทรัพย์สิน โดยกองทรัสต์ให้อำนาจแก่ทรัสตีในการจัดการและรับผิดชอบต่อผลประโยชน์

- กองทรัสต์มี 2 ประเภท คือ Passive Trust กับ Active Trust

- ในประเทศไทย กองทรัสต์ที่คนรู้จักคือกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) และ Blind Trust ที่รู้จักจากการเลือกตั้งเดือนมีนาคม

กองทรัสต์ (Trust) แนวคิดการลงทุนแบบไว้ใจ

จุดเริ่มต้นและวัตถุประสงค์ของกองทรัสต์เกิดขึ้นในยุคกลาง ที่บรรดาขุนนางยังต้องออกไปสู้รบเพื่อปกป้องประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินกิจการต่างๆ ไม่มีคนดูแล อาจทำให้ครอบครัวคนข้างหลังลำบากได้ จึงเลือกจะโอนทรัพย์สินให้กับคนที่ไว้ใจ (Trust) ไปบริหารจัดการให้ แล้วนำดอกผลรายได้ที่เกิดจากกิจการนั้นมามอบให้กับคนในครอบครัวหรือผู้รับผลประโยชน์ต่อไป

ถ้าเป็นไปตามคำอธิบายข้างบน หลายคนอาจรู้สึกได้ว่า กองทรัสต์เป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีลักษณะเจาะจงผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งดูเหมือนการจัดการมรดกมากกว่าการลงทุน แต่ในปัจจุบันแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนเกิดเป็น กองทรัสต์ที่สามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยกองทรัสต์ที่แพร่หลายและนักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยรู้จักคือกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์ จะพูดถึงต่อไปในอนาคต สำหรับบทความนี้อยากพามาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบของกองทรัสต์ก่อน เพื่อให้นักลงทุนทราบถึงวิธีการทำงานของมัน ประกอบการตัดสินใจลงทุน

กองทรัสต์ (Trust) คืออะไร

กองทรัสต์คือการบริหารจัดการทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์หรือผู้ก่อตั้ง (Settlor) ผ่านตัวกลางที่ได้รับการแต่งตั้งเรียกว่าทรัสตี(Trustee) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) โดยมีองค์ประกอบในการก่อตั้งทรัสต์ที่เรียกว่าหลักความแน่นอน 3 ประการในการกำหนดหน้าที่และลักษณะของกองทรัสต์ คือ

ความแน่นอนในเจตนา (Certainty of word) คือมีสัญญาในการจัดตั้งระหว่างเจ้าของทรัพย์สินและทรัสตีผู้ดูแลทรัพย์สินนั้น

ความแน่นอนของทรัพย์สิน (Certainty of Object Matter) ทรัพย์สินนั้นมีอยู่จริง และมีแนวทางการบริหารจัดการให้งอกเงย

ความแน่นอนของผู้รับประโยชน์ (Certainty of Object) ผู้รับประโยชน์ต้องได้รับประโยชน์จากกองทรัพย์สินนั้นจริง

ซึ่งกองทรัสต์ที่ถูกตั้งขึ้นมาจะมีสถานะที่ห่างไกลจากการล้มละลาย เพราะไม่ถูกนับรวมเข้ากับทรัพย์สินของทรัสตีเพราะทรัสตีไม่ใช่เจ้าของ เป็นเพียงผู้มีสิทธิในการบริหารจัดการ และต่อให้เจ้าของตายหรือล้มละลาย กองทรัสต์ก็ยังคงอยู่ เพราะมอบสิทธิในการจัดการธุรกรรมให้กับทรัสตีไปแล้ว สถานะของกองทรัสต์จึงเรียกได้ว่าแข็งแกร่ง แม้จะล้มละลายไม่ได้ แต่กองทรัสต์สามารถถูกลดฐานะหรือความน่าเชื่อถือลงได้เช่นกัน

กองทรัสต์ (trust) คืออะไร

กองทรัสต์ประกอบด้วยอะไรบ้าง

หลายคนคงพอนึกภาพออกแล้วว่ากองทรัสต์จะเกิดขึ้นได้ด้วย 3 สิ่งคือผู้ก่อตั้ง ทรัสตี และผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ต่อกันเพื่อดำเนินการกองทรัสต์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทรัสต์นั้น เพื่อให้เห็นหน้าที่ของแต่ละองค์ประกอบชัดขึ้น เพียร์ พาวเวอร์ ของแยกอธิบายทีละข้อ

ผู้ก่อตั้งกองทรัสต์ (Settlor)

ก่อนเซ็นสัญญามอบสิทธิ์ให้ทรัสตีจะมีสถานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่เมื่อเซ็นสัญญาแล้วจะมีสิทธิเฉพาะที่กำหนดไว้ในสัญญาการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น ไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการให้ทรัสตีดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นได้อีกต่อไป

ทรัสตี (Trustee)

ทรัสตีมีสถานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามกฎหมาย  ทำหน้าที่จัดการกองทรัสต์ตามสัญญา โดยทั่วไปแล้วทรัสตีไม่สามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกองทรัสต์ได้ แต่รับค่าตอบแทนในการบริหารจัดการได้ เพื่อหลีกเลี่ยง 2 สิ่งคือการฉ้อโกงและผลประโยชน์ทับซ้อน

ทรัสตีจะมีกี่คนก็ได้ ถ้ามีมากกว่า 1 คนเรียกว่า Co-Trustee บริหารจัดการกองทรัสต์ในลักษณะจัดการร่วมกัน รับผิดร่วมกัน ยกเว้นว่าในสัญญาจะระบุไว้ให้แยกหน้าที่ หน้าที่หลักของทรัสตีคือการบริหารกองทรัสต์ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา และต้องรับผิดชอบต่อทรัพย์สินถ้าเกิดความล้มเหลวหรือเสียหาย แต่ถ้าการบริหารล้มเหลวด้วยความจงใจหรือการละเลยของทรัสตี ถ้ามีการฟ้องร้องจากผู้รับผลประโยชน์ขึ้นทรัสตีต้องชดใช้ความเสียหายนั้น แต่ถ้าความล้มเหลวเกิดจากการดำเนินการอย่างดีที่สุด รอบคอบ ระมัดระวัง และเชี่ยวชาญแล้ว(ทำดีที่สุดแล้ว) ก็ไม่ต้องรับผิด

ความรับผิดตามกฎหมายของทรัสตีนั้นมีได้ทั้งทางแพ่ง ทางปกครอง และทางอาญาแล้วแต่ความผิดจะเข้าข่ายคดีอะไรการแต่งตั้งทรัสตีมีกฎระเบียบรวมถึงการรับผิดชอบตามประกาศของ กลต. ว่าด้วยการก่อตั้งทรัสต์ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่โดยรวมแล้วกฎหมายบังคับให้ทรัสตีต้องซื่อสัตย์ต่อเจ้าของทรัพย์และผู้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง

หากเป็นลักษณะ Active Trust กลุ่มที่สามารถยื่นขอเป็นทรัสตีได้จาก กลต. คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่มีการรองรับด้วยกฎหมาย หรือสถาบันอื่นๆ ที่ กลต. อนุญาต เช่นบริษัทหลักทรัพย์เป็นต้น

ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary)

คือผู้ได้ผลประโยชน์จากกองทรัสต์ และสิทธิอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ทั่วไปจะมี 2 สิทธิคือสิทธิในการเรียกร้องความเสียหาย ถ้าทรัสตีบริหารโดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และสิทธิในการติดตามเอาทรัพย์สินคือ ไม่ว่าจะถูกขายให้ใครหรือถูกแปรสภาพไปแล้วอย่างไรก็ตาม

กองทรัสต์ (trust) คืออะไร

กองทรัสต์ก่อตั้งได้อย่างไร

การก่อตั้งก่อตั้งกองทรัสต์ มีกระบวนการทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยสามารถแยกออกเป็น 2 แบบตามผู้ก่อตั้งและทรัสตี คือ

กองทรัสต์ที่ผู้ก่อตั้งและทรัสตีเป็นคนละคน

เป็นลักษณะกองทรัสต์เพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อการถือครองและผลประโยชน์ในการชำระหนี้ตลอดจนการออกหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นลักษณะของ Passive Trust โดยกองทรัสต์ลักษณะนี้จะมีวิธีการก่อตั้งด้วยการที่ ผู้ก่อตั้งทรัสต์หรือเจ้าของทรัพย์สิน ทำสัญญาเป็นหนังสือโอนทรัพย์สินให้ทรัสตี เพื่อให้ทรัสตีนำทรัพย์สินไปบริหารจัดการให้งอกเงย เพื่อนำผลประโยชน์ไปมอบให้กับผู้รับผลประโยชน์

กองทรัสต์ที่ผู้ก่อตั้งและทรัสตีเป็นคนเดียวกัน

มักเป็นกองทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการออกใบทรัสต์เพื่อซื้อขายสิทธิในการเป็นผู้รับผลประโยชน์ เราเรียกกองทรัสต์ลักษณะนี้ว่า Active Trust ก่อตั้งด้วยการที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ยื่นขอต่อ กลต. เพื่อเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ (Trust Manager) ซึ่งในที่นี้ก็คือทรัสตี ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินนั้นให้เกิดประโยชน์งอกเงย และออกใบทรัสต์เพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกองทรัสต์นั้น

กองทรัสต์ในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

Passive Trust

คือกองทรัสต์ที่มีลักษณะเป็นการลงทุนภายใน มีลักษณะเฉพาะ และมีผู้รับผลประโยชน์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะและจำกัด อาจเป็นกองทรัสต์เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ให้กับกรรมการและพนักงาน การร่วมทุนระหว่างนายจ้างลูกจ้าง การสร้างบัญชีเพื่อกระทำการบางอย่างเช่นเก็บออม ชำระหนี้ Blind Trust ของนักการเมือง เป็นต้น

Active Trust

คือกองทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการระดมทุน โดยขายใบทรัสต์ให้กับผู้ที่ต้องการเป็นผู้รับผลประโยชน์ กองทรัสต์ประเภทนี้ที่มีในประเทศไทยและได้รับความนิยมคือกองทรัสต์เพื่อจัดการอสังหาริมทรัพย์ (REIT)

กองทรัสต์ (trust) การลงทุนแบบไว้ใจ

กองทรัสต์ไม่ใช่กองทุนรวม

ด้วยวิธีการลงทุนแบบ Active Trust ที่เป็นลักษณะซื้อสิทธิในการเป็นผู้รับผลประโยชน์โดยมีตัวกลางเป็นผู้บริหารจัดการเหมือนกัน ทำให้เกิดความสับสนระหว่างกองทรัสต์กับกองทุนรวม ซึ่งหากใครเคยอ่านบทความเรื่องกองทุนรวมของเพียร์ พาวเวอร์แล้วจะพบว่าทรัสต์กับกองทุนรวมไม่เหมือนกัน เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น กองทรัสต์กับกองทุนรวมจะมีความแตกต่างกันหลักๆ คือกองทุนรวมมีลักษณะเป็นนิติบุคคลที่บริหารจัดการโดยบริษัท สินทรัพย์อ้างอิงเป็นผลประกอบการ ในขณะที่กองทรัสต์เป็นกองทรัพย์สินที่สินทรัพย์อ้างอิงขึ้นอยู่กับมูลค่าของตัวมันเองที่จะนำไปแปลงหรือลงทุนผ่านการบริหารจัดการโดยทรัสตี และส่วนที่สำคัญที่สุดคือกองทุนรวมล้มละลายได้เพราะมีเจ้าของเป็นนิติบุคคล ในขณะที่กองทรัสต์ห่างไกลจากการล้มละลาย เพราะเป็นกองที่ก่อตั้งมาด้วยสัญญาในการดูแลทรัพย์สิน และถูกแยกขาดจากเจ้าของทรัพย์และทรัสตีไปแล้ว

แม้จุดประสงค์แรกเริ่มของกองทรัสต์จะไม่ใช่เพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในปัจจุบันกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็นับว่าน่าสนใจ แต่แน่นอนว่าความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

______________________________________________________________________________________

คำเตือน : การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผ่านเพียร์ พาวเวอร์ เป็นการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอทั้งด้านความเสี่ยง และความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์และความเสี่ยงในการสูญเสียเงินจากการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน นักลงทุนจะสามารถเริ่มลงทุนได้ต่อก็ต่อเมื่อนักลงทุนทำการลงทะเบียนและผ่านแบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการลงทุนแล้ว

Tags
No items found.
Author

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร